สำนักข่าว Phnom Penh Post ของกัมพูชา รายงานว่ากระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬาได้เริ่มดำเนินการรวบรวมบันทึกและหลักฐานศิลปะการต่อสู้โบราณของราชอาณาจักรที่แกะสลักไว้ตามผนังปราสาทหินโบราณต่างๆ ทั่วจังหวัดเสียมเรียบ
โครงการ “การเดินทางสู่นครวัดเพื่อเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้ของเขมร” ซึ่งดำเนินการโดยกรมกีฬาของกระทรวง ได้เปิดตัวเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม
กระทรวงฯ ระบุว่าโครงการนี้มุ่งหวังที่จะรวบรวมหลักฐานและบันทึกดั้งเดิมของศิลปะการต่อสู้โบราณก่อนจะรวบรวมเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการสำหรับคนรุ่นต่อไปของกัมพูชา โดยรับรองว่าหลักฐานเหล่านี้จะไม่สูญหายไปตามกาลเวลา
ธิน วิเชต หัวหน้าศูนย์สถิติและไอซีทีกีฬาแห่งชาติ กล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่เมืองเสียมเรียบว่า “สำนักงานได้จัดตั้งสำนักงานกีฬาตามขนบประเพณี (Traditional Sports Office) ขึ้น ซึ่งมีหน้าที่ค้นคว้าและรวบรวมกีฬาดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เพื่อประโยชน์ร่วมกันของมนุษยชาติ หากเราไม่รวบรวม กีฬาเหล่านี้อาจสูญหายจากรุ่นสู่รุ่น”
ทั้งนี้ สำนักงานได้จัดทริปวิจัยเป็นเวลา 2 วัน ระหว่างวันที่ 28-29 สิงหาคม โดยมีตัวแทนกุนแขมร์ (มวยเขมร) 4 คน และสมาชิกหลายคนของทีมศิลปะการต่อสู้กุนลบกกะตาว (มวยทุบสิงโต) เข้าร่วม โดยทำการวิจัยโดยตรงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และเทคนิคของศิลปะการต่อสู้เขมรโบราณ ซึ่งปรากฏตามผนังของปราสาทหินต่างๆ ในอุทยานโบราณคดีนครวัด
Phnom Penh Post รายงานว่า การวิจัยเบื้องต้นในครรั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับกุนแขมร์ (มวยเขมร) เป็นหลัก ก่อนที่การสำรวจครั้งต่อไปจะขยายและสำรวจศิลปะการต่อสู้ของเขมรแบบดั้งเดิมอื่นๆ
ด้านสำนักข่าว RFI ภาคภาษาเขมรรายงานว่า ในระหว่างการหารือกับเอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชา ซึ่งสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งในกัมพูชาเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 ฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา ได้ขอให้ฝ่ายไทยพิจารณาจดทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมบางส่วนร่วมกับกัมพูชา
ฮุน เซน อธิบายว่าข้อเสนอดังกล่าวมีขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการถือครองร่วมกันของมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านั้น และเพื่อแสดงความสามัคคีและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนรุ่นต่อไป ซึ่งนเรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมเห็นด้วยกับประธานวุฒิสภากัมพูชา
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว RFI ตั้งคำถามว่า "แต่กัมพูชาจะได้ประโยชน์อะไรจากการจดทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมบางส่วนร่วมกับไทย?"
อย่างไรก็ตาม มีความเห็นของผู้ติดตามข่าวของสำนักข่าว RFI แสดงความไม่พอใจกับการเสนอจดทะเบียนวัฒนธรรมร่วม เช่น ชาวกัมพูชาที่ชื่อ Put Rychat แสดงความเห็นว่า "เราพูดมาเสมอว่าพวกนั้น (ไทย) เป็นโจร ถ้าตกลง (จดทะเบียนวัฒนธรรม) ร่วมกันก็เท่ากับโจรได้ 50%"
ชาวกัมพูชาอีกคนที่ชื่อ Sela KP บอกว่า "ในช่วงหลังนี้ ไม่เพียงรัฐบาลกัมพูชาจะรักษาสิ่งที่บรรพบุรุษเขมรสร้างเอาไว้ได้เท่านั้น แต่กลับเสนอให้จดทะเบียนร่วมกับโจร ไม่เข้าใจว่าพวกเขาคิดอะไรอยู่ และอยากรู้ว่าจะคิดอย่างไร มีสมองหรือเปล่า? ทำเป็นผู้จัดการแล้วยังกลัวโจรกระจอก ถ้าคนเขมรร่วมกันด้วยความแข็งแกร่ง ก็จะทำให้ชนชาติอื่นหวาดกลัวและขวัญผวาได้"
คนกัมพูชาที่ชื่อ Art Phearith ชี้ว่า "เขมรก็คือเขมร ไทยก็คือไทย ทำไมต้องเอามารวมกันด้วย เป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลที่มรดกของบรรพบุรุษชาวกัมพูชาที่ไว้ทิ้งให้ลูกหลานชาวกัมพูชาจะได้รับการดูแลากรัฐบาล"
Photo credit - Jean-Pierre Dalbéra from Paris, France - Bas-reliefs du Bayon (Angkor) / CC BY 2.0