จาก 'เยอรมนี' สู่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ กับโมเดลสร้าง 'สถานีรถไฟกลาง'

จาก 'เยอรมนี' สู่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ กับโมเดลสร้าง 'สถานีรถไฟกลาง'
สถานีรถไฟเก่าแก่ที่สุดอยู่ที่ไหน แล้วเหตุใดต้องมีสถานีกลาง ย้อนโมเดลฮับการเดินระบบขนส่งทางราง จากเยอรมนีที่แพร่หลายทั่วโลก

19 มกราคมที่ผ่านมา สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒนได้ฤกษ์คิ๊กออฟให้บริการรถไฟทางไกลเป็นวันแรก ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของระบบขนส่งทางในประเทศไทย หลังสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) กลายเป็นสถานีหลักคู่ผู้โดยสารและวงการรถไฟไทยมานานนับศตวรรษ

สำหรับสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) นับเป็นสถานีรถไฟหลักและเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ก่อสร้างรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้งานเมื่อ  25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 

สถานีกรุงเทพก่อสร้างในลักษณะโดมสไตล์อิตาเลียนผสมผสานศิลปะแบบนีโอเรอเนสซองซ์ ได้รับแรงบันดาลใจจากสถานีรถไฟกลางแฟรงก์เฟิร์ต Frankfurt (Main) Hauptbahnhof มีนาฬิกาขนาดใหญ่รัศมี 80 เซนติเมตร ตั้งอยู่กลางสถานีรถไฟเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่น

ในแง่ประวัติศาสตร์การรถไฟของโลก เป็นที่ทราบว่ารถไฟเกิดขึ้นในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในสหราชอาณาจักร ซึ่งแน่นอนว่าสถานีรถไฟที่เก่าแก่ที่สุดในโลกในปัจจุบันคือสถานีรถไฟ  Broad Green station ในเมืองลิเวอร์พูล สหราชอาณาจักร โดยเปิดให้บริการเมื่อปี 1830 ตรงกับ พ.ศ.2373 ร่วมสมัยกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 

นอกจากสถานี Broad Green station จะเป็นสถานีรถไฟเก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังคงเปิดดำเนินการอยู่แล้ว สถานีแห่งนี้ยังตั้งอยู่บนเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ที่ถือว่า เป็นทางรถไฟระหว่างเมืองสายแรกของโลก (first inter-city railway) คือ เส้นทางรถไฟระหว่างเมืองลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ (Liverpool and Manchester Railway) ซึ่งยังคงวิ่งให้บริการอยู่ในปัจจุบันอีกด้วย

แม้สหราชอาณาจักรจะเป็นชาติที่ต้นกำเนิดของระบบขนส่งทางรางรถไฟ ด้วยขบวนรถจักรไอน้ำในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อปี 1825 แต่ต้องบอกว่า ระบบขนส่งทางรถไฟในสหราชอาณาจักรยุคแรกยังไม่ได้เป็นระบบโครงข่ายเชื่อมต่อถึงกันหมด รถไฟยุคแรกในสหราชอาณาจักรยังเป็นการเชื่อมต่อระหว่างเมืองหัวเมือง เป็นการสร้างขึ้นโดยรัฐให้สัมปทานต่อเอกชนไปดำเนินการ
 
แนวคิดการเกิด 'สถานีรถไฟกลาง' เพิ่งมาแพร่หลายในยุโรปช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 ต้นกำเนิดจากประเทศเยอรมนี โดยมีสถานีรถไฟกลางเมืองฮันโนเวอร์ (Hanover Hauptbahnhof) นับเป็น'สถานีกลาง' แห่งแรกที่ให้บริการในลักษณะฮับการขนส่งทางรางที่เชื่อมต่อการขนส่งทางรางทุกรูปแบบในทุกเส้นทาง ความน่าสนใจของโมเดลสถานีกลางในประเทศเยอรมนีคือ การตั้งชื่อสถานีกลาง (Hauptbahnhof) ตามด้วชื่อเมือง ตัวอย่างเช่น Hanover Hauptbahnhof หรือสถานีกลางฮันโนเวอร์, Berlin Hauptbahnhof สถานีกลางเบอร์ลิน หรือ Frankfurt Hauptbahnhof  สถานีกลางแฟรงก์เฟิร์ต ซึ่งเป็นแม่แบบของแนวคิดสถานีรถไฟกลางกรุงเทพของไทย

ในยุโรปการขยายตัวหรือพัฒนาของเมืองจะสอดคล้องไปกับเส้นทางรถไฟ นั่นหมายความว่าสถานีกลางถือเป็นจุดโฟกัสของการวางผังเมือง ช่วงทศวรรษที่ 1880 เยอรมนีนับว่าเป็นผู้นำโลกในด้านการออกแบบสถานีรถไฟขนาดใหญ่เพื่อรองรับแนวคิดโมเดล Hub ทางรถไฟ ซึ่งไม่เพียงแค่มีอิทธิพลต่อการเดินทางในประเทศเท่านั้น แต่แนวคิดลักษณะนี้ยังแพร่หลายไปยังชาติในยุโรปหลายชาติ ตลอดจนบางประเทศในเอเชียอย่าง ญี่ปุ่นและประเทศไทย 

เมื่อกาลเวลาผ่านไปเมืองแผ่ขยายออกมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สถานีกลางที่เคยอยู่ใจกลางเมือง ห่างจากการเดินทางรูปแบบอื่นเช่น สถานีขนส่ง หรือสนามบิน ทำให้ระบบขนส่งขาดความต่อเนื่องเชื่อมถึงกัน อย่างไรก็ตาม แนวคิดของสถานีกลางกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งช่วง ทศวรรษที่ 1980 จากความแพร่หลายของเส้นทางรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า หรือรถรางเบา นำไปสู่การยกระดับแนวคิดของสถานีกลางในยุโรป ที่ไม่เพียงแค่ศูนย์กลางการเดินทางของรถไฟเท่านั้น แต่สามารถเชื่อมต่อและรองรับการขนส่งได้หลายรูปแบบทั้งเส้นทางชานเมือง ภูมิภาค ในประเทศ หรือแม้แต่รถไฟระหว่างประเทศ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น 

ปัจจุบันหลายชาติในยุโรป นำโมเดลสถานีรถไฟกลางจากเยอรมนีไปใช้อย่างแพร่หลาย อาทิ สถานีแอนต์เวิร์ปเซ็นทรัล (Antwerpen-Centraal ) ประเทศเบลเยี่ยม, สถานีกลางมาดริด (Madrid Estacion Central) ประเทศสเปน, สถานีกลางอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam Centraal station) ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ สถานีกลางนครมิลาน (Stazione di Milano Centrale) ประเทศอิตาลี

TAGS: #รถไฟ #สถานีรถไฟ #หัวลำโพง #สถานีกลางบางซื่อ #สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ #เยอรมนี #สหราชอาณาจักร