ศัตรูหมายเลข 1 ของทรัมป์ไม่ใช่'จีน' แต่เป็น'Deep state'ที่กุมอำนาจเบื้องหลังรัฐ 

ศัตรูหมายเลข 1 ของทรัมป์ไม่ใช่'จีน' แต่เป็น'Deep state'ที่กุมอำนาจเบื้องหลังรัฐ 

เมื่อเดือนมีนาคาม ปี 2023 โดนัลด์ ทรัมป์ (ซึ่งในเวลานี้คือว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่อีกสมัยหนึ่ง) ได้ประกาศแผนการที่จะ "คืนอำนาจกลับคืนสู่ประชาชนชาวอเมริกัน" ด้วยการกำจัดกลุ่ม Deep state ด้วยการไล่ข้าราชการนอกกฎหมายและนักการเมืองอาชีพออก และกำจัดการทุจริตในรัฐบาล

แผนนี้ยังจะยุติการนำระบบยุติธรรมมาใช้เป็นอาวุธ (หรือ 'นิติสงคราม') ซึ่งมีเป้าหมายโจมตีศัตรูทางการเมืองเพียงเพราะความเชื่อทางการเมืองหรือศาสนาของพวกเขา

Deep state คืออะไร?
รัฐซ้อนรัฐ หรือ Deep state คือรูปแบบหนึ่งของรัฐบาลที่ประกอบด้วยเครือข่ายอำนาจที่เป็นความลับและไม่ได้รับอนุญาตซึ่งดำเนินการอย่างอิสระจากผู้นำทางการเมืองของรัฐเพื่อแสวงหาวาระและเป้าหมายของตนเอง 

แนวคิดนี้แพร่หลายในหมู่ผู้ที่เชื่อทฤษฎีสมคบคิดทางการเมืองของอเมริกา โดยพวกเขาเชื่อว่า Deep state เป็นเครือข่ายลับของสมาชิกในรัฐบาลกลาง (โดยเฉพาะภายใน FBI และ CIA) ที่ทำงานร่วมกับองค์กรและผู้นำทางการเงินและอุตสาหกรรมระดับสูงเพื่อใช้พลังอำนาจควบคู่ไปหรือภายในรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการเลือกตั้ง 

เครือข่ายของ Deep state คือกลุ่มอีลีทที่ควบคุมผลประโยชน์ของตัวเองและวาระทางการเมืองของตัวเองไม่้วาสหรัฐฯ จะเปลี่ยนผู้นำไปกี่คนแล้วก็ตาม กลุ่มนี้ก็ยังจะชักใยและบงการอยู่เบื้องหลังโดยผ่านระบบราชการที่ซับซ้อน นักการเมืองที่มีอิทธิพลมายาวนาน ไปจนถึงสื่อมวลชนในมือของกลุ่มการเงินขนาดใหญ่

การสำรวจความคิดเห็นที่ดำเนินการในปี 2017 และ 2018  แสดงให้เห็นว่าคนอเมริกันประมาณครึ่งหนึ่งเชื่อว่ามี Deep state หรือ รัฐซ้อนรัฐ อยู่ในสหรัฐอเมริกา และหนึ่งในคนที่เชื่อเรื่องนี้ คือ โดนัลด์ ทรัมป์ แต่เขาไม่ได้แค่เชื่อ เขายังประกาศที่จะโค่นล้มมันอีกด้วย 

ทำไมทรัมป์ถึงเป็นศัตรูกับ Deep state?
ในระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกทรัมป์และนักยุทธศาสตร์ของเขาได้กล่าวหาว่ากลุ่มรัฐซ้อนรัฐกำลังแทรกแซงวาระของเขา และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มรัฐซ้อนรัฐ และผู้สนับสนุนทรัมป์ยังอ้างว่าเจ้าหน้าที่ข่าวกรองและเจ้าหน้าที่รัฐบาลกำลังมีอิทธิพลต่อนโยบายของประเทศ ผ่านการปล่อยข้อมูลหรือวิธีการบ่อนทำลายจากภายในวิธีการต่างๆ 

ต่อมาในการหาเสียงเพื่อเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง ทรัมป์ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Time เมื่อเดือนเมษายนพูดถึงแผนของเขาในการรื้อถอนรัฐซ้อนรัฐว่า "มันหมายความว่าเราต้องการกำจัดคนเลว คนที่ไม่ได้ทำหน้าที่ได้ดีในรัฐบาล และเรามองคนเหมือนที่บริษัทมองคน คุณรู้ไหมว่าเมื่อคุณซื้อบริษัท คุณเข้าไปและมองว่าคุณชอบงานนั้นอย่างไร ประสิทธิภาพในการทำงาน พวกเขามีมาตรฐานประสิทธิภาพในการทำงาน ใช่แล้ว เราต้องการกำจัดคนที่ทำงานได้ไม่ดีออกไป และยังมีอีกหลายคน”

ครั้งนี้เขาต้องการล้างบางระบบราชการครั้งใหญ่ โดยในการชุมนุมหาเสียงเมื่อเดือนกันยายน ทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะปฏิรูประบบราชการของรัฐบาลกลาง ยุบกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดเป้าหมายใหม่ให้กระทรวงยุติธรรม และไล่ข้าราชการที่ถูกกล่าวหาว่าดำเนินนโยบายของรัฐบาลไบเดนที่เขาไม่เห็นด้วยออกไป 

ทรัมป์จะเชือด Deep state แบบนี้
ต่อไปนี้คือแผนของทรัมป์ที่จะทำลายล้าง Deep state และคืนอำนาจให้กับประชาชนชาวอเมริกัน เขาแถลงว่า “ผมจะทำลายล้างรัฐซ้อนรัฐและฟื้นฟูรัฐบาลที่ควบคุมโดยประชาชน”  

ในการกำจัดรัฐซ้อนรัฐ ทรัมป์ได้ประกาศแผน 10 ประการที่จะทำลายและ "นำประชาธิปไตยของเรากลับคืนมาจากพวกทุจริตในวอชิงตัน" ดังนี้ 

1. ในวันแรก เขาจะรื้อฟื้นคำสั่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2020 (ตอนที่เขาอยู่ในตำแหน่งสมัยแรก) อีกครั้งเพื่อคืนอำนาจของประธานาธิบดีในการไล่ข้าราชการที่ทุจริต

2. ยกเครื่องหน่วยงานและแผนกของรัฐบาลกลาง ไล่ผู้ทุจริตทั้งหมดในหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติและข่าวกรองของประเทศ ทรัมป์กล่าวว่า "เราจะกำจัดผู้ทุจริตทั้งหมดในหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติและหน่วยข่าวกรองของเรา และยังมีพวกเขาอยู่มากมาย หน่วยงานและแผนกต่างๆ ที่ถูกนำไปใช้เป็นอาวุธจะถูกยกเครื่องใหม่ทั้งหมด เพื่อที่ข้าราชการที่ไม่มีตัวตนจะไม่สามารถโจมตีและข่มเหงพวกอนุรักษ์นิยม คริสเตียน หรือศัตรูทางการเมืองของพวกฝ่ายซ้ายได้อีกต่อไป ซึ่งพวกเขากำลังทำอยู่ในขณะนี้ในระดับ (ความรุนแรง) ที่ไม่มีใครเชื่อว่าจะเป็นไปได้"

3. ปฏิรูปศาล FISA (ศาลที่ตัดสินคดีว่าด้วยกฎหมายการเฝ้าระวังข่าวกรองต่างประเทศ) อย่างจริงจัง เพื่อให้แน่ใจว่าการทุจริตจะถูกกำจัดให้หมดสิ้น เนื่องจาก ทรัมป์เห็นว่ากระบวนการของศาล FISA ถูกบ่อนทำลายโดยรัฐบาลของโอบามา-ไบเดน ในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2016 ศาล FISA ได้ออกหมายจับหลายฉบับเพื่อสอดส่องสมาชิกทีมหาเสียงของทรัมป์ ซึ่งต่อมาผู้ตรวจการกระทรวงยุติธรรมประกาศว่าเป็นโมฆะ เนื่องจาก FBI ได้ "ให้ข้อมูลเท็จอย่างสำคัญ" ในการขอหมายจับพวกเขา

4. จัดตั้งคณะกรรมการความจริงและการปรองดองเพื่อเปิดเผยและเผยแพร่เอกสารทั้งหมดเกี่ยวกับการสอดส่อง การเซ็นเซอร์ และการใช้อำนาจในทางที่ผิดของรัฐซ้อนรัฐ

5. เริ่มการปราบปรามผู้ปล่อยข้อมูลของรัฐบาลที่สมคบคิดกับสื่อเพื่อสร้างเรื่องราวเท็จ โดยแจ้งข้อกล่าวหาทางอาญาเมื่อเหมาะสม

6. ยกเครื่องสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินทุกแห่ง ให้เป็นอิสระจากกระทรวงที่ดูแลตรวจสอบอยู่ เพื่อที่หน่วยงานเหล่สนี้จะได้ไม่กลายเป็นผู้ปกป้องรัฐซ้อรัฐ

7. จัดตั้งระบบการตรวจสอบอิสระเพื่อเฝ้าติดตามหน่วยข่าวกรองของประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่าหน่วยงานเหล่านี้ไม่ได้สอดส่องพลเมืองอเมริกันหรือดำเนินการปล่อยข้อมูลเท็จต่อชาวอเมริกัน

8. ต่อยอดความพยายามของรัฐบาลทรัมป์เมื่อสมัยที่แล้วต่อไปเพื่อย้ายบางส่วนของระบบราชการของรัฐบาลกลางออกไปนอกกรุงวอชิงตัน เช่นเดียวกับที่ประธานาธิบดีทรัมป์ย้ายสำนักงานจัดการที่ดินไปที่รัฐโคโลราโด โดยตำแหน่งในรัฐบาลสูงสุด 100,000 ตำแหน่งอาจถูกย้ายออกจากวอชิงตัน เพราะเขาเชื่อว่าระบบราชการคือสิ่งที่รองรับรัฐซ้อนรัฐอยู่

9. ห้ามข้าราชการของรัฐบาลกลางเข้าทำงานในบริษัทที่พวกเขาติดต่อและควบคุมดูแล เช่น บริษัทเวชภัณฑ์ขนาดใหญ่ เนื่องจากเขาเชื่อว่าข้าราชการเหล่านี้จะทำงานรับใช้ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่กุมชะตาชีวิตของประชานเอาไว้ โดยใช้เส้นสายและอำนาจที่มีอยู่เดิมในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับบริษัทเทคใหญ่ๆ ด้วย โดยที่เจ้าหน้าที่จาก FBI และ DHS (กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา) สมคบคิดโดยตรงกับบริษัทโซเชียลมีเดียในช่วงการเลือกตั้งปี 2020 เพื่อเซ็นเซอร์ความเห็นของชาวอเมริกัน

10. ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกรัฐสภา เพราะเชื่อว่านักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งนานเกินไป และมีอิทธิพลควบคุมคณะกรรมาธิการต่างๆ ที่สำคัญของชาติ จะคอยสนองผลประโยชน์ของพวกรัฐซ้อนรัฐ

จากการศึกษาพบว่า อัตราการเลือกตั้งซ้ำเข้ามารับตำแหน่งเดิมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ที่ 94% และในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา อัตราการเลือกตั้งซ้ำสำหรับวุฒิสภาในปี 2022 อยู่ที่ 100% และไม่เคยลดลงต่ำกว่า 75% ตั้งแต่ปี 1982 ดังนั้น ทรัมป์จึงเห็นว่าจำเป็นต้องมีการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของรัฐสภาเพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของนักการเมืองอาชีพ 

ทีมข่าวต่างประเทศ The Better 
Photo by Giorgio Viera / AFP

TAGS: #ทรัมป์