สำนักข่าวโยมิอูริ รายงานว่า ระหว่างร่วมรายการ TV Tokyo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น คัตสึโนบุ คาโตะถูกถามถึงความเป็นไปได้ที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศว่าจะไม่ขายพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐฯ (หรือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือพันธบัตรสหรัฐฯ) ที่ถือครองไว้อย่างง่ายดายในระหว่างการเจรจาภาษีศุลกากรระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ หลังจากที่เคยมีข่าวว่าญี่ปุ่นเตรียมเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ เพื่อใช้เป็นเครื่องต่อรองการเจรจาเรื่องภาษี แต่ในครั้งนั้นมีการปฏิเสธความเป็นไปได้โดยรัฐบาลญี่ปุ่นไปแล้ว
อย่างไรก็ตามในคราวนี้ คัตสึโนบุ คาโตะ กล่าวว่า "เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะถือไพ่ต่อรองทั้งหมดไว้บนโต๊ะในขณะที่เราหารือเรื่องนี้" และเขายังย้ำว่าญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนสำคัญของสหรัฐฯ ในแง่ของการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม จากคำกล่าวช่วงหลังของ คัตสึโนบุ คาโตะ ทำให้เกิดความกังวลได้ง่ายๆ ว่า แม้ญี่ปุ่นจะเป็นหุ้นส่วนสำคัญของสหรัฐฯ แต่การบอกว่าเป้นหุ้นส่วน "ในแง่ของการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ" อาจมีความหมายว่า "ญี่ปุ่นเป็นเพื่อนที่ดีของสหรัฐฯ แต่ในเวลาเดียวกันญี่ปุ่นก็มีพันธบัตรของสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นการช่วยค่ำชูกระแสเงินตราของสหรัฐฯ" ในแง่นี้มีนัยว่าญี่ปุ่น "มีบุญคุณ" ต่อสหรัฐฯ
แต่เมื่อพิจารณาคำกล่าวแรกของ คาโตะ ที่ว่า "เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะถือไพ่ต่อรองทั้งหมดไว้บนโต๊ะในขณะที่เราหารือเรื่องนี้" และบวกกับการย้ำว่าญี่ปุ่น "ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จำนวนมาก" ก็สามารถตีความได้ว่าแม้ญี่ปุ่นจะทวงบุญคุณสหรัฐฯ ที่ช่วยซื้อพันธบัตรเอาไว้ แต่หากสหรัฐฯ ไม่ซาบซึ้งในบุญคุณของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นก็อาจใช้การขายพันธบัตรเป็นเครื่องต่อรองได้
ทั้งนี้ หากมีการเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ ราคาตลาดของพันธบัตรเหล่านั้นจะลดลง และอัตราผลตอบแทน (อัตราดอกเบี้ย) ที่เสนอให้จะเพิ่มขึ้น สาเหตุมาจากอุปทานพันธบัตรที่ขายได้มากขึ้นและมีผู้ซื้อน้อยลง ทำให้ราคาพันธบัตรลดลง ซึ่งหมายความว่าสหรัฐฯ จะ "กู้เงิน" จากการปล่อยพันธบัตรได้น้อยลง (เงินเข้าประเทศน้อยลง) แต่ในทางกลับกันก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยจากการ "กู้เงิน" ผ่านพันธบัตรมากขึ้น พูดสั้นๆ ก็คือ กรเทขายพันธบัตรโดยผู้ถือพันธบัตรจะทำให้สหรัฐฯ เสียหายทางการเงินอย่างหนัก
แต่สิ่งที่จะตามมาอีกอย่างก็คือ เมื่อมีการเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ ก็เท่ากับความความต้องการพันธบัตรสหรัฐฯ ลดลง และจะส่งผลต่อความต้องการเงินดอลาร์ที่ลดลง ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐาลทรัมป์ไม่ต้องการในเวลานี้ เพราะเป้าหมายของ "ทีมเศรษฐกิจเบื้องหลังทรัมป์" คือการทำให้สหรัฐฯ ได้เปรียบดุลการค้าแบบครบวงจร เพื่อทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมาอีก
สำนักข่าวโยมิอูริ ซึ่งเป็นสื่อชั้นนำของญี่ปุ่นได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า "เบื้องหลังคำพูดของคาโตะคือ “การตกต่ำสามคำ” ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งหุ้น พันธบัตร และสกุลเงินทั้งหมดตกต่ำลงเนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศ “ภาษีศุลกากรซึ่งกันและกัน”
แน่นอนว่ากลไกทั้งหมดยังเชื่อมโยงกับการที่ "ประเทศคู่กรณี" ของทรัมป์จะทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีกหรือไม่ด้วยการเทขายพันธบัตร ซึ่งตามข้อมูลของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า เมื่อพิจารณาจากจำนวนพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่แต่ละประเทศถือครอง (ณ เดือนกุมภาพันธ์) ญี่ปุ่นถือครองมูลค่า 1.1259 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 163 ล้านล้านเยน) คิดเป็น 13% ของทั้งหมด ทำให้ญี่ปุ่นเป็นผู้ถือครองรายใหญ่ที่สุด
ส่วนประเทศที่ถือพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐฯ มากเป็นอันดับที่ 2 คือจีน ที่ 8.16 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากตัวเลขช่วงปลายเดือนธันวาคมปี 2023 ซึ่งในกรณีของจีนนั้นที่ผ่านมามีความกังวลในหมู่นักวิเคราะห์และนักลงทุนบางว่าจีนอาจเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ เหล่านี้เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของญี่ปุ่นแม้จะมีการส่งสัญญาณมาแล้วว่าจะใช้พันธบัตรเป็นเครื่องต่อรองได้เหมือนกัน แต่คาโตะกล่าวถึง “ไพ่ต่อรอง” นี้ว่า “ไม่ว่าจะเล่นไพ่นี้หรือไม่นั้นเป็นการตัดสินใจอีกเรื่องหนึ่ง”
โดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better
Photo - นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชิเงรุ อิชิบะ (ซ้าย) และรัฐมนตรีคลัง คัตสึโนบุ คาโตะ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการรัฐสภาในกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2025 (ภาพโดย Kazuhiro NOGI / AFP)