สงครามโดรนจ่อประตูบ้านไทย กลุ่มต้านเผด็จการถล่มเมียวดีแบบเหนือเมฆ

สงครามโดรนจ่อประตูบ้านไทย กลุ่มต้านเผด็จการถล่มเมียวดีแบบเหนือเมฆ
กองกำลังป้องกันประชาชนแห่งเมียนมาร์ยกระดับการต่อสู้อีกขั้น โจมตีเมืองสำคัญใกล้ชายแดนไทย ด้วย "โดรน"

เกิดเหตุระเบิดโจมตีบริเวณของรัฐบาลในเมืองเมียวดี ศูนย์กลางชายแดนเมียนมา ส่งผลให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเสียชีวิต 5 ราย และทำให้ตำรวจบาดเจ็บ 11 นาย แหล่งข่าวบอกกับสำนักข่าว AFP เมื่อวันที่ 4 กันยายน 

เมืองบริเวณชายแดนติดกับประเทศไทยเผชิญกับการปะทะเป็นระยะๆ ระหว่างทหารและกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหาร นับตั้งแต่รัฐประหารในปี 2564 ส่งผลให้ประเทศตกอยู่ในความสับสนอลหม่าน

ช่วงเช้าวันที่ 3 กันยายน มี “ทิ้งระเบิด” สองลูกตกลงไปในบริเวณที่มีสถานีตำรวจเขตและสำนักงานบริหารทั่วไป แหล่งข่าวทางทหารบอกกับ AFP 

ขณะที่เจ้าหน้าที่ใช้ "มาตรการรักษาความปลอดภัย" หลังเหตุระเบิด ก็มีการทิ้งระเบิดอีก 2 ลูก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 5 รายและบาดเจ็บ 11 ราย เจ้าหน้าที่กล่าว โดยขอไม่เปิดเผยตัวตน เนื่องจากพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับสื่อ

ผู้เสียชีวิตรวมถึงเจ้าหน้าที่ทหาร 1 นาย ตำรวจ 2 นาย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร 2 คน พวกเขากล่าว

เจ้าหน้าที่ตำรวจ "ระดับใต้บังคับบัญชาและระดับผู้บังคับบัญชา" 11 นายได้รับบาดเจ็บ โดย 5 นายอาการสาหัส เจ้าหน้าที่กล่าวเสริม

แหล่งข่าวตำรวจท้องที่ที่ไม่เปิดเผยชื่อก็ได้ยืนยันเหตุการณ์ดังกล่าวและตัวเลขผู้เสียชีวิต

ไม่มีแหล่งข่าวบอกว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบต่อการโจมตีครั้งนี้

รัฐบาลทหารกล่าวว่า “สมาชิกความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วน” ได้รับบาดเจ็บจากการโจมตี โดยไม่ได้แจ้งตัวเลขใดๆ

โดยกล่าวโทษ “กองกำลังป้องกันประชาชน” (PDF) ที่ต่อต้านรัฐประหาร และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ซึ่งเป็นกลุ่มกบฏชาติพันธุ์ที่จัดตั้งขึ้นซึ่งต่อสู้กับกองทัพมานานหลายทศวรรษ

นักรบต่อต้านรัฐบาลทหารที่ต่อสู้เพื่อล้มล้างการรัฐประหารที่โค่นล้มรัฐบาลของนางอองซานซูจี ได้ใช้โดรนเชิงพาณิชย์ในการสอดแนม และเป็นอุปกรณ์ทิ้งระเบิดอย่างหยาบ

ชาวเมืองเมียวดีที่ไม่ประสงค์ออกนามบอกกับ AFP ว่า พวกเขาได้ยินเสียงระเบิด 2 ครั้งในเมืองซึ่งติดกับจังหวัดตาก เมื่อเย็นวันอาทิตย์

นับตั้งแต่รัฐประหาร กลุ่ม KNLA และ PDF ได้ปะทะกันเป็นระยะๆ กับทหารในเมืองเมียวดีและบริเวณโดยรอบในรัฐกะเหรี่ยง ส่งผลให้ผู้คนหลายหมื่นคนหลบหนีเข้าประเทศไทย

• บทวิเคราะห์ข่าว
มีรายงานจากสื่อในประเทศไทยว่า การโจมตีเมืองเมียวดีครั้งนี้ใช้ "โดรน" ในการโจมตี นั่นหมายความว่า "สงครามโดรน" (Drone warfare) ได้มาถึงประตูบ้านของไทยแล้ว 

เมียวดีเป็นเมืองเศรษฐกิจและเมืองสำคัญของเมียนมาทางด้านตะวันตก เพราะเป็นจุดเข้าออกชายแดนไทย มีสินค้าและผู้คนมากมายเข้าออกตรงจุดนี้ และมีเส้นทางที่เชื่อมไปถึงย่างกุ้งด้วยถนนหลวง สามารถเดินทางไปยังย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองหลวงเศรษฐกิจของประเทศได้ในไม่กี่ชั่วโมง  

เนื่องจากเมียวดีอยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยวกับกองกำลังต่อต้านของชนชาติกะเหรี่ยง ทำให้ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีบ่อยครั้ง และบางครั้งกระทบมาถึงประเทศไทยโดยตรง 

แต่ครั้งนี้ เป็นการโจมตีด้วยโดรนที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง นับเป็นการปรับยุทธวิธีการโจมตีครั้งสำคัญของกลุ่ม KNLA (กะเหรี่ยง) และ  PDF (กลุ่มประชาชนที่หลากหลายที่จับอาวุธสู้เผด็จการทหารเมียนมา) ซึ่งที่ผ่านต้องตกเป็นเป้าให้กับการใช้เครื่องบินรบของกองทัพเมียนมา 

ย้อนกลับไปเมือเดือนกันยายนปี 2565 สำนักข่าว Radio Free Asia รายงานว่ากลุ่มต่อต้านเผด็จการทหารในเมียนมาเริ่มใช้โดรนเพื่อตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม โดยใช้เพื่อทิ้งระเบิดตามจุดเป้าหมาย 

ก่อนหน้านี้ กลุ่มต่อต้านเหล่านี้พยายามซื้อปืนไรเฟิลมาใช้ แต่เปลี่ยนใจมาใช้โดรนแทน "เนื่องจากมีประสิทธิภาพอย่างมาก ในด้านต้นทุนที่ต่ำเมื่อเทียบกับความได้เปรียบของรัฐบาลทหารในด้านยุทโธปกรณ์ การฝึก และเสบียงทางทหารสมัยใหม่"

นั่นหมายความว่า กองกำลังต่อต้านได้พบวิธีการตอบโต้กองทัพเมียนมาด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพกว่าอาวุธในขนบ มีราคาถูกก่า และได้รับการทดสอบในการโจมตีเมียวดีแล้วว่ามีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากจนน่าตกใจ

จากการรายงานของ Radio Free Asia เจ้าหน้าที่ของ PDF บอกว่า พวกเขาเอาชนะศัตรูได้อย่างง่ายดาย "เพราะโดรนทำให้พวกเขาตกใจ ... พวกเขาจะกลัวเมื่อได้ยินเสียงโดรนบิน" 

จากการรายงานของ "ผู้จัดการออนไลน์" ระบุว่าหลังจากการโจมตีเมืองเมียวดี "เจ้าหน้าที่เมียนมาสั่งระงับการจ่ายกระแสไฟฟ้าทั้งหมดเพื่อฟังเสียงบินโดรนที่จะเข้าไปโจมตีอีก" นั่นแสดงให้เห็นว่า โดรนทำให้เกิดความปั่นป่วนอย่างหนักในพื้นที่ที่ถูกโจมตี 

คำถามก็คือ พวกเขาได้โดรนมาจากไหน? 

จากบทความของ แอนโทนี เดวิส (Anthony Davis) นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคง การทหาร และการก่อการร้าย ในเอเชีย-แปซิฟิก ระบุในบทความที่เผยแพร่ใน Asia Times ว่า แหล่งอาวุธสำคัญมาจากการค้าข้ามพรมแดนจากประเทศไทย และ "ไม่ต้องสงสัยเลยว่าอาวุธระดับทหารรั่วไหลออกมาจากคลังอาวุธของกองกำลังความมั่นคงของไทย เนื่องจากมีการคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ ในขณะที่การค้าปืนที่นำเข้าและซื้ออย่างถูกกฎหมายซึ่งต่อมาขายเข้าสู่ตลาดมืดได้ก่อให้เกิดอาวุธปืนอื่นๆ มากมาย"

เมื่อปี 2565 ทางการไทยพยายามกวาดกล้างเครือข่ายการค้าอาวุธเหล่านี้ แต่เครือข่ายอาวุธมักขายอาวุธที่ใช้ระบบในสงครามแบบดั้งเดิมเช่น อาวุธปืนแบบต่างๆ

แต่กับโดรน อาจจะอยู่นอกเหนือเป้าหมายการกวาดจับ และทำให้กลุ่มต่อต้านหันมาพึ่งพามันมากขึ้น 

Photo by People's Spring

TAGS: #โดรน #สงครามโดรน #เมียนมา