อาทิตย์ที่แล้วมีความข่าวสำคัญมากสองตัวที่ออกมาในเวลาไล่เลี่ยกันโดยเริ่มจากวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2023 ทางสำนักข่าวฝั่งตะวันตกไม่ว่าจะเป็น Bloomberg หรือ CNBC ต่างรายงานว่าบริษัท เบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์ จำกัด (มหาชน) ของคุณปู่นักลงทุนในตำนานอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้ขายหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลกอย่าง TSMC ออกเกือบหมดพอร์ต (ประมาณ 86%) หลังซื้อมาได้แค่ 3 เดือนเท่านั้น
เรื่องนี้สร้างความสงสัยให้กับนักวิเคราะห์จำนวนมาก เพราะการทำแบบนี้ค่อนข้างจะผิดแนวทางการลงทุนของคุณวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่มักจะมุ่งเน้นการลงทุนระยะยาวเป็นสำคัญ
แต่เรื่องนี้สำหรับแอดมินเราคงมองภาพแค่การลงทุนไม่ได้ เพราะเรื่องของ TSMC นั้นเกี่ยวข้องกับมิติของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนด้วย รวมไปถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ดูเหมือนไม่ดีนัก
อย่างที่เรารู้กันตอนนี้เศรษฐกิจโลกได้ก้าวเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปแล้ว เราจึงได้เห็นบริษัทจำนวนมากทยอยปรับลดจำนวนของพนักงานลงอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Amazon, Google และ Microsoft ต่างก็ทยอยปรับลดคนทำงานลงอย่างมหาศาล
ซึ่งแน่นอนว่าการที่คนจำนวนมากต้องตกงานย่อมกระทบต่อการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะเมื่อตกงานกำลังซื้อของคนก็หดหายไป คนจะประหยัดมากขึ้นและเน้นซื้อของเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น
ส่วนของที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตก็อาจจะชะลอออกไปก่อนอย่างเช่น รถยนต์, สมาร์ทโฟน, แอร์, เครื่องเล่นเกม, คอมพิวเตอร์ และโน๊ตบุ๊ค รวมไปถึงบริการต่างอย่างสตรีมมิ่งหนังและเพลง เป็นต้น
นอกจากเรื่องการตกงานของคนทั่วโลกแล้ว เรายังเผชิญหน้ากับสภาวะเงินในกระเป๋าน้อยลงจากปรากฎการณ์ ‘เงินเฟ้อ’ อีกด้วย ผ่านการเสื่อมค่าของเงินจากการพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นมาในจำนวนมหาศาลของเหล่าธนาคารกลาง
ขณะที่ประเด็นเรื่องการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนก็รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจยุคใหม่จากนี้ไปอีก 100 ปี
โดยมีกระดูกสันหลังสำคัญก็คือ เซมิคอนดักเตอร์ หรือ สารกึ่งตัวนำ เราจึงได้เห็นสหรัฐอเมริกาชักชวน ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ ที่เป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมให้มาร่วมวงแบนการค้าขายกับจีนด้วย
การจารกรรมข้อมูลของ ASML ในจีน คือการบอกใบ้ว่า ASML เลือกจีนเหนือสหรัฐ?
อย่างที่เรารู้กันอุตสาหกรรม เซมิคอนดักเตอร์ มีระบบห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมต่อและพึ่งพากันไปทั้งโลก ไม่มีใครในอุตสาหกรรมนี้สามารถทำเองได้คนเดียวทั้งหมด เพราะฉะนั้นการถูกบังคับให้เลือกข้างจึงไม่มีใครในธุรกิจนี้โอเค เพราะมันหมายถึงรายได้จำนวนมหาศาลที่หายไป
โดยเฉพาะ ASML ที่พึ่งพารายได้จากตลาดจีนมากเป็นอันดับ 3 ของพอร์ตรายได้รวมของตัวเอง การไม่มีจีนคือความเสียหายอย่างมหาศาลสำหรับพวกเขา
จีนนั้นชัดเจนมาตลอดว่าต้องการซื้อสินค้าเครื่องผลิตเซมิคอนดักเตอร์รุ่น EUV ซึ่งเป็นรุ่นระดับสูงที่สุดของ ASML (ปัจจุบันซื้อได้แต่รุ่นรองคือ DUV) และแน่นอนว่า ASML ก็อยากค้าขายกับจีน และหนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ของ ASML ก็คือ TSMC ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลก
โดย TSMC นั้นตั้งอยู่ในไต้หวันและนาทีนี้ต้องถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่ดูเหมือนสหรัฐทั้งที่รับรู้อยู่แก่ใจ แต่ในทางปฏิบัติเหมือนพวกเขายังไม่ยอมให้ไต้หวันกลับไปสู่อ้อมอกของจีนแบบง่าย ๆ
นั่นทำให้สหรัฐเตรียมย้ายสมรภูมิสงครามจากยูเครนไปสู่ไต้หวันเพื่อเดินหน้าปิดล้อมศัตรูเบอร์หนึ่งของพวกเขาอย่างจีน โดยเรื่องนี้ได้รับการยืนยันผ่านบทความที่ชื่อว่า How U.S. Grand Strategy Is Changed by Ukraine ที่ตีพิมพ์ลงนิตยสารที่ชื่อว่า Foreign Policy เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2022
บทความนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยืนยันแนวทางยุทธศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงของอเมริกาจากนี้ที่กำลังมุ่งไปสู่ฝั่งแปซิฟิกมากขึ้น ตรงนี้ทำให้แนวโน้มอุณหภูมิในภูมิภาคแถวบ้านเราคงร้อนมากขึ้นในปีนี้
และด้วยเหตุเหล่านี้รึเปล่าที่ทำให้ข่าวการการจารกรรมข้อมูลของ ASML ในจีนที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2023 ที่ผ่านมานั้น เหมือนเป็นการบอกใบ้ว่า ASML เลือกจีนเหนือสหรัฐ?
ในเมื่อค้าขายกับทาง TSMC ไม่ได้ เพราะหลังจากนี้ ‘ไต้หวัน’ กำลังจะกลายเป็นของจีนโดยสมบูร์แล้วรึเปล่า? (ดูจากการเทขาย TSMC ของปู่บัฟเฟตต์เหมือนรู้อะไรล่วงหน้า)
แต่ ASML ยังต้องการรายได้ตรงนี้อยู่จะทำอย่างไร?
การจารกรรมข้อมูลอาจกลายเป็นทางเลือกที่ไม่แย่? เพราะถ้าเป็นแบบนี้ก็เท่ากับ ASML ไม่ได้ค้าขายอะไรกับจีน แถมยังเป็นข้ออ้างให้ใช้บอกกับสหรัฐได้อีกด้วย
ส่วนทางการจีนกับ ASML ก็สามารถไปตกลงนอกรอบได้ในเรื่องของผลประโยชน์ และในอนาคตคงไม่แปลก ถ้าหากจะเห็นบริษัทจีนสักแห่งมี ASML เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผู้ถือหุ้น
เรื่อง: เอกพล มงคลพัฒนกุล