เม็ดเงินของ'สแกมเมอร์'ใน'กัมพูชา'คิดเป็น 60% ของ GDP สูงสุดเกือบ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยรัฐให้การหนุนหลัง
ตอนที่ 'จีนเทา' กำลังพีคๆ ผมเคยเขียนไปแล้วเรื่องธุรกิจสีเทาโดยเฉพาะ 'สแกมเมอร์' ในกัมพูชา ซึ่งมีทั้งอาชญากรจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันเป็น 'ฝ่ายปฏิบัติการ' แต่ได้รับการคุ้มหัวโดย 'ผู้ใหญ่' ในประเทศนั้น
ล่าสุด นักวิชาการที่เชี่วชาญเรื่อง 'สแกมเมอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้' ย้ำอีกครั้งว่า 'รัฐกัมพูชา' ให้การสนับสนุนพวกสีเทาจริงๆ โดยมีมีการเผยพร่รายงานที่ชื่อ "อาชญากรรมข้ามชาติที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐในกัมพูชาเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงระดับโลก"
รายงานนี้เขียนโดย เจค็อบ ซิมส์ (Jacob Sims) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในระยะหลังเขาจับเรื่อง 'สแกมเมอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้'โดยเฉพาะ รายงานของเขามีข้อมูลเด็ดๆ ทั้งนั้น และล่าสุดก็เช่นกัน
รายนี้ชี้ไปที่ 'รัฐกัมพูชา' โดยเฉพาะว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง 'สแกมเมอร์'
ครับ 'สแกมเมอร์' พวกเดียวกับที่หลอกเงินพี่น้องชาวไทยนั่นแหละครับ ซึ่งเราบอกมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว แต่ทั้ง 'รัฐไทย' และ 'รัฐกัมพูชา' ไม่เอาจริงเอาจังเสียที
มาดูกันว่ารายงานนี่มีข้อมูลที่น่าสนใจอะไรบ้าง? เผื่อรัฐบาลไทยจะขยับบ้าง ส่วนรัฐบาลกัมพูชาขั้นขยับแล้ว โดยบอกว่าเป็น "แผนการใส่ร้ายทงการเมือง"
1. ก่อนอื่น ประเทศที่เป็นฐานที่มั่นของสแกมเมอร์ไม่ได้มีแค่กัมพูชา เพราะ "ศูนย์กลางของอุตสาหกรรมนี้คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะกัมพูชา เมียนมา และลาว แรงงานที่ก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ในประเทศเหล่านี้เพียงประเทศเดียวมีมากกว่า 350,000 คนได้ไม่ยาก การประมาณการอย่างถี่ถ้วนระบุว่ารายได้ต่อปีที่สร้างโดยกลุ่มอาชญากรในภูมิภาคอยู่ระหว่าง 50,000 ถึง 75,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้การฉ้อโกงข้ามชาติอาจเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นที่สุดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้งหมด ซึ่งเทียบเท่ากับเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP ทั้งหมดในประเทศเจ้าภาพหลัก"
2. รายงานระบุว่า "กัมพูชาเป็นประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นศูนย์กลางของการฉ้อโกงข้ามชาติยุคใหม่ของโลกในปี 2025 โดยมีเพียงเมียนมาเท่านั้นที่มีโอกาสเติบโตอย่างรวดเร็วในอนาคต การฉ้อโกงได้กลายมาเป็นอุตสาหกรรมในประเทศ (กัมพูชา) ที่ทำกำไรมหาศาล ซึ่งไม่มีใครเทียบได้ในประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรนี้ การประมาณการอย่างเป็นทางการอยู่ที่ 12,500 ถึง 19,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับ 60% ของ GDP และแซงหน้าอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอย่างมาก อย่างไรก็ตาม แม้จะมีขนาดและผลกระทบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ปรากฏการณ์นี้ยังคงไม่ได้รับการสำรวจมากนัก"
3. พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP ) รักษาอำนาจไว้ได้ไม่ใช่เพราะประชาชนยอมรับความชอบธรรม แต่เพราะการปราบปรามผู้เห็นต่างในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม อำนาจที่บีบบังคับนี้ได้รับเงินและดำรงอยู่ได้ด้วยกิจกรรมการขูดรีดและล่าเหยื่อ (ซึ่งส่วนใหญ่คือผลกำไรจากสแกมเมอร์) ของเครือข่ายผู้อุปถัมภ์ระดับสูง เครือข่ายนี้ซึ่งถูกควบคุมอย่างเข้มงวดโดยอดีตนายกรัฐมนตรีฮุน เซนและครอบครัวของเขา ซื้อความภักดีจากกองกำลังรักษาความมั่นคงของรัฐ ป้องกันไม่ให้เกิด (1) การต่อต้านใดๆ ที่มีนัยสำคัญต่อกลยุทธ์การปกครอง (ของรัฐบาล) ไม่เป็นที่นิยม และ (2) แรงผลักดันใดๆ สำหรับการปฏิรูป เนื่องจากทั้งสองอย่างนี้ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อการยึดครองอำนาจของพรรคร่วมรัฐบาล
4. ในยุคการค้ามนุษย์โดยพวกสแกมเมอร์ภายใต้ระบอบของพรรค CPP หน่วยงานภาครัฐได้ใช้ทรัพยากรทั้งหมดที่มีเพื่อ (1) ปกป้องผู้กระทำความผิดจากความรับผิดชอบข้ามชาติ (2) เบี่ยงเบนและบดบังเนื้อหาสาระของกิจกรรมทางอาญาและความผิด และ (3) ปิดปากเสียง (ประชาชน) ในท้องถิ่นที่เป็นภัยคุกคามต่ออุตสาหกรรมสแกมเมอร์ ในขณะที่กลุ่มอาชญากรถูกขับไล่ออกจากประเทศจากการปฏิรูปในจีน ก็ถูกดึงดูดเข้ามาในงกัมพูชาจนเศรษบกิจและการเมืองของประเทศนี้ถูกแปรรูปเป็นอาชญากรรมอย่างสมบูรณ์ การมีอยู่และเงินทุนของสแกมเมอร์ได้ทำหน้าที่ทำให้พรรค CPP มีอำนาจเหนือตลาด อาชญากรที่มาจากต่างประเทศเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นแหล่งทุนและบุคลากรนอกกฎหมายสำหรับระบอบการปกครองเป็นหลักของกัมพูชา
5. ตัวอย่างความเกี่ยวข้องของ "ผู้ใหญ่" ในรัฐบาลกัมพูชากับสแกมเมอร์ คือ รองนายกรัฐมนตรี สอ สุขะ เป็นหนึ่งในสองผู้ร่วมลงทุนหลักในการก่อสร้างสถานที่ฉ้อโกงโดยสแกมเมอร์ที่ใหญ่ที่สุดและฉาวโฉ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ พ่อตาของเขายังเป็นเจ้าของสถานที่ฉ้อโกงโดยสแกมเมอร์อย่างน้อยหนึ่งแห่ง หรือธุรกิจครอบครัวที่ก่ออาชญากรรมเหล่านี้หลบเลี่ยงความรับผิดชอบ และนักลงทุนอีกคนในคาสิโน Jinbei ของ สอ สุขะ คือ เฉินจื้อ (CEO ของ Prince Group Holdings) ซึ่งเป็นอาชญากรที่มีต้นกำเนิดจากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งยังเป็นที่ปรึกษาระดับคณะรัฐมนตรีให้กับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันและคนก่อนหน้านี้จากตระกูลฮุน และกลายเป็นผู้อุปถัมภ์หลักของพรรค CPP อีกด้วย
6. บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องคนอื่นๆ ก็เช่น ตรี เพียบ ที่ปรึกษาของ ฮุน เซน และ ลี ยง พัต สมาชิกคณะกรรมการ CPP ถาวรจนกระทั่งเมื่อไม่นานนี้ ชายทั้งสองคนได้โฆษณาทรัพย์สินที่ตนถือครองโดยมิชอบอย่างเปิดเผยบนเว็บไซต์ส่วนตัว แม้จะมีหลักฐานสะสมมาหลายปีเกี่ยวกับกิจกรรมทางอาญาและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในกรณีของ ลี ยง พัต ความช่วยเหลือจากรัฐในการหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรนั้นเห็นได้ชัดจากการที่ทรัพย์สินสาธารณะของเขาหายไปอย่างรวดเร็วจากบันทึกบริษัทสาธารณะของกัมพูชาหลังจากถูกคว่ำบาตร ยังมีคนอื่นๆ อีก เช่น วุฒิสมาชิก กก อัน (เจ้าของนิคมอุตสาหกรรมปอยเปตและสีหนุวิลล์หลายแห่ง) และ ฮุน โต (ลูกพี่ลูกน้องของนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต โดยทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมสแกมเมอร์แต่ละแห่งดูเหมือนจะได้รับประโยชน์จากผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นอย่างน้อยหนึ่งรายที่ถือครองที่ดินและให้การคุ้มครองจากผู้บังคับใช้กฎหมายโดยใช้อิทธิพล
7. โครงการ “การลงทุนเพื่อขอสัญชาติ” ของกัมพูชา ดูเหมือนจะมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกให้กับการอพยพของอาชญากรระดับสูงจำนวนมากมายังราชอาณาจักรในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2009 ถึง 2023 รัฐบาลได้เผยแพร่รายชื่อผู้รับสัญชาติ และรวมถึงรายชื่ออาชญากรที่รู้จักจำนวนมาก เมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากการตรวจสอบจากนานาชาติมีความเข้มข้นมากขึ้น รัฐบาลจึงได้ปกปิดข้อมูลการแปลงสัญชาตินี้ ทำให้แหล่งข้อมูลที่จำเป็นอย่างยิ่งในความโปร่งใสหายไป การลบข้อมูลนี้ออกจากบันทึกสาธารณะ “ช่วยปกปิดธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำของรัฐกัมพูชาและอาชญากรเหล่านั้น รวมถึงปริมาณมหาศาลของอาชญากรที่กัมพูชาได้ดึงดูดเข้ามาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา”
8. รายงานอ้างข้อมูลจาการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องว่า “มีนักลงทุนและเจ้าพ่ออาชญากรชาวจีนจำนวนมากไม่เพียงแต่ได้รับอิสระโดยไม่ต้องถูกลงโทษเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลอย่างมากในกัมพูชาด้วย” ผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวให้กับนายกรัฐมนตรีหรือในตำแหน่งที่มีอิทธิพลอื่นๆ ... เช่น อาชญากรที่มีเงินทุนหนา เช่น เฉินจื้, เสอจื้อเจียง, สวีอ้ายหมิน, ตงเล่อเฉิง" โดย "กรณีของ เสอจื้อเจียง อาจให้ข้อคิดในเรื่องนี้ เสอเป็นหนึ่งในอาชญากรที่ฉาวโฉ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ และอาจต้องรับโทษหนักหากถูกส่งตัวไปยังจีน ตลอดระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัวในประเทศไทย เขาได้ล็อบบี้อย่างต่อเนื่องและเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อเรียกร้องให้เนรเทศไปยังกัมพูชา"
9. ภาคการพนันของกัมพูชาทำหน้าที่เป็น "ตัวผสม" ที่ทำการฟอกเงินผิดกฎหมายจำนวนมหาศาลอย่างเป็นระบบ และฟอกเงินเข้าสู่ภาคการเงินอย่างเป็นทางการของกัมพูชาโดยระบบการเงินทางการของประเทศก็ถูกบงการโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ การที่กัมพูชาใช้สกุลเงินดอลลาร์ และการที่กัมพูชาถูกถอดออกจากบัญชีสีเทาของต่อต้านการฟอกเงินของ FATF ในปี 2022 ตลอดจนเครือข่ายโทรคมนาคมที่แข็งแกร่งและโครงสร้างพื้นฐานด้านถนนที่ได้รับการปรับปรุง ยังเป็นตัวเอื้อให้กัมพูชากลายเป็น "เจ้าบ้าน" ให้กับอาชญากรรมไซเบอร์ข้ามชาติ
10. ผู้สังเกตการณ์ภาคประชาสังคมในพื้นที่ระบุว่า “สถานที่ทำสแกมเมอร์ขนาดใหญ่เกือบทุกแห่งในกัมพูชามีความเชื่อมโยงกับคาสิโน” ที่สำคัญ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีความเชื่อมโยงทางกายภาพเสมอไป จำนวนสถานที่สแกมเมอร์ในกัมพูชาที่ถูกระบุตัวตนได้นั้นมีจำนวนมากกว่าคาสิโนที่เป็นที่รู้จักอย่างมาก โดยมีสถานที่ทำสแกมเมอร์ใหม่ๆ ปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามคำบอกเล่าของผู้เห็นเหตุการณ์หลายคนและผู้สังเกตการณ์ภาคประชาสังคมในพื้นที่ “ความเชื่อมโยง” ที่อ้างถึงนั้นมักเกิดจากโครงสร้างความเป็นเจ้าของ การเชื่อมโยงทางธุรกิจ การใช้ผลิตภัณฑ์การพนันออนไลน์ที่เกี่ยวข้อง มีการบันทึกไว้ว่าเกี่ยวข้องกับสถานที่เหล่านี้ หรือเกี่ยวกับกลไกทางอ้อมอื่นๆ
11. ผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศตั้งข้อสังเกตว่าโครงสร้างพื้นฐานการพนันและการฟอกเงินมีบทบาทสำคัญต่อขนาดและความซับซ้อนของแหล่งทำสแกมเมอร์ รวมถึงแหล่งอื่นๆ ในกัมพูชา ความเชื่อมโยงระหว่างการพนันและอาชญากรรมคือระบบธนาคารรองของอุตสาหกรรมการพนันซึ่งอำนวยความสะดวกให้กับการดำเนินงานของคาสิโนและมักทำหน้าที่เป็น "ตัวผสม" โดยผสมเงินจากแหล่งต่างๆ เข้าด้วยกันและทำให้ยากต่อการติดตาม ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมยังสังเกตด้วยว่า "การพนันเป็นธุรกิจที่มีปริมาณมาก ตลอด 24 ชั่วโมงตลอด 7 วันของสัปดาห์" และเป็นธุรกิจที่สามารถ "สร้างความชอบธรรมให้กับกระแสเงินสดจำนวนมาก" ได้ ยิ่งไปกว่านั้น "เมื่อเงินได้รับการประมวลผลผ่านคาสิโนที่ถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมายแล้ว ไม่มีทางที่ศาลจะสามารถยืนยันได้ว่าเงินนั้นอยู่ในความผิดฐานอาญาหรือไม่"
นี่คือเนื้อหาสาระของรายงานเรื่อง "อาชญากรรมข้ามชาติที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐในกัมพูชาเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงระดับโลก" โดย เจค็อบ ซิมส์
ในท้ายรายงานมีการย้ำอีกครั้งว่า 'รัฐกัมพูชา' เกี่ยวข้องแน่นอนกับอุตสาหกรรมสแกมเมอร์ แต่ก็ชี้ให้เห็นด้วยว่ารัฐกัมพูชาทำเป็นไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แถมยังตอบโต้เสียอีกว่า "ตัวเองบริสุทธิ์" และอ้างว่ารายงานเปิดโปงเหล่านี้เป็นการโจมตีทางการเมือง
ยังไม่นับความพยายามที่จะพลิกกลับข้อกล่าวหาให้ตัวเองกลายเป็นเหยื่อไปเสียอีก
เช่นล่าสุดหลังรายงานออกมา ตูจ โสคัก โฆษกกระทรวงมหาดไทย โจมตีรายงานนี้ว่า “เป็นเจตนาที่เป็นอันตรายที่จะทำให้ประเทศเล็กๆ ต้องทนทุกข์ ไม่ว่าจะภายใต้กรอบภูมิรัฐศาสตร์หรือเป็นประเด็นที่นำไปสู่การเลือกตั้ง”
และ "แผนการ (ใส่ร้าย) ทางการเมืองจะดำเนินต่อไป
พฤติกรรมหากินกับสแกมเมอร์ว่าอันตรายแล้ว การแสร้งเป็นไม่รู้ไม่ชี้ว่าตัวเองหากินกับมัน แสดงให้เห็นว่า 'รัฐกัมพูชา' อันตรายต่อชาวโลกจริงๆ อย่างที่รายงานว่าได้
บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo by TANG CHHIN Sothy / AFP