เปิดประวัติ ‘ริชาร์ด หลิว’ มหาเศรษฐีแสนล้านผู้ก่อตั้ง JD.com อีคอมเมิร์ซที่ได้ไอเดียจากโรคซาร์สระบาด
กลายเป็นอีกแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ต้องยอมโบกมือลาตลาดทั้งในไทยและในอินโดนีเซีย สำหรับ JD.com หนึ่งในยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน ที่เพิ่งประกาศยุติธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ JD CENTRAL ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคมนี้ ขณะเดียวกัน JD.ID ซึ่งทำตลาดในอินโดนีเซียยุติรับคำสั่งซื้อสินค้าตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ และจะยุติบริการทั้งหมดภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้เช่นกัน
สำหรับ JD.com, Inc. ไม่เพียงไม่เพียงแค่เป็นที่รู้จักด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซเท่านั้น แต่ยังทำธุรกิจในด้านการปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ ตลอดจนพัฒนารถยนต์ไร้คนขับด้วย ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวจากบลูมเบิร์กว่า ท่ามบริษัทสายเทคโนโลยีระดับโลกที่กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือดในเวลานี้ ทำให้ JD.Com มีแผนเพิ่มเม็ดเงินลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนาในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มากขึ้น ประกอบกับในช่วงเวลาที่ผ่านมา JD.com เป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนที่ถูกรัฐบาลปักกิ่งควบคุมการขยายธุรกิจตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จึงต้องจับตาต่อไปว่า JD.Com จะมีแนวทางการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจในปีนี้ต่อไปอย่างไร ท่ามกลางบริษัทเทคโนโลยีรายใหญที่มีกระแสเลย์ออฟพนักงานจำนวนมาก
โมเดลธุรกิจของ JD.Com นับว่าน่าสนใจและแตกต่างกว่าอีคอมเมิร์ซในจีนด้วยกัน เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง Alibaba ของแจ็ก หม่า โดย JD.Com ได้รับการขนานนามจากบรรดาสื่อต่างประเทศว่า คล้ายกับโมเดลของ Amezon.com ซึ่งแน่นอนว่านาย หลิว เฉียงตง (Liu Qiangdong) ผู้ก่อตั้ง JD.Com ได้รับการขนานนามว่าเป็น เจฟฟ์ เบโซส แห่งเมืองจีน แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ที่เป็น JD.Com หลิว เฉียงตง หรือ ริชาร์ด หลิว เคยล้มลุกคลุกคลานมาแล้วมากมายกว่าจะสร้างตัวได้เป็นเจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซแสนล้าน The Better จะพาไปทำความรู้จักกับ เจฟฟ์ เบโซส แห่งเมืองจีน กันให้มากขึ้น
ฝันเล่นการเมือง แต่สนใจเขียนโปรแกรม
'หลิว เฉียงตง' หรือ 'ริชาร์ด หลิว' เกิดเมื่อเมื่อค.ศ.1974 ในเมืองซู่เชียน มณฑลเจียงซู พ่อแม่ทำอาชีพขนส่งถ่านหิน และเช่นเดียวกับบรรดามหาเศรษฐีจีนในยุคปัจจุบัน ครอบครัวของเขามีชีวิตยากลำบากมาตั้งแต่เด็ก นั่นทำให้ให้หลิวมีความฝันเป็นข้าราชการตั้งแต่เด็กเพื่อให้ครอบครัวสบาย หลิวจึงเข้าศึกษาที่คณะสังคมวิทยา ที่มหาวิทยาลัยเหรินหมินในปี 1992 และระหว่างเรียนเขากลับเพิ่งมาให้ความสนใจฝึกการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไปด้วย ซึ่งในเวลานั้นการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ นับว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีใครทำมากนัก
ในระหว่างเรียน หลิวได้เริ่มลงทุนธุรกิจแรกจากงานรับจ้างเขียนโปรแกรมและนำเงินกู้ยืมของครอบครัวไปลงทุนในธุรกิจร้านอาหาร แต่ก็ล้มไม่เป็นท่าเป็นหนี้กว่า 200,000 เหรียญสหรัฐ เมื่อเรียนจบปริญญาด้านสังคมวิทยา ทำให้หลิวพบว่าการได้รับปริญญาไม่ใช่เครื่องการันตีอกาสในการทำงานที่ดี เขาจึงเลือกทำงานในด้านที่ตนเองถนัด คือการเป็นโปรแกรมเมอร์คอมพิวเตอร์
หลิวเข้าทำงานให้กับ Japan Life บริษัทด้านผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของญี่ปุ่น ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายคอมพิวเตอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ และผู้ดูแลด้านโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ช่วงเวลานี้เขาได้เรียนรู้โมเดลการบริหารโลจิสติกส์ไปพร้อมกับการทดลองทำแพลตฟอร์มที่เกี่ยวเนื่องจากโลจิสติกส์ควบคู่ไปด้วย ซึ่งทำให้เขานำรายได้จากงานประจำไปใช้หนี้ธุรกิจร้านอาหารได้จนหมด แม้จะใช้เวลาหลายปีก็ตาม
ในปี 1998 หลิวลาออกจากบริษัทญี่ปุ่น พร้อมมาตั้งตนมาทำธุรกิจของตนเองอีกครั้ง พร้อมชื่อว่า Jingdong Century ร้านค้าปลีกแนว B2C ขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในกรุงปักกิ่ง ด้วยทุนเริ่มต้นเพียง 12,000 หยวน กระทั่งเมื่อปี 2003 ธุรกิจของ Jingdong Century เติบโตจนสามารถขยายสาขามากกว่า 12 สาขา เหมือนว่าธุรกิจของหลิวจะไปได้สวย แต่ก็ต้องเจอวิกฤตใหญ่อีกครั้ง จากการระบาดของโรคซาร์ส์ ที่คร่าชีวิตชาวจีนไปไม่น้อยกว่า 300 ราย ยอดขายหายไปเกือบ 90%
กำเนิด JD.Com
ในช่วงที่มีการระบาดของโรคซาร์สในปี 2003 JD.com ได้หันไปขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ในบ้านเป็นหลัก ซึ่งเป็นที่ต้องการสูงเนื่องจากผู้คนถูกบังคับให้อยู่แต่ในบ้าน บริษัทยังคงเติบโตและขยายการนำเสนอผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง
คล้ายกับการระบาดของโควิด ที่โรคะบาดทำให้พนักงานและลูกค้าของ Jingdong Century ต้องอยู่ที่บ้านมากขึ้น หลิวจึงมีแนวคิดการปรับธุรกิจไปทำแพลตฟอร์มออนไลน์ พร้อมกับในช่วงเวลานั้นที่โลกอินเตอร์เน็ตจีน ผู้คนเริ่มตื่นตัวการสนทนาบนเว็บบอร์ด หลิวจึงใช้แพลตฟอร์มนี้เริ่มต้นโปรโมทสินค้าของตนเองอีกครั้ง จนทำให้ในปีต่อมา 2004 ได้เปิดตัวเว็บ Jingdong Mall (JD.com) อย่างเป็นทางการ
“โรคซาร์สมันเหมือนเป็นอุบัติเหตุ ถ้าผมยังบังคับให้พนักงานมาทำงานที่ร้านต่อ วันนี้ผมคงไม่เข้าใจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ” ตอนหนึ่งที่หลิวกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ FT เมื่อปี 2017 ถึงแนวคิดการเกิด JD.Com
ปี 2007 หลิวได้ปรับกลยุทธ์ธุรกิจของเขามาเป็นการจำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์เต็มรูปแบบ พร้อมทั้งขยายจากเดิมที่เน้นขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มาเป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น โดยชูจุดเด่นขายสินค้าที่มาจากแบรนด์นั้นโดยตรง กลายเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศจีน ด้วยโมเดลธุรกิจแนวนี้ทำให้ JD.Com ถูกเปรียบเทียบว่าเหมือน Amazon ของเมืองจีน และหลิว ถูกเปรียบเทียบกับเหมือน เจฟฟ์ เบโซส ในฐานะบุคคลที่สร้างตนเองจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
JD.com แตกต่างจาก แบรนด์อีคอมเมิร์ซจีนแห่งอื่น ๆ โดยจัดหาสินค้าโดยตรงจากซัพพลายเออร์ และขายต่อให้กับผู้ซื้อโดยตรง วิธีนี้ทำให้ JD สามารถทำให้ได้รับความน่าเชื่อถือจากผู้บริโภคว่าจะได้รับสินค้า "ของแท้" การให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์และความน่าเชื่อถือ นี้เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ JD ในตลาดจีน
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือดของอีคอมเมิร์ซในจีน ที่มาพร้อมกับคูู่แข่งอย่าง Alibaba ของแจ็ค หม่า ซึ่งมีแพลตฟอร์มที่คล้ายกันอย่าง Taobao และ Tmall ทำให้ JD.Com หั่นไปจับมือกับ Tencent อีกหนึ่งบิ๊กเทคโนโลยีที่กำลังสนใจขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ในปี 2014 จึงเกิดดีลที่ Tancent เข้าลงทุนใน JD.com ด้วยมูลค่าสูงถึง 214.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ราว ๆ 7,000 ล้านบาท ถือหุ้น 15% ใน JD.com
บิ๊กดีลระหว่าง JD กับ Tencent ถือเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญของบริษัท เนื่องจาก Tencent เป็นเจ้าของแอปพลิเคชั่นแชทอย่าง QQ และ Wechat อีกทั้ง Tencent ยังเป็นเจ้าของบริการ Cashless Pay อย่าง Wechatpay จึงไม่แปลกที่ยอดชาวจีนจะใช้จ่ายช็อปสินค้าใน JD.Com ได้อย่างง่ายดาย ขณะเดียวกัน ก่อนหน้าการเข้าซื้อหุ้นของ Tencent 'หลิว เฉียงตง' ได้นำหน้า Alibaba ด้วยการนำบริษัทเข้าซื้อขายหุ้น IPO ในตลาดหุ้น Nasdaq ของสหรัฐ 22 พฤษภาคม 2014
ภายในสิ้นปี 2014 เดียวกันนี้ JD ได้เปิดตัวสถานีจัดส่งและรับสินค้า 3,210 แห่งใน 1,862 มณฑลของจีน ซึ่งเกือบสองในสามของมณฑลทั้งหมดในประเทศ JD.Com นอกจากเป็นพันธมิตรกับ Tencent แล้ว ยังจับมือกับ Walmart บิ๊กค้าปลีกรายใหญ่สัญชาติสหรัฐที่เข้าไปทำตลาดในจีน โดยการใช้ JD เป็นพันธมิตรในการขนส่งสินค้าสู่มือลูกค้า
ปัจจุบัน 'หลิว เฉียงตง' ได้รับการจัดอันดับจากฟอร์บส์ว่าเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีผู้รวยติดอันดับโลกและติดอันดับในจีน ด้วยมูลค่าความมั่งคั่งราว 12.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2018 เขาได้ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีล่วงละเมิดทางเพศ และถูกจับกุมโดยตำรวจรัฐมิเนโซตาของสหรัฐ กระทั่งภายหลังได้รับการปล่อยตัว ช่วงเมษายน 2022 ที่ผ่านมา หลิวได้ประกาศก้าวลงจากตำแหน่งซีอีโอของ JD.Com ส่งไม้ต่อให้ Lei Xu ขึ้นมาดำรงตำแหล่งซีอีโอต่อจากเขา
หลิว ระบุในแถลงการณ์ลงจากตำแหน่งซีอีโอในตอนหนึ่งว่า "แม้เขาจะไม่บริหาร JD.Com โดยตรง แต่เขาจะอุทิศเวลาให้กับกลยุทธ์ระยะยาวของ JD พร้อมสนับสนุนขับเคลื่อนเทคโนโลยีในอนาคต เพื่อให้บริษัทยังคงสามารถทำสิ่งที่ท้าทายและมีค่าที่สุดต่อไป"