เมื่อ'พระวิษณุปราสาทแม่บุญตะวันตก'มาเข้าฝันชาวบ้านให้บอกนักโบราณคดีขุดพระองค์ขึ้นมา

เมื่อ'พระวิษณุปราสาทแม่บุญตะวันตก'มาเข้าฝันชาวบ้านให้บอกนักโบราณคดีขุดพระองค์ขึ้นมา

ในเวลานี้ชาวโลกกำลังให้ความสนใจกับ 'พระวิษณุปราสาทแม่บุญตะวันตก' หลังจากที่พิพิธภัณฑ์ Guimet ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสได้นิทรรศการเกี่ยวกับเครื่องสัมฤทธิ์ในวัฒนธรรมเขมรโบราณตั้งแต่วันที่ 30 เมษายนถึง 8 กันยายน 2025 ในชื่อ “Bronzes royaux d’Angkor, un art du divin”

ไฮไลท์ของนิทรรศการนี้คือรูปปั้น 'พระวิษณุไสยาสน์ปราสาทแม่บุญตะวันตก' ซึ่งเป็นรูปหล่อสัมฤทธิ์แบบเขมรโบราณสมัยศตวรรษที่ 11 ที่มีความยาวมากกว่า 5 เมตร โดยพบที่ปราสาทแม่บุญตะวันตก อันเป็นปราสาทกลางอ่างเก็บน้ำหรือบารายที่ชื่อ 'บารายตะวันตก' ทางตะวันตกของเมืองพระนคร หรือนครวัด นครธม จ. เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา

เดิมทีนั้นประติมากรรมชิ้นนี้จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พนมเปญ แต่ถูกส่งมายังฝรั่งเศสเพื่อรับการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์และการบูรณะในฝรั่งเศสในปี 2024 ด้วยการสนับสนุนจาก ALIPH (พันธมิตรระหว่างประเทศเพื่อการปกป้องมรดกในพื้นที่ขัดแย้ง) 

ณ เวลานี้เราไม่ทราบหลักฐานที่แน่ชัดว่าปราสาทแม่บุญตะวันตกสร้างขึ้นเมื่อใด แต่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าสร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 11 เพราะการตกแต่งและการแกะสลักเป็นแบบศิลปะบาปวน ในระหว่างรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 และพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 แห่งอาณาจักรเขมรโบราณ

ปราสาทแม่บุญตะวันตกมีความโดดเด่นอย่างมากในแง่สถาปัตยกรรมโดยตั้งอยู่ในใจกลางบารายตะวันตก ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดของพื้นที่เมืองพระนคร คล้ายกับสร้างให้สถานที่แห่งนี้เป็นใจกลางของเกษียรสมุทรอันเป็นที่ประทับของพระวิษณุ

และที่จริงก็ควรเป็นเช่นนั้น หลังจากที่มีกขุดค้นพบ 'พระวิษณุไสยาสน์ปราสาทแม่บุญตะวันตก' ณ ปราสาทกลางน้ำแห่งนี้ 

เต่การค้นพบ 'พระวิษณุไสยาสน์ปราสาทแม่บุญตะวันตก'มีเรื่องราวที่ลี้ลับเกี่ยวข้องอยู่ด้วย

การบูรณะปราสาทแม่บุญตะวันตกครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1920 ในเวลานั้น พื้นที่ปราสาทส่วนใหญ่อยู่ในสภาพพังทลายและปกคลุมไปด้วยพืชพรรณและตะกอนที่สะสมมาเกือบพันปี ในส่วนของบารายตะวันตกก็แห้งเหือดไปกว่าครึ่งหนึ่ง 

ถึงตอนนี้ เขาแทรกเรื่องเล่าส่วนตัวสักนิด ผู้เขียนก็เคยเดินลงไปในพื้นที่บารายตะวันตกด้วยตัวเองมาแล้วในช่วงที่ยังแห้งอยู่นฤดูที่แล้งจัด และ "ด้วยความโง่เขลาของคนหนุ่ม" ยังพยายามเดินเท้าไปยังปราสาทแม่บุญตะวันตกด้วยตัวเอง แต่เดชะบุญที่ภารกิจนั้นไม่ประสบสำเร็จ เพราะที่จริงแล้วการจะเข้าถึงปราสาทแม่บุญตะวันตกได้นั้นต้องอาศัยเรือเท่านั้น

ปัจจุบันทางการกัมพูชาได้ไขน้ำลงไปจนเต็มบารายตะวันตกแล้ว เช่นเดียวกับบารายอื่นๆ ทางตะวันออกที่ไขน้ำจนเต็มไปแล้วบางแห่งเพื่อฟื้นฟูภูมิทัศน์เดิมของที่นี่

กลับมาที่การค้นพบ 'พระวิษณุไสยาสน์ปราสาทแม่บุญตะวันตก' ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1936 ขณะที่ปราสาทถูกปล่อยปละละเลยอยู่นั้นก็มีการปล้นสะดมอย่างหนักจากพวกหาของโบราณ แต่แล้วก็ชาวบ้านคนหนึ่งได้เข้าไปหาผู้ดูแลเมืองพระนครในขณะนั้น อองรี มาร์ชาล (Henri Marchal) ชาวฝรั่งเศสผู้ทุ่มเทชีวิตให้กับบูรณะเมืองพระนคร 

ชาวบ้านคนนั้นบอกว่า "พระพุทธ" ได้มาเข้าฝันเขาแล้วบอกให้ช่วยนำพระองค์ออกจากพื้นดินขึ้นมาที 

เรารู้แค่เพียงว่าชาวบ้านคนนั้นมาจากหมู่บ้าน "ภูมิกุกตโนด" ชื่อว่า ฉิต ลัต 

ปรากฏว่า อองรี มาร์ชาล ตัดสินใจที่จะลองเชื่อดู แล้วเดินทางถึงเกาะกลางของปราสาทแม่บุญตะวันตก และหลังจากขุดบ่อน้ำกลางแล้วก็พบรูปพระวิษณุขนาดใหญ่และร่างใหญประมาณ 5 เมตร ถือเป็นตัวอย่างเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ของงานโลหะขนาดใหญ่ของสมัยเมืองพระนครที่ตกทอดจนถึงทุกวันนี้ 

ในเอกสารวิชาการภาษาเขมรเรียก 'พระวิษณุไสยาสน์ปราสาทแม่บุญตะวันตก' ว่า 'พระนารายณ์ผทม' (ព្រះនារាយណ៍ផ្ទុំ) โดยที่นักวิชาการยังสรุปไม่ได้ว่าทรงบรรทมในลักษณะ "วิษณุอนันตศายิน" คือบรรทมบนขนดของอนันตนาคราช หรือปาง "นารายณ์บรรทมสินธุ์"แบบอื่น เช่น ที่ทรงบรรทมแล้วให้กำเนิดพระพรหม โดยพระพรหมปรากฏออกมาจากดอกบัวที่งอกออกมาจากพระนาภี (สะดือ) ของพระวิษณุ แต่ยังหารูปพระพรหมและรูปพระลักษณมีอันเป็นประติมากรรที่ต้องทำคู่กันไม่พบ

ในบันทึกเรื่อง 'บันทึกขนบธรรมเนียมเจินล่า' (真臘風土記) ของโจวต๋ากวาน (周達觀) ราชทูตจากราชวงศ์หยวนของจีนที่เดินทางมายังเมืองพระนคร หรือที่ชาวจีนเรียกว่าประเทศ 'เจินล่า' ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า 

"สระตะวันออกอยู่ห่างจากเมืองไปสิบลี้ (ราว 5 กิโลเมตร) มีเส้นรอบวงหนึ่งร้อยลี้ (ราว 50 กิโลเมตร) มีเจดีย์หิน มีอาคารหิน ในเจดีย์หินมีพระพุทธสัมฤทธิ์ปางไสยาสน์องค์หนึ่ง ที่พระนาภี (สะดือ) มีน้ำไหลออกมาอยู่เนืองๆ" (東池在城東十里,周圍可百里。中有石塔、石屋,塔之中有臥銅佛一身,臍中常有水流出)。

มีโอกาสสูงที่โจวต๋ากวานจะจดชื่อบารายตะวันตกผิดเป็นบารายตะวันตก บารายตะวันออกนั้นมีปราสาทแม่บุญเหมือนกันชื่อ ปราสาทแม่บุญตะวันออกแต่เป็นปราสาทยกฐานสูงและมีปราสาทประธานตรงกลาง แต่ไม่มี "พระพุทธสัมฤทธิ์ปางไสยาสน์" (ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดเช่นกันเพราะพระพุทธหมายถึงพระวิษณุ) 

อย่างไรก็ตาม ปราสาทแม่บุญตะวันตกนั้นไม่มีปราสาทประธาน (เจดีย์หิน)  มีแต่อาคารหินรายล้อมสระน้ำใหญ่ที่ตรงกลางสระนั้นเป็นที่ประดิษฐาน 'พระวิษณุไสยาสน์ปราสาทแม่บุญตะวันตก' นั่นเอง

เป็นไปได้ไหมว่า โจวต๋ากวาน อาจหมายถึงปราสาทนาคพัน ซึ่งอยู่กลางบารายฝั่งตะวันออกเหมือนกัน แต่ที่นั่นแม้จะมีระบบไขน้ำไหลออกจากประติมากรรมศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็ไม่ใช่  "พระพุทธสัมฤทธิ์ปางไสยาสน์องค์หนึ่ง ที่พระนาภีมีน้ำไหลออกมาอยู่เนืองๆ" ในแบบพระวิษณอนันตศายิน

ที่สำคัญก็คือ โจวต๋ากวาน กล่าวไว้ชัดเจนว่า "สระเบื้องทิศเหนืออยู่ห่างจากพระนครไป 5 ลี้ (ราว 2.5 กิโลเมตร) มีเจดีย์ทรงเหลี่ยมเป็นทองคำและอาคารหินจำนวนหนึ่งมีสิงห์ทอง พระพุทธทอง ช้างสัทฤทธิ์ วัวสัมฤทธิ์ และม้าสัมฤทธิ์" (北池在城北五里,中有金方塔一座,石屋數十間,金獅子、金佛、銅象、銅牛、銅馬之屬皆有之。) ลักษณะเช่นนี้นี่ย่อมหมายถึงปราสาทนาคพันอย่างแน่นอน

ในกรณีของบารายตะวันตกและตะวันออกนั้น เป็นไปได้ว่าราชทูตจีนอาจจะสับสนอะไรหลายๆ อย่างปนเปกัน กระนั้นก็ตาม 'บันทึกขนบธรรมเนียมเจินล่า' ยังถือเป็นเอกสารล้ำค่าที่เก็บหลักฐานเกี่ยวกับเมืองพระนครเอาไว้อย่างละเอียดที่สุด

และไม่ว่าจะอย่างไร การปรากฏของ 'พระวิษณุไสยาสน์ปราสาทแม่บุญตะวันตก' ย่อมเป็นเครื่องตอกย้ำว่า อ่างเก็บน้ำแห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เพราะมีรูปพระวิษณุทรงประทับอยู่กลางน้ำอันสมมติว่าเป็นเกษียรสมุทร และยังมีน้ำไหลออกมาจากพระนาภีอยู่เรื่อยๆ ทำให้แหล่งน้ำมีความ 'ขลัง' และมีสถานะเป็น 'ตีรถะ' อันหมายถึงท่าหรือแหล่งน้ำในการชำระบาปกรรมด้วยอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า

ดังนั้น นักวิชาการบางคนเชื่อว่าบารายตะวันตกนั้นเป็นแหล่งน้ำสำหรับทำนาปรัง แต่นักวิชาการบางคนกลับเชื่อว่าบารายนี้สร้างไว้เป็น 'เกษียรสมุทรจำลอง' เพื่อประโยชน์ในทางศาสนา

โจวต๋ากวาน ได้กล่าวถึงการอาบน้ำของชาวเมืองพระนครเอาไว้ โดยตอนหนึ่งกล่าวถึงการอาบน้ำในทำนองพิธีกรรมแบบการชำระล้างที่ตีรถะเอาไว้ ดังนี้

"ทุกสามหรือสี่วันหรือทุกห้า หรือหกวันผู้หญิงในเมืองจะมาเป็นกลุ่มละสามหรือห้าคนเพื่อไปอาบน้ำที่แม่น้ำนอกเมือง เมื่อพวกนางไปถึงแม่น้ำ (เขาใช้คำว่าแม่น้ำ หรือ 河 ไม่ใช่ สระ 池 หรือ บาราย) พวกนางก็ถอดผ้าที่ผูกไว้รอบตัวเขาออกแล้วกระโดดลงไปในน้ำ ผู้คนที่มารวมตัวกันที่แม่น้ำนั้นมีเป็นพันๆ คน แม้แต่ผู้หญิงชั้นสูงก็เข้าร่วมด้วย พวกนางไม่รู้สึกเขินอายเลย และสามารถมองเห็นทุกอย่างตั้งแต่ส้นเท้าไปจนถึงศีรษะของพวกนาง มีแม่น้ำใหญ่ไหลอยู่นอกเมืองทุกวัน คนจีนชอบกิจกรรมนี้ในเวลาว่างเพื่อชมทัศนียภาพนี้" (或三四日,或五六日,城中婦女,三三五五,咸至城外河中漾洗。至河邊,脫去所纒之布而入水。會聚於河者動以千數,雖府第婦女亦預焉。畧不以為恥,自踵至頂,皆得而見之。城外大河,無日無之。唐人暇日頗以此為遊觀之樂) 

ในเมืองพระนครนั้นมีแม่น้ำลำคลองมากมาย แต่ที่เรียกว่าแม่น้ำใหญ่นอกเมือง (城外大河) หรือแหล่งน้ำนอกกำแพงเมือง เห็นจะไม่มีอะไรใหญ่เท่ากับบรรดาบารายทั้งหลายแล้ว โดยที่บารายตะวันออกเป็นที่สถิตของพระศิวะ บารายชัยตฏากะเป็นที่สถิตของพระพุทธะและโพธิสัตว์

และบารายตะวันตกเป็นที่สถิตของพระวิษณุ 

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better

Photo by STEPHANE DE SAKUTIN / AFP
 

TAGS: #กัมพูชา #แม่บุญตะวันตก #โบราณคดี #พระวิษณุ