ดับไฟใต้ด้วยการเจรจากับ 'ผู้ก่อการร้าย' แล้วจะได้อะไรขึ้นมา?

ดับไฟใต้ด้วยการเจรจากับ 'ผู้ก่อการร้าย' แล้วจะได้อะไรขึ้นมา?

หลังจากเห็น 'พรรคประชาชน'ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ "เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างน่ากังวลอีกครั้งนับตั้งแต่ต้นปี 2568 โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา"

ความตอนหนึ่งว่า "พรรคประชาชนเห็นว่า ในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพในอนาคต ต้องมีองค์ประกอบส่วนหนึ่งจากผู้ที่มีบทบาทและอำนาจในการสั่งหยุดความรุนแรงในพื้นที่ได้จริงเข้าร่วมด้วย เพื่อประสิทธิภาพในการเจรจา และเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน" 

ถ้าผมตีความไม่ผิด ที่บอกว่า "ที่มีบทบาทและอำนาจในการสั่งหยุดความรุนแรงในพื้นที่ได้จริง" น่าจะหมายถึง 'ผู้ก่อการร้ายหรือไม่'? 

หลังจากนั้นผมก็ไล่ลงไปอ่านคอมเมนต์ในเพจเฟซบุ๊คของพรรค

ปรากฏว่าโดนถล่มเละ หลายคนด่า หลายคนเสียดาย หลายคนไม่เข้าใจ

เท่าที่เห็นคือประชาชนไม่เข้าใจว่าทำไมพรรคประชาชนถึงไปเรียกร้องให้เจรจากับผู้ก่อการร้าย ผมจับทางจากหลายๆ ความเห็นพอจะสรุปได้ว่า "ไม่ต้องคุยต้องเคยให้เสียเวลาแล้ว" ความเห็นเหล่านั้นต้องการให้ฝ่ายบ้านเมืองทำอะไรต่อไนั้นผมเชื่อว่าหลายคนคงจะเดาได้

ความรู้สึกของคนไทยตอนนี้ไม่อยากจจะเจรจา แต่ต้องการให้ภาครัฐทำอะไรที่เด็ดขาด เพราะเห็นว่าเจรจาไปก็ยังก่อเหตุอยู่ดี เพราะดูเหมือนจะเติมไม่เต็มความต้องการจากฝ่ายก่อการร้าย ในทำนองได้คืบจะเอาศอก แล้วแบบนี้จะเอาศอกไปประเคนอีกทำไม?

ผมเองไม่สามารถพูดได้เต็มปาก เพราะไม่อยู่ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสถานการณ์ และยิ่งพูดไม่ได้ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเจรจาหรือการก่อการร้าย

แต่ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ในเมื่อพอจะช่วยได้จะขอแบ่งปันความเห็นที่ผมได้อ่านมาจากข้อสรุปของผู้เชี่ยวชาญ ต่อคำถามที่ว่า "เราควรจะเจรจากับผู้ก่อการร้ายหรือไม่?" 

ข้อสรุปนี้มาจากงานสัมนาของ The International Centre for Counter-Terrorism (ICCT) อันเป็นองค์กรด้านยุทธศาสตร์และการลงมือ ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อ "สนับสนุนนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการต่อต้านการก่อการร้ายที่ดีขึ้นทั่วโลก" และ "มีส่วนสนับสนุนการอภิปรายทางวิทยาศาสตร์และสาธารณะในสาขาการต่อต้านการก่อการร้ายและการต่อต้านความรุนแรง"

ระหว่างวันที่ 10 - 23 เดือนมีนาคมปี 2011 มีการเสวนาเรื่อง "การเจรจาต่อรองกับผู้ก่อการร้าย" ทาง ICCT ซึ่งเป็นเจ้าภาพได้สรุปทัศนะของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเอาไว้ ดังนี้ 

ข้อสรุปจาก อิซาเบล ดิวเวสเทย์น (Isabelle Duyvesteyn) ศาสตราจารย์สาขาวิชาการศึกษาระหว่างประเทศ/ประวัติศาสตร์โลกที่สถาบันประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยไลเดน แห่งมหาวิทยาลัยไลเดน นำเสนอข้อสรุปจากรายงานการเจรจาระหว่างรัฐและกลุ่มติดอาวุธที่เธอและบาร์ต ชูร์มัน (Bart Schuurman) ซึ่งเป็นผู้เขียนร่วมและศาสตราจารย์ด้านการก่อการร้ายและความรุนแรงทางการเมืองที่สถาบันความมั่นคงและกิจการระดับโลก  แห่งมหาวิทยาลัยไลเดน โดยรายงานนี้จัดทำขึ้นสำหรับผู้ประสานงานระดับชาติเพื่อการต่อต้านการก่อการร้ายของเนเธอร์แลนด์ (NCTV) ศาสตราจารย์ ดิวเวสเทย์น ระบุถึงประเด็นขัดแย้งสามประการของการเจรจา ดังนี้

ประการแรก การเจรจาไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นโดยผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อยุติความขัดแย้งด้วยอาวุธ แต่ฝ่ายที่ทำสงครามอาจใช้การเจรจาเพื่อประหยัดเวลาพักฟื้นหรือเตรียมการสำหรับการรุกครั้งต่อไป 

ประการที่สอง เมื่อการเจรจาเริ่มขึ้นแล้ว ฝ่ายที่เกี่ยวข้องอาจเกิดความแตกแยก ส่งผลให้กลุ่มหัวรุนแรงที่ต่อต้านการประนีประนอมทุกรูปแบบใช้ความรุนแรงมากขึ้นและรุนแรงขึ้น 

ประการที่สาม ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าแม้แต่การเจรจายุติความขัดแย้งที่ประสบความสำเร็จก็มักจะเปราะบางและมักนำไปสู่การกลับมาใช้ความรุนแรงอีกครั้ง ตามสถิติในช่วงปี 1990-1999 ความขัดแย้งมากกว่า 40% ที่ยุติลงด้วยการเจรจายุติความขัดแย้งจะกลับมาปะทุขึ้นอีกครั้งภายใน 5 ปี ดังนั้น ศาสตราจารย์ ดิวเวสเทย์น จึงตั้งคำถามถึงแนวโน้มที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันในการมองว่าการเจรจาเป็นรูปแบบ "ที่พึงปรารถนา" ในการแก้ไขความขัดแย้ง

เพื่อความเข้าใจที่กระจ่างขึ้น ผมจะสรุปข้อสรุปนี้ใหัง่ายลงอีกระดับหนึ่ง คือ

1. ฝ่ายที่ขัดแย้งกันอาจจะทำทีเป็นเข้ามาขจอเจรจาเพื่อถ่วงเวลารอพักฟื้น เมื่อแข็งแกร่งอีกครั้งก็ทำการโจมตีต่อ ในแง่นี้การเจรจาจึงไม่ใช่ทางออก ตรงกันข้าม มันคืออาวุธหนึ่งในการใช้ทำสงครามด้วยซ้ำ

2. เมื่อเริ่มการเจรจา อาจมีกลุ่มย่อยในขบวนการนั้นไม่พอใจที่จะเจรจาด้วย กลุ่มจึงแตกเป็นฝ่ายที่ยอมเจรจากับฝ่ายต่อต้านซึ่งจะก่อการร้ายให้รุนแรงขึ้นไปอีก

3. ข้อนี้ชัดเจนในทางสถิติว่า "ความขัดแย้งมากกว่า 40% ที่ยุติลงด้วยการเจรจายุติความขัดแย้งจะกลับมาปะทุขึ้นอีกครั้งภายใน 5 ปี" ดังนั้น ไม้ต้องอธิบายอะไรเพิ่มอีก 

สุดท้ายแล้ว ศาสตราจารย์ ดิวเวสเทย์นตั้งคำถามว่า ที่เรียกร้องให้มีการเจาจากันนั้นโดนยอกว่ามันคือวิธีการที่พึงปรารถนา แท้จริงแล้วมันเป้นแบบนั้นหรือ? หากพิจารณาจากผลการวิจัยที่สรุปมา (ซึ่งพบว่า "การเจรจากับผู้ก่อการร้าย" ไม่ค่อยจะได้ผล)

มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าหากความขัดแย้งยุติลงด้วยชัยชนะทางทหารจะส่งผลระยะยาวอย่างไร? และมันเป็นที่ยอมรับในทางศีลธรรมหรือไม่ที่จะปล่อยให้ความขัดแย้งดำเนินไปและยอมรับการสูญเสียมากขึ้น? ศาสตราจารย์ ดิวเวสเทย์นตอบด้วยการโต้แย้งว่าแม้ว่าความขัดแย้งที่ยุติลงด้วยชัยชนะทางทหารดูเหมือนจะไม่มีแนวโน้มที่ความขัดแย้งจะปะทุขึ้นมาอีก (ซึ่งจากจากการเจรจายุติความขัดแย้งซึ่งมักจะกลับมาขัดแย้งกันอีก) แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการใช้กำลังทหารถึงที่สุดจะพึงปรารถนามากกว่า เพราะในกรณีหลัง ฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถหยิบอาวุธขึ้นมาได้อีกต่างหากการต่อสู้จึงยุติลง

อย่างไรก็ตาม มีทัศนะโต้แย้งเช่นกัน จาก โอลิเวียร์ บานเกอร์เทอร์ (Olivier Bangerter) ในเวลานั้นเป็นที่ปรึกษาของ ICRC ด้านการเจรจากับกลุ่มติดอาวุธ ต่อมาเป้นเอกอัครราชทูตประจำประเทศต่างๆ ของสาธารณรัฐสวิส 

บานเกอร์เทอร์  โต้แย้งว่าหากรัฐบาลตัดสินใจละเลยผู้กระทำผิดติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ รัฐก็อาจทำให้กลุ่มดังกล่าวก่อความรุนแรงมากขึ้น เพราะจะเป็นการปิดกั้นเส้นทางสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง และปิดกั้นการการบูรณาการนักรบติดอาวุธกลับคืนสู่สังคม

บานเกอร์เทอร์ ยังกล่าวต่อไปว่า ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อศึกษาสถิติแล้ว จะเห็นได้ชัดว่าในความขัดแย้งระหว่างรัฐกับกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐ (เช่นกลุ่มแบ่งแยกดินแดน) มีความแตกต่างอย่างมากในระดับความรุนแรงที่ฝ่ายต่างๆ ใช้ ในบางกรณี รัฐใช้ความรุนแรงมากกว่ากลุ่มติดอาวุธ ดังนั้น การที่กลุ่มเหล่านี้ถูกเพิกเฉย ทำให้บทบาทที่กลุ่มบางกลุ่มอาจทำได้ในบางโอกาสถูกละเลย ส่งผลให้กลุ่มดังกล่าวถูกบีบให้เข้าสู่การเคลื่อนไหวรุนแรง 

บานเกอร์เทอร์ สรุปโดยอ้างคำพูดของสมาชิกกลุ่มติดอาวุธว่า "พวกเขาเรียกเราว่าผู้ก่อการร้าย เราแสดงให้พวกเขาเห็นว่าเราก็สามารถเป็นผู้ก่อการร้ายได้เช่นกัน"

นี่คือทัศนะหลักของการเสวนาในครั้งนั้น ซึ่งผมเห็นว่าเป็นแนวทางที่มีประโยชน์มากโดยเฉพาะข้อสรุปของศาสตราจารย์ ดิวเวสเทย์นซึ่งทำอย่างมีระบบตามขั้นตอนวิชาการ ทำให้เห็นว่าการเจรจามากว่าครึ่งหนึ่งตามมาด้วยการเผชิญหน้ากันอีก และดูเหมือนว่าศาสตราจารย์ ดิวเวสเทย์นจะมองว่าวิธียุติความขัดแย้ง คือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่เป็นฝ่ายแพ้ใน "สงคราม" จนกระทั่งไม่มีอะไรจะนำมาสู้ได้อีก แม้ว่าเธอจะยอมบอกว่ามันคือ "วิธีการที่พึงปรารถนา" ก็ตาม

ผมนำทัศนะของผู้เชี่ยวบาญมาให้อ่านดู แล้วพี่น้องชาวไทยพิจารณากันเองก็แล้วกันว่าควรจะใช้แนวทางไหน ถามว่าคนไทยจะผลักดันอะไรได้กับเรื่องนี้? ตอบว่าก็ผลักดันพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ปัญหาไฟใต้ที่ชัดเจนไปเลยครับ เช่น ถ้าสนับสมนุนการเจรจา ก็ต้องชัดว่าเจรจาแบบไหน และเป้าหมายคืออะไร หรือหากมีพรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุนการเจรจา ก็สามารถสนับสนุนพรรคนั้นได้เช่นกัน แต่ผมไม่เห็นมีพรรคไหนที่สนใจแก้ปัญหานีด้วยวิธีหลัง 

ในยุโรปนั้นมักจะประกาศมานะของตนว่า "เราไม่ยอมเจรจากับผู้ก่อการร้าย" ส่วนหนึ่งเพื่อกำหนดเส้นแบ่งระหว่างรัฐที่ชอบธรรมกับอีกฝ่ายที่ไม่ชอบธรรม แต่เบื้องหลังแล้วรัฐบาลเหล่านั้นมักจะแอบเจรจากับฝ่ายก่อการร้ายลับหลัง

ในสงครามมันมีการเมืองซ่อนอยู่ และในการเมืองก็ต้องทำสงครามเหมือนกัน วิถีของโลกมันก็แบบนี้แหละครับ

บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better

Photo - นาวิกโยธินไทยเข้าร่วมการฝึกซ้อมรบสะเทินน้ำสะเทินบก ณ ค่ายจุฬาภรณ์ จังหวัดนราธิวาส ทางภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 (ภาพโดย Madaree TOHLALA / AFP)
 

TAGS: #แบ่งแยกดินแดน #ก่อการร้าย