สำนักข่าว Finance Sina ของจีนรายงานว่า "ราคาทุเรียนตกต่ำ ทุเรียนสุกคาต้นล็อตแรกที่ผลิตในประเทศก็จะออกสู่ตลาดแล้ว! รสชาติเป็นอย่างไรบ้าง?"
ย่อหน้าแรกของรายนงานกล่าวว่า "สำหรับผู้ชื่นชอบอาหาร ปีนี้ดูเหมือนจะเป็นอีกปีแห่ง "อันหวานชื่น" ตั้งแต่ต้นปี ราคาของเชอร์รี บลูเบอร์รี่ และผลไม้อื่นๆ ที่เคยมีราคาสูงก็ลดลงอย่างมาก"
จากพาดหัวและย่อหน้าแรกของรายงานนี้ดูเหมือนจะเป็น "ฝันร้าย" ของผู้ขาย เพราะราคาที่ตกต่ำลงอาจจะหมายถึงรายได้ที่ลดลง แต่บทความนี้สะท้อนผลประโยชน์ของผู้บริโภคในจีน ดังนั้นมันจึงนำเสนอในแง่บวก และมองว่า "ราคาตก" ในวงการผลไม้ คือ "ความหวานชื่น"
ตามข้อมูลศุลกากรจีน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน พ.ศ. 2568 มีการนำเข้าทุเรียนรวม 100,700 ตัน โดยในเดือนเมษายนมีการนำเข้าทุเรียนประมาณ 61,200 ตัน เพิ่มขึ้น 271.63% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม
รายงานยังสัมภาษณ์ ถงเหว่ย (童伟) ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ตลาดขายส่งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรซินฟาตี้ ปักกิ่ง กล่าวว่า “เมื่อเดือนที่แล้ว ราคาทุเรียนหมอนทองอยู่ที่ 1,100 ถึง 1,200 หยวนต่อกล่อง และกล่องละ 32 กิโลกรัม ตอนนี้ราคาลดลงเหลือ 730 ถึง 780 หยวนต่อกล่อง ซึ่งก็เท่ากับลดราคาลง 50% ราคาของทุเรียนมาเลเซียแช่แข็งด้วยไนโตรเจนเหลวก็ลดลงหลายร้อยหยวนต่อกล่องเช่นกัน สาเหตุหลักก็คือทุเรียนเข้าสู่ฤดูกาลเปิดตัวในตลาดขนาดใหญ่”
คำตอบชัดเจนในตัวมันเองอยู่แล้วว่า ทุเรียนเข้ามาในตลาดจีนอย่างมากมาย ทำให้ราคาตก ซึ่งต่างจากปีที่แล้วซึ่ง The Better รายงานสภาพการณ์ของตลาดทุเรียนแล้วพบว่า ราคาทุเรียนลดลงเพราะการทำ "สงครามราคาทุเรียน" ของผู้ขายเพื่อหวังดึงความสนใจผู้ซื้อ
ปีนี้ต้องยอมรับว่าผลผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจจริงๆ และคาดว่าจะมีผลผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้นจาก 1,200,000 ตัน เป็น 1,500,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 300,000 ตัน เนื่องจากผ่านช่วงลานีญาที่ทำให้เกิดภาวะแล้ง จากการเปิดเผยของนายนภินทร์ ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์
ในเวลานั้น นายนภินทร์ กล่าวว่า "ทุเรียน ปริมาณที่เพิ่มขึ้นถึง 300,000 ตันแต่เชื่อว่าจะยังสามารถส่งออกได้ไม่มีปัญหาทุเรียนล้นตลาด เนื่องจาก ผู้บริโภคชาวจีนนิยมรับประทานทุเรียนไทยมากกว่าประเทศอื่น และมีแนวโน้มกำลังซื้อเพิ่มขึ้นกว่า 30% ซึ่งถือว่ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการ"
แน่นอนว่า ตลาดจีนเปรียบเหมือน "มหาสมุทรที่ถมไม่เต็ม" สำหรับทุเรียนไทย แต่ถ้าใส่เข้าไปพร้อมๆ กันราคาก็ตกลงอย่างมากได้เหมือนกัน และยังไม่ได้พิจารณาด้วยว่า ในปีนี้จีนอนุญาตให้ประเทศเพื่อนบ้านของไทยนำทุเรียนเข้าไปขายได้อีก 2 ประเทศ นั่นคือ กัมพูชาและอินโดนีเซีย
แต่มันไม่ใช่แค่นั้น
จากรายงานของ Finance Sina ยังเผยด้วยว่า "เหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้ผลไม้นำเข้ามีราคาถูกลงเรื่อยๆ ก็คือผลไม้ในประเทศเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เมื่อทุเรียนนำเข้าครองตลาดในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ทุเรียนในประเทศก็กำลังสุกอย่างเงียบๆ ในไหหลำเช่นกัน"
หาจำกันได้ The Better ได้ติดตามการเพาะปลูกทุเรียนบนเกาะไหหลำของจีนมาโดยตลอด เพราะเป็นแหล่งที่สามารถปลูกได้เป็นจำนวนมากหากประสบความสำเร็จในการปลูกระดับอุตสาหกรรม
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เราเพิ่งจะรายงานไปว่า "จีนเพาะพันธุ์'ทุเรียนปัตตานี'จากไทยได้สำเร็จที่ไหหลำ หลังเพาะหมอนทอง-ก้านยาวได้ผล"
ในปีนี้ คาดว่าช่วงที่ให้ผลผลิตสูงของทุเรียนที่ปลูกบนเกาะไหหลำ จะอยู่ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน โดยมีพื้นที่ให้ผลผลิตประมาณกว่า 4,000 เอเคอร์ และให้ผลผลิตประมาณ 600 ตัน
จากการที่ทุเรียนนอกและทุเรียนในหลั่งไหลเข้าตลาด ราคาทุเรียนจึงตกลงอย่างมากตามกลไกของตลาด คำถามก็คือ มันตกมากเกินไปหรือไม่?
เช่น ในเมืองหางโจว ราคาของทุเรียนลดลงเหลือ 18 หยวน (ประมาณ 81 บาท) ต่อครึ่งกิโลกรัม
เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 24 สำนักข่าวเสียงหังโจว (杭州之声) รายงานว่าเมื่อทุเรียนหมอนทองออกวางตลาดครั้งแรก ราคาขายอยู่ที่ 50 หยวน (ประมาณ 227 บาท) ต่อครึ่งกิโลกรัม โดยทุเรียน 5 จิน (1 จินเท่ากับครึ่งกิโลกรัม) จะมีราคาอยู่ที่ 250 หยวน (ประมาณ 1,134 บาท)
ตอนนี้หลังจากลดราคาลงอย่างมาก ทุเรียนหมอนทองขายในราคากิโลกรัมละ 18 หยวนในหลาย ๆ ที่ และทุเรียนชนิดเดียวกันก็ขายเพียง 90 หยวนเท่านั้น ราคาทุเรียนลดลงครึ่งหนึ่ง
ที่เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน สำนักข่าวดาวแดง (红星新闻) รายงานว่า ทุเรียนหมอนทองตอนนี้มีราคาเพียง 20 กว่าหยวนเท่านั้น แต่เมื่อเดือนที่แล้วราคาสูงกว่า 30 หยวน ล่าสุดเป็นช่วงฤดูทุเรียนสุก และทุเรียนหมอนทองที่มีน้ำหนักประมาณ 4 จิน (ครึ่งกิโลกรัม) มีราคาเพียง 100 กว่าหยวนเท่านั้น
แต่ถึงราคาจะตก แต่ปรากฏว่าเสฉวนนำเข้าทุเรียนอย่างบ้าคลั่ง ตัวเลขในปี 2567 การนำเข้าทุเรียนสดของเสฉวนเพิ่มขึ้น 145.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี
นั่นสะท้อนว่า ราคาตกแล้วคนซื้อเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่ราคาตกเพราะไม่มีคนซื้อ
ไม่ใช่แค่ร้านที่ขายทุเรียนหน้าร้านเท่านั้น JD.com ที่เกี่ยวข้องเปิดเผยว่าการขายทุเรียนล่วงหน้าบนแพลตฟอร์มเริ่มต้นในเดือนเมษายน ตอนนั้นราคาขายล่วงหน้าค่อนข้างสูง พอเข้าในเดือนพฤษภาคม ราคาทุเรียนลดลงประมาณ 30% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ราคาที่ดิ่งลงไม่ได้แปลว่าจะเป็นเรื่องไม่ดีเสมอไป
เริ่มจากยอดขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ JD.com พบว่ายอดสั่งทุเรียนเพิ่มขึ้น และบนแพลตฟอร์ม Taobao มีผู้ค้าจำนวนมากที่มียอดขายรวมเกิน 10,000 ออร์เดอร์ และยังมีผู้ค้าอีกมากมายที่มียอดขายเกิน 100,000 ออร์เดอร์
สำนักข่าวเสียงหังโจวรายงานจากการสำรวจตลาดในเมือง พบเนื่องจากทุเรียนราคาถูกและคุณภาพดี ทำให้ยอดขายทุเรียนดีมากในช่วงนี้ เจ้าของแผงขายทุเรียนเล่าว่าวันที่ขายทุเรียนมากที่สุดสามารถขายได้ถึง 100 กล่อง หรือประมาณ 3,000 จิน (斤 โดย 1 จินเท่ากับครึ่งกิโลกรัม)
เทียบกับช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมซึ่งเป็นช่วงที่ทุเรียนขายดีที่สุด ร้านค้าแห่งหนึ่งในหังโจวมีผู้มาซื้อทุเรียนอย่างล้นหลาม มียอดขายสูงสุดประมาณ 700 จิน (1 จินเท่ากับครึ่งกิโลกรัม) ต่อวัน
ปริมาณการขายช่วงราคาตกมียอดสูงกว่าช่วงที่ช่วงทุเรียนเข้าตลาดกำลังพีคๆ ถึง
ดังนั้น แม้ว่าราทุเรียนที่ตกลงอาจจะเหมือนเป็น"ฝันร้าย" ของผู้ขาย และ "ราคาตก" ในวงการผลไม้ คือ "ความหวานชื่น" คือผู้ซื้อ
แค่จากสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดจีนดูเหมือนจะเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีผู้เสียและผู้ได้แบบเบ็ดเสร็จ แม้ว่าอาจจะไม่ถึงกับ "วิน-วิน" ก็ตาม
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ความต้องการทุเรียนในตลาดจีนที่เหมือนเป็น "มหาสมุทรที่ถมไม่เต็ม" สำหรับทุเรียนไทย แม้จะมีประเทศอื่นๆ มาแย่งส่วนแบ่งเรื่อยๆ แต่หมอนทองของไทยก็ยังยืนหนึ่ง เพราะแม้แต่ทุเรียนที่ปลูกในไหหลำก็ยังต้องเป็นหมอนทอง
ด้วยราคาทุเรียนที่ตกลงมา ทำให้ตอนนี้ชาวเน็ตในจีนหลายคนกล่าวว่าราคาทุเรียนที่ลดลงอย่างรวดเร็วทำให้ "เกณฑ์การบริโภค" ลดลงอย่างมาก ซึ่งหมายความว่าไม่ต้องไต่บันไดขึ้นไปกินทุเรียนอีก เพราะมันร่วงลงมาจากฟ้าให้คนธรรมดากินกันง่ายๆ ด้วยราคาที่จับต้องได้ และตอนนี้ผู้คนสามารถบรรลุ "อิสรภาพจากทุเรียน" ได้แล้ว
สิ่งที่เรียกว่า "อิสรภาพจากทุเรียน" (榴梿自由) คือตัวจักรสำคัญ เพราะหมายถึงคนจีนมีกำลังซื้อที่สอดคล้องกับราคาทุเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ คือ ราคาตกลง ยิ่งทำให้คนซื้อมากขึ้น ทำให้พวกเขาสามารถ "ประกาศอิสรภาพจากการถูกผูกมัดด้วยราคา" และกินได้ไม่อั้นตราบเท่าที่เงินในกระเป๋ายังรับไหว
อย่างที่บอกไปว่า ตลาดจีนเปรียบเหมือน "มหาสมุทรที่ถมไม่เต็ม" สำหรับทุเรียนไทย แม้ว่าราคาจะตก แต่กำลังซื้อมักจะสวนทางกัน
บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo by Yasuyoshi CHIBA / AFP