ขี้ลืมบ่อยๆ อาจไม่ได้มีปัญหาความทรงจำ แค่ไม่ใส่ใจ

ขี้ลืมบ่อยๆ อาจไม่ได้มีปัญหาความทรงจำ แค่ไม่ใส่ใจ
ใครประสบปัญหาหลงๆลืมๆ หาของไม่เจอบ่อยๆ อาจจะไม่ได้มีปัญหาเรื่องความทรงจำ เพียงแค่ ณ เวลานั้นไม่ได้ใส่ใจมากพอ

Gen X คือกลุ่มที่มักคิดว่าสามารถทำงานหลายอย่างพร้อมกันราวกับว่ามันเป็นพลังวิเศษ ในขณะเดียวกันคนรุ่น Gen Y ก็มักบอกว่าไม่มีปัญหาในการดูเน็ตฟลิกซ์ไปด้วยและเล่นแชตในสเนปแชตไปด้วย ปัญหาคือ หากอยากจะย้อนความทรงจำในช่วงเวลาก่อนหน้า หรืออยากจะนึกให้ออกว่าฉากเมื่อสักครู่ตัวเอกทำอะไร แต่กลับพบความว่างเปล่าทั้งๆที่เพิ่งเกิดขึ้น คนกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้มีปัญหากับความทรงจำ แค่พวกเขาไม่ได้สนใจมากพอเท่านั้น

ideas.ted เผยหากเราต้องการจดจำบางสิ่งบางอย่างได้ หลักการง่ายๆคือ เราต้องหัดสังเกต การสังเกตนั้นประกอบด้วยการรับรู้ ซึ่งได้มาจากการมองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่นและรู้สึก ส่วนอีกส่วนคือ ความสนใจ ความทรงจำของเราไม่ใช่กล้องถ่ายรูป หรือวิดีโอที่จะเอากลับมาดูได้อีกครั้งเมื่อเราต้องการ เราสามารถจะจดจำได้เฉพาะสิ่งที่เราให้ความสนใจเท่านั้น และแน่นอนเราไม่ได้สามารถให้ความสนใจเหตุการณ์ทุกอย่างในชีวิตได้ เราสามารถจดจำบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นต่อหน้าเราได้ แต่เรื่องอื่นไม่ได้

อย่างเช่น เรากำลังยืนอยู่หน้าต้นคริสต์มาสขนาดมหึมาหรูหราอลังการ เรารับข้อมูลภาพ รูปร่าง ขนาด สีของแสง ผ่านแท่งและกรวยในเรตินาดวงตาของเรา ข้อมูลนี้จะถูกแปลงเป็นสัญญาณและเดินทางไปยังคอร์เทกซ์ส่วนการมองเห็นของเราที่ส่วนหลังของสมอง ซึ่งภาพจะถูกประมวลผลและมองเห็นได้จริง จากนั้นสามารถนำไปประมวลผลในสมองส่วนอื่นเพื่อการจดจำ ความหมาย การเปรียบเทียบ อารมณ์ และความคิดเห็น

เว้นเสียแต่ว่า เราจะเพิ่มความสนใจไปที่การดูต้นคริสต์มาสนี้ เซลล์ประสาทที่เปิดใช้งานจะไม่ถูกเชื่อมโยง และความทรงจำจะไม่เกิดขึ้น คุณจะจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเคยเห็นมัน หากเราตื่นนอนเป็นเวลา 16 ชั่วโมงในวันนี้ ประสาทสัมผัสของเราจะเปิดทำงานเป็นเวลา 57,600 วินาที ซึ่งถือว่ามีข้อมูลจำนวนมาก เราไม่สามารถและจะไม่สามารถจำเรื่องราวส่วนใหญ่ในวันนั้นได้

การให้ความสนใจต้องใช้ความพยายามอย่างมีสติ เนื่องจากสมองโดยปกติไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใส่ใจอะไร สมองโล่งๆของเราบางครั้งอยู่ในสถานะเหม่อลอย ฝันกลางวัน อยู่ในโหมดขับเคลื่อนอัตโนมัติ คิดถึงเรื่องราวในอดีต หรือกำลังคิดอะไรซ้ำๆ เราจะไม่สามารถเพิ่มความทรงจำใหม่ๆได้เลยเมื่อสมองเราอยู่ในสถานะดังกล่าว หากอยากเปิดรับความจำใหม่ๆ จึงจำเป็นต้องทำให้สมองตื่น มีสติรับรู้และให้ความสนใจ ใส่ใจ

ทริกในการพัฒนาความจำคือ ลองลดหรือขจัดสิ่งที่ทำให้เราเสียสมาธิ ลองนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำสมาธิ และลดคาเฟอีนเล็กน้อย (ไม่ควรดื่มในช่วง 12 ชั่วโมงก่อนเข้านอน) ทริกเหล่านี้จะช่วยกำจัดสิ่งที่ทำให้ไขว้เขวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถเพิ่มความสามารถในการให้ความสนใจและสร้างความทรงจำระยะยาวได้

TAGS: #ขี้ลืม #สุขภาพจิต