'พวกอุจจาระ' คำดูถูกของคนเกาหลีต่อ'คนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้' 

'พวกอุจจาระ' คำดูถูกของคนเกาหลีต่อ'คนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้' 

สถานการณ์เบื้องหลัง
ในขณะนี้คนไทยพร้อมใจกัน "แบนเกาหลี" เพราะรังเกียจการกระทำของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่สั่งให้คนไทย "เข้าห้องเย็น" นั่นคือห้องสอบสวนที่สนามบิน เพื่อซักว่าลักลอบเข้าเมืองหรือไม่ โดยใช้อำนาจการพิจารณาที่คลุมเครือโดยไม่แยกแยะอย่างมีหลักการว่าคนไทยที่มาเกาหลีเป็นนักท่องเที่ยวจริงๆ ไม่ใช่ "ผีน้อย" คือพวกลักลอบเข้าไปทำงานแบบผิดกฎหมาย

แต่เท่านั้นยังไม่พอ พอสื่อเกาหลีใต้รายงานข่าวไทยแบนเกาหลี ก็มีปฏิกิริยาในด้านลบของคนเกาหลีออกมามากมายต่อเมืองไทย เพราะไม่พอใจที่คนไทยบางคนแสดงความเห็นว่าไปเที่ยวจีนและญี่ปุ่นดีกว่า ทำให้คนเกาหลีไม่พอใจถึงขนาดลามไปโจมตีข่าวน้ำท่วมในไทยในทำนองซ้ำเติมไทยต่างๆ นานา ยิ่งทำให้คนไทยยิ่งกระตุ้นแคมเปญ "แบนเกาหลี" กันหนักขึ้นเพื่อตอบโต้ 

กระแส "แบนเกาหลี" ในหมู่คนไทยยังตามมาด้วยการตีแผ่สังคมเกาหลีใต้ว่า ไม่ใช่แดนโรแมนติกเหมือนในซีรีส์หรือภาพยนต์ แต่เต็มไปด้วยภาพลักษณ์ด้านลบที่ซุกซ่อนไว้ หนึ่งในนั้นคือปัญหาการเหยียดคนไทยและคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

สังคมแห่งการเหยียด?
เมื่อเดือนเมษายน 2564 เว็บไซต์ 'มันนี่ทูเดย์' (머니투데이) ของเกาหลีใต้ มีรายงานเรื่องการเหยียด 'คนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้' และคนต่างชาติอื่นๆ ในเกาหลีใต้ โดยชี้ว่า ความเกลียดชังคนต่างชาติและการเลือกปฏิบัติต่อคนต่างชาติเป็นเรื่องที่แพร่หลายในสังคมเกาหลี ทั้งชาวจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฯลฯ "ถูกมองด้วยสายตาเหยียดหยามจากชาวเกาหลี" โดยคนเหล่านี้มาที่เกาหลีในฐานะแรงงานต่างด้าว นักเรียนต่างชาติ ฯลฯ "แต่พวกเขาบอกว่าไม่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเกาหลี"

จากการสำรวจโดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนเกาหลีใต้ ที่สำรวจผู้อพยพต่างชาติในเกาหลีใต้จำนวน 338 ผู้ตอบแบบสอบถาม 68.4% ตอบว่า “มีการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในเกาหลี” สาเหตุของการเลือกปฏิบัติมีดังนี้: ความสามารถทางภาษาเกาหลี (62.3%) สัญชาติ (59.7%) เชื้อชาติ (47.7%) เชื้อชาติ (44.7%) และสีผิว (24.3%)

เมื่อปี 2566 มีไวรัลของ วิเวียน เหวียน (Vivian Nguyen) ติกตอกเกอร์ (TikTokker) ชาวเวียดนามที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการเหยียดชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของคนเกาหลี โดยตอนหนึ่งเธอบอกว่า “เมื่อไอดอลชาวเวียดนามเปิดตัวในเกาหลี ผู้คนจะชมพวกเขาโดยพูดว่า ‘ว้าว คุณดูเหมือนคนเกาหลีเลย’ ซึ่งก็หมายความว่า ‘คุณดูเหมือนพวกเรา (คนเกาหลี) มากเลย คุณสวยจัง’ เหตุผลก็เพราะว่าคนเกาหลีมองว่าคุณ ‘เหนือกว่า’ ในแง่ของรูปลักษณ์”

เหงียนยังกล่าวถึงสมาชิกเกิร์ลกรุ๊ปอีกคนอย่าง 'ลิซ่า Blackpink' โดยกล่าวว่า "สมาชิกชาวไทยอีกคนก็มีชื่อเสียงที่สุดในวงเช่นกัน แต่ไม่ใช่ในเกาหลี" พร้อมเสริมว่า "นั่นเป็นเพราะว่าเธอหน้าตาเหมือนคนไทย เธอหน้าตาเหมือนคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เธอเลยไม่เป็นที่นิยมในเกาหลี)" จากการรายงานของ 'ซออูล คย็องเจ' (서울경제)

ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกคนเกาหลีเหยียดอย่างรุนแรง โดยมักจะถูกเรียก 'ตงนัมอา' (똥남아) โดยเป็นการเล่นคำระหว่างคำว่า ทงนัมอา หรือ ทงนัมมา  (동남아/東南亞) ที่หมายถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับคำว่า ตงหรือทง (똥) ที่แปลว่าอุจจาระ และคำว่า นัมอา (남아) ที่เป็นสร้อยคำที่เติมเข้ามาให้คล้ายคำว่า 'นัมอา' (남아/南亞) หมายถึงเอเชียใต้ แต่ก็หมายถึง 'ผู้ชาย' หรือ 'คน' ได้ด้วย 

มีบางคนเสนอไว้ในเว็บไซต์ namu ซึ่งเป็นสารานุกรมออนไลน์เกี่ยวกับเกาหลีว่า คำว่า 'ตงนัมอา' (똥남아) อาจจะล้อกับคำว่า  'ตมยัมกุง' หรือ 'ตม-นยัม-กุง' (똠얌꿍) หรือต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นอาหารที่มีชื่อเสียงของไทย และเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของความเป็นอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะนอกจากคำว่า 'ตงนัมอา' ที่หมายถึงมนุษย์ขี้เอเชียใต้ที่ใช้ล้อคนอาเซียนนั้น คนเกาหลียังใช้คำที่ออกเสียงคล้ายต้มยำกุ้งว่า ตงยัมอิน (똥냥인) ในการเหยียดด้วย 

เว็บไซต์ namu ยังอธิบายเพิ่มเติมในหัวข้อคำเหยียดต่อชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า  "ตมยัมกุง (똠얌꿍) มีต้นกำเนิดมาจากต้มยำกุ้งของไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศตัวแทนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงอาจถือได้ว่าเป็นคำดูถูกที่เหมารวมผู้คน (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) เข้าด้วยกัน เหมือนกับเรียกคนเอเชียตะวันออกทั้งหมดว่าชิโน (Chino)"

โดยรวมก็คือ คนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกเหยียดว่าเป็น "อุจจาระเอเชียใต้" หรือ "มนุษย์ขี้" นั่นเอง

ในเรื่องนี้ 'มันนี่ทูเดย์' ได้สัมภาษณ์ A (นามแฝง) ซึ่งแรงงานต่างด้าวจากเวียดนาม เธอเปลี่ยนสัญชาติมาเป็นเกาหลีหลังแต่งงานกับสามีชาวเวียดนาม A บอกว่าเธอได้ยินคนเรียกเธอว่า 'ตงนัมอา'  บ่อยๆ ขณะทำงานในร้านอาหาร แม้ว่าเธอจะเป็นพลเมืองเกาหลีแล้ว แต่เธอบอกว่า “เวลาฉันเช็ดโต๊ะในร้านอาหาร ลูกค้าจะเรียกฉันว่า 'ตงนัมอา'  และ ‘คนจากประเทศกำลังพัฒนา’” เธอคร่ำครวญว่า “มันไม่ยุติธรรมเลยที่จะเรียกเธอแบบนั้นเพียงเพราะรูปร่างหน้าตาของฉัน (ที่เป็นชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)”

ในขณะที่สำนักข่าว 'ชุงอังอิลโบ' (중앙일보 หรือ The JoongAng) สัมภาษณ์แรงงานชาวกัมพูชาที่ใช้นามแฝงว่า  A  โดยในปี 2561  ซึ่งเป็นปีแรกที่เขามาเกาหลี A ด้ยินคำแนะนำจากเพื่อนจากบ้านเกิดของเขาซึ่งเคยมาเกาหลีมาก่อนเขาว่า “คนเกาหลีบางคนเรียกชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า 'ตงนัมอา' และ “ไม่ต้องสนใจมันหรอก แม้ว่ามันจะทำให้นายรู้สึกแย่ก็ตาม” ซึ่งคำว่า 'ตงนัมอา' มีความหมายถึงความสกปรกโสโครก A  กล่าวว่าคนเกาหลีมักใช้คำนี้เพื่อดูถูกชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ชาวเกาหลีใต้ทุกคนที่มีทัศนคติแบบนี้ ในช่องคอมเมนต์ของ 'ชุงอังอิลโบ' มีผู้มาแสดงความเห็นของ hack****  ว่า "คำพูดต่างๆ เช่น 'ตงนัมอา' เป็นการดูหมิ่นและทำลายศักดิ์ศรีของพวกเราทุกคน ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสมาชิกที่สำคัญของสังคม และเราควรเคารพการมีส่วนร่วมและความพยายามของพวกเขา คำพูดดูถูกดังกล่าวไม่ต่างจากการที่คนผิวขาวเลือกปฏิบัติต่อชาวเกาหลี เราต้องจำไว้ว่าเราเจ็บปวดเพียงใดในตอนนั้น เราต้องไม่ลืมเรื่องนี้ และเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกันเพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้น สำหรับชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราขออยู่เคียงข้างคุณ เรามาต่อสู้ร่วมกันเพื่อสังคมที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติ" 

ความเห็นนี้มีคนกด 'ชอบ'  1 คน แต่มีคนกด 'ไม่ชอบ' 2 คน

ทีมข่าวต่างประเทศ The Better

Photo - คนงานที่สวมหน้ากากกำลังลากรถเข็นข้ามถนนในกรุงโซลเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2023 (ภาพโดย Anthony WALLACE / AFP)
 

TAGS: #แบนเกาหลี