ทำไมคะแนนเยอะกว่าแต่ก็ยังแพ้เลือกตั้ง คุณต้องเข้าใจนี่คือประชาธิปไตยแบบอเมริกัน

ทำไมคะแนนเยอะกว่าแต่ก็ยังแพ้เลือกตั้ง คุณต้องเข้าใจนี่คือประชาธิปไตยแบบอเมริกัน
ชนะการเลือกตั้งแต่ยังแพ้? นี่คือพลังของ "คณะผู้เลือกตั้ง" (Electoral College) ของสหรัฐอเมริกา

ตอนที่โดนัลด์ ทรัมป์ สวนกระแสผลสำรวจความเห็นและความคาดหวังที่เขาจะแพ้ แต่แล้วเขากลับเอาชนะฮิลลารี คลินตันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2016 ได้ เขาบรรยายถึงชัยชนะนั้นว่า "มันช่างสวยงาม"

แต่ไม่ใช่ทุกคนจะคิดแบบนั้น เพราะคลินตันจากพรรคเดโมแครตได้รับคะแนนเสียงมากกว่าคู่แข่งจากพรรครีพับลิกันเกือบสามล้านคะแนนทั่วประเทศ แต่กลับเป็นฝ่ายแพ้ เรื่องนี้ทำชาวต่างชาติรู้สึกงุนงงเป็นพิเศษที่ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดเป็นอันดับสองจะเป็นประธานาธิบดีเสียอย่างนั้น

แต่ทรัมป์ได้ทำในสิ่งที่ระบบของสหรัฐฯ ต้องการ นั่นคือ ชนะในรัฐต่างๆ มากพอ บางครั้งด้วยคะแนนที่ห่างกันเพียงเล็กน้อย เพื่อแซงหน้าคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) จำนวน 270 คะแนนที่จำเป็นในการปูทางไปสู่ทำเนียบขาว

ตอนนี้ ก่อนถึงการเผชิญหน้ากันในการเลือกตั้งปี 2024 ระหว่างทรัมป์และกมลา แฮร์ริสจากพรรคเดโมแครต กฎเกณฑ์ของระบบที่ลึกลับและล้าสมัยนี้กำลังกลับมาสร้างความงุนงงกัรอีกครั้ง

- ทำไมต้องมีคณะผู้เลือกตั้ง? -
วิธีการลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีมีกระบวนการแบบนี้ คือ สมาชิกคณะเลือกตั้ง (Electoral College) ของสหรัฐฯ จำนวน 538 คนจะรวมตัวกันที่เมืองหลวงของแต่ละรัฐหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุกๆ สี่ปี เพื่อกำหนดผู้ชนะ

ผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากที่แน่นอนจาก "ผู้เลือกตั้ง" (electors) หรือสมาชิกของคณะเลือกตั้ง โดยคะแนนเสียงส่วนมากคือ 270 คนจากทั้งหมด 538 คน จึงจะชนะการเลือกตั้ง

ระบบดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นมาจากรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ในปี 1787 โดยกำหนดกฎเกณฑ์สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีแบบอ้อมรอบเดียว

บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งประเทศมองว่าระบบดังกล่าวเป็นทางประนีประนอมระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงที่มีสิทธิออกเสียงทั่วไปของประชาชน และการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยใช้การลงคะแนนเสียงของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกปฏิเสธเนื่องจากไม่เป็นประชาธิปไตยเพียงพอ

เนื่องจากรัฐหลายแห่งมีแนวโน้มเอียงไปทางพรรครีพับลิกันหรือพรรคเดโมแครตชัดเจนอยู่แล้ว ผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีจึงเน้นไปที่รัฐ "ชี้ชะตา" หรือรัฐที่คะแนนเสียงอาจเหวี่ยงไปทางพรรคใดพรรคหนึ่งไม่แน่นอน (Swing states) เพียงไม่กี่รัฐที่การเลือกตั้งจะพลิกกลับมา โดยแทบไม่สนใจรัฐใหญ่ๆ บางรัฐ เช่น แคลิฟอร์เนียที่มีแนวโน้มเอียงไปทางซ้าย (เดโมแครต) และเท็กซัสที่มีแนวโน้มเอียงไปทางขวา (รีพับลิกัน)

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีการเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมหลายร้อยครั้งต่อรัฐสภาเพื่อพยายามแก้ไขหรือยกเลิกคณะผู้เลือกตั้ง แต่ไม่มีครั้งใดประสบความสำเร็จ

ชัยชนะของทรัมป์ในปี 2016 จุดชนวนให้เกิดการถกเถียงอีกครั้ง และหากการเลือกตั้งในปี 2024 เป็นตัวจุดชนวนที่ลุ้นระทึกใจตามที่โพลส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ คณะผู้เลือกตั้งก็จะกลับมาเป็นจุดสนใจอีกครั้งอย่างแน่นอน

- ผู้เลือกตั้ง 538 คนคือใคร -
ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการเลือกตั้งในท้องถิ่นหรือผู้นำพรรคการเมือง แต่ชื่อของพวกเขาจะไม่ปรากฏบนบัตรลงคะแนน

แต่ละรัฐมีผู้เลือกตั้งเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐ (จำนวนขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรของรัฐ) บวกกับวุฒิสภา (รัฐละสองคน ไม่ว่าจะมีขนาดเท่าใดก็ตาม)

ตัวอย่างเช่น แคลิฟอร์เนียมีผู้เลือกตั้ง 54 คน เท็กซัสมี 40 คน ส่วนอะแลสกา เดลาแวร์ เวอร์มอนต์ และไวโอมิงซึ่งมีประชากรเบาบางมีเพียงรัฐละ 3 คน

กรุงวอชิงตัน เมืองหลวงของสหรัฐ ก็มีผู้เลือกตั้ง 3 คนเช่นกัน แม้ว่าจะไม่มีสมาชิกที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงในรัฐสภาก็ตาม

รัฐธรรมนูญปล่อยให้รัฐต่างๆ ตัดสินใจว่าการลงคะแนนเสียงของผู้เลือกตั้งจะใช้วิธีอย่างไร ซึ่งในเกือบทุกๆ รัฐ ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดจะได้รับคะแนนเสียงของคณะเลือกตั้งทั้งหมดไปโดยปริยาย (ยกเว้น 2 รัฐ คือ เนแบรสกาและเมน ซึ่งมอบคะแนนเสียงให้กับผู้เลือกตั้งบางส่วนตามเขตเลือกตั้งของรัฐสภา)

- สถาบันที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง -
ในเดือนพฤศจิกายน 2016 ทรัมป์ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้ง (electoral votes) จำนวน 306 คะแนน ซึ่งมากกว่า 270 คะแนนที่ผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีต้องการ แต่ว่ากันด้วยคะแนนเสียงของประชาชนทั้งประเทศ (popular vote) แล้ว เขาแพ้ฮิลลารี คลินตัน

สถานการณ์พิเศษที่แพ้คะแนนเสียงประชาชนส่วนใหญ่ (popular vote) แต่ชนะด้วยคะแนนเสียงของคณะเลือกตั้ง (electoral votes) จนได้ทำเนียบขาวไปครองนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่

ประธานาธิบดี 5 คนก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งด้วยวิธีนี้ โดยคนแรกคือจอห์น ควินซี อดัมส์ ในปี 1824

เมื่อไม่นานมานี้ การเลือกตั้งในปี 2000 ส่งผลให้เกิดการพัวพันครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างจอร์จ ดับเบิลยู บุช จากพรรครีพับลิกัน และอัล กอร์ จากพรรคเดโมแครตในฟลอริดา

กอร์ชนะคะแนนเสียงมาก popular vote กว่าบุชเกือบ 500,000 คะแนนทั่วประเทศ แต่เมื่อนับถึงรัฐฟลอริดา (ซึ่งเกิดความวุ่วายขึ้นในการนับคะแนนและท้ายที่สุดแล้วศาลฎีกาสหรัฐฯ ต้องเข้ามาแทรกแซงด้วยการชี้นาด) บุชได้รับคะแนนเสียงจากรัฐนั้นในแง่ของ electoral votes ทำให้คะแนนเสียงของบุชเพิ่มขึ้นเป็น 271 คะแนนและคว้าชัยชนะที่หวุดหวิด

- คะแนนเสียงที่แท้จริงหรือเพียงแค่พิธีการ? -
ไม่มีสิ่งใดในรัฐธรรมนูญที่บังคับให้ผู้เลือกตั้งต้องลงคะแนนเสียงในทางใดทางหนึ่ง

หากรัฐบางแห่งกำหนดให้รัฐต้องเคารพคะแนน popular vote แต่รัฐเหล่านั้นไม่ปฏิบัติตาม พวกเขาก็แค่ต้องจ่ายค่าปรับเพียงเล็กน้อย ตรงกันข้ามกับการยึกมั่นในหลัก electoral votes ปรากฎว่าในเดือนกรกฎาคม 2020 ศาลฎีกาตัดสินว่ารัฐต่างๆ สามารถลงโทษ "ผู้เลือกตั้งที่ไร้ศรัทธา" (faithless electors) หรือสมาชิกคณะเลือกตั้งที่สัญญากับประชาชนว่าจะเลือกพรรคหนึ่ง แกลับใจไปเลือกอีกพรรคหนึ่ง

จนถึงปัจจุบัน สมาชิกคณะผู้เลือกตั้งที่เปลี่ยนใจกลางคันแบบนี้ ไม่เคยกำหนดผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ได้เลย

- กำหนดการลงคะแนนของคณะเลือกตั้ง -
การเลือกตั้งวันที่ 6 พฤศจิกายน คือการเลือกตั้งคณะผู้แทนเลือกตั้ง จากนั้นสมาชิกคณะผู้เลือกตั้งจะรวมตัวกันที่เมืองหลวงของรัฐในวันที่ 17 ธันวาคมและลงคะแนนเสียงให้กับประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี กฎหมายสหรัฐฯ ระบุว่า "ผู้เลือกตั้งจะประชุมและลงคะแนนเสียงในวันอังคารแรกหลังวันพุธที่สองของเดือนธันวาคม" (ในเวลานี้เองที่จะมีกรณี faithless electors เกิดขึ้น แต่เกิดน่อยครั้ง)

ในวันที่ 6 มกราคม 2025 รัฐสภาจะประชุมเพื่อรับรองผู้ชนะ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่น่าจับตามองในรอบนี้ สี่ปีหลังจากที่กลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์โจมตีอาคารรัฐสภาสหรัฐเพื่อพยายามขัดขวางการรับรองชัยชนะของโจ ไบเดน

แต่มีความแตกต่างกัน ครั้งที่แล้ว ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีพรรครีพับลิกันเป็นผู้รับผิดชอบดูแลการรับรองในฐานะประธานวุฒิสภา โดยเขาท้าทายแรงกดดันอย่างหนักจากทรัมป์และฝูงชน และรับรองชัยชนะของไบเดน

ครั้งนี้ ประธานวุฒิสภา ซึ่งจะเป็นผู้รับรองผลการเลือกตั้ง จะไม่ใช่ใครอื่นนอกจากรองประธานาธิบดีในวันนี้ กมลา แฮร์ริส ในฐานะประธานวุฒิสภา

ในวันที่ 20 มกราคม ประธานาธิบดีคนใหม่จะเข้าพิธีสาบานตน ถือเป็นวันแรกที่สหรัฐอเมริกาจะมีประธานาธิบดีคนใหม่อย่างเป็นทางการ

Agence France-Presse
Photo by CHRISTIAN MONTERROSA / AFP

 

TAGS: #เลือกตั้งสหรัฐ2024