'อองเซยะ'ผู้ทำให้มอญสิ้นชาติและรุกรานอยุธยา เบื้องหลังชื่อปฏิบัติการชิงเมียวดี

'อองเซยะ'ผู้ทำให้มอญสิ้นชาติและรุกรานอยุธยา เบื้องหลังชื่อปฏิบัติการชิงเมียวดี

Operation Aung Zeya คือชื่อปฏิบัติชิงเมืองเมียวดีคืนมาของกองทัพเมียนมา

มีบางคนอธิบายไปบ้างแล้วว่าชื่อของปฏิบัติการนี้หมายถึงชื่อของกษัตริย์พม่าที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง แต่ไม่ได้อธิบายให้ชัดว่ายิ่งใหญ่แค่ไหน?

และไม่ได้ไขรหัสว่าชื่อของกษัตริย์องค์นี้มีนัยต่อการปราบปรามชนกลุ่มน้อยอย่างไร

ผมจึงขอรับหน้าที่เล่าประวัติของ "อองเซยะ"  และอธิบายความนัยให้รับรู้ เพื่อเขาใจสถานการณ์การรบในเมียนมาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

อองเซยะ เกิดในปี ค.ศ. 1714  เป็นลูกชายของผู้ใหญ่บ้านมกโซโบ ราวๆ 113 กิโลเมตรจากเมืองหลวงของอาณาจักรตองอู คือนครอังวะ (ทางตอนใต้ของเมืองมัณฑเลย์ในปัจจุบัน)ถึงแม้ว่าจะเป็นแค่ลูกผู้ใหญ่บ้านในชนบทห่างไกล แต่เขาอ้างว่าตระกูลของเขาสืบเชื้อสายกษัตริย์ สืบทอดมาตั้งแต่ตั้งพระเจ้าโม่ญี่นตะโด้ กษัตริย์พระองค์ที่ 8 แห่งอังวะ ระหว่าง ค.ศ. 1426–1439 

ถึงจะห่างจะบรรพบุรุษที่เป็นกษัตริย์เกือบ 300 ปี แต่การอ้างนี้จะเป็นประโยชน์กับตัวเขาในอนาคต ดูๆ ไปแล้วไม่ต่างจาก "เล่าปี" วีรบุรุษในยุคสามก๊กมากนัก ซึ่งอ้างว่าเป็นพระเชื้อพระวงศ์ฮั่น ทั้งๆ ที่ห่างจากกษัตริย์ฮั่นหลายชั่วคนนับร้อยๆ ปี จนถึงรุ่นของเล่าปีเองนั้นกลายเป็น "ไพร่" ที่ยากจนมากแล้ว 

แต่ทั้ง อองเซยะและเล่าปี่ ที่เป็น "เชื้อพระวงศ์ตกอับ" จะมีวาสนาที่คล้ายกันมาก เมื่อทั้งคู่ถูกโชคชะตาพลิกชีวิตให้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ในเวลาที่เขาเติบขึ้นมานั้น อาณาจักรตองอูอ่อนแอลงมากแล้ว ดินแดนของตองอูถูกพวกมณีปุระ ซึ่งเป็นชนชาติหนึ่งทางตะวันออกของอินเดียรุกรานเข้ามา ทำการปล้นทำลายเมือง รวมถึงลุ่มแม่น้ำมู่อันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านมกโซโบของอองเซยะ

อาณาจักรตองอูแทบต่อต้านการปล้นของมณีปุระไม่ได้ ได้แต่ปล่อยให้พวกนี้เผาหมู่บ้าน ปล้นวัด และจับผู้คนไปเป็นข้าทาส ในวิกฤตการณ์เช่นนี้ คือสถานกาารณ์ที่สร้างวีรบุรุษ และอองเซยะก็คือวีรบุรุษคนนั้น

เขาเป็นผู้นำชาวพม่าจับอาวุธเป็นกองกำลังต่อต้านการรุกรานของพวกมณีปุระได้สำเร็จ แต่การทำแบบนี้ ทำให้ราชสำนักระแวงว่าเขาอาจจะก่อกบฎ เพราะในเวลานั้น ประเทศราชต่างๆ ต่างแยกตัวเป็นอิสระ เช่น เชียงใหม่ และเมืองมอญทางตอนล่างของพม่า ส่วนไทยใหญ่ก็ถูกกองทัพจีนของจักรวรรดิชิงรุกรานและผนวกบางพื้นที่ไปแล้ว 

ในบรรดาดินแดนที่แยกตัวไปจากตองอู จุดที่เป็นอันตรายที่สุดคือพม่าตอนล่าง หรือเมืองของชนชาติมอญ (ส่วนอังวะตั้งอยู่พม่าตอนเหนือ เป็นพื้นที่ของชนชาติพม่า) ในที่สุดชาวมอญก็ประกาศเอกราชร่วมกับชาติอื่นๆ ในแถบนั้น เช่น ชาวกระเหรี่ยง และรื้อฟื้นอาณาจักรหงสาวดีขึ้นมา เรียกว่า "หงสาวดียุครื้อฟื้น" ในปี ค.ศ. 1740 เพื่อสร้างดินแดนของชาวมอญที่เป็นอิสระผู้ปกครองชาวพม่า 

อาณาจักรตองอูพยายามจะยกทัพมาปราบ แต่ไม่เพียงไม่สำเร็จ ยังถูกทัพมอญหงสาวดีรุกไล่ตีขึ้นเหนือจนกระทั่งทัพมอญไปล้อมเมืองอังวะเอาไว้ได้ ในเวลานี้ อองเซยะเห็นว่าอาณาจักรตองอูคงไม่รอดแล้ว เขาจึงรวบรวมผู้คน 46 หมู่บ้านตั้งเป็นกองกำลังต่อต้านทัพมอญหงสาวดี พร้อมกัยตั้งตนเป็นกษัตริย์ พระนามว่า "อลองพญา" หรือ "อลองพระ" ที่แปลว่าพระโพธิสัตว์หรืออนาคตพระพุทธเจ้า ผู้มาช่วยปราบยุคเข็ญของอาณาประชาราษฎร์

แต่กำลังแค่นั้นไม่ช่วยอะไรมากนัก ในที่สุดอังวะก็แตก มอญจับกษัตริย์ตองอูไปเป็นตัวประกันที่หงสาวดี ส่วน อองเซยะหรือตอนนี้คือพระเจ้าอลองพญา (ที่ยังไม่มีอาณาจักรของตัวเองและมีกองกำลังจำกัด) จะเคลื่อนไหวต่อไปเพื่อต่อต้านมอญหงสาวดี และเพื่อสร้าง "อาณาจักรของคนพม่า" ขึ้นมาใหม่ ในชื่อราชวงศ์โก้นบอง

อลองพญาใช้วิธีการรบแบบกองโจรและบุกแบบสายฟ้าแลบ ทำให้พวกมอญตั้งตัวไม่ติด แม้ว่ามอญจะครอบครองพม่าตอนบนได้ และตั้งฐานที่มั่นเอาไว้ แต่เพราะมอญกดขี่คนพม่าอย่างหนัก ทำให้มีคนพม่าพร้อมที่จะต่อต้านรุนแรง เมื่อได้อลองพญามาเป็นผู้นำ การทำสงครามกับมอญหงสาวดีก็ยิ่งเข้มขึ้นมากขึ้น

นี่คือสงครามที่รียกว่า สงครามโก้นบอง-หงสาวดี ระหว่างราชวงศ์โก้นบองของอลองพญากับอาณาจักรหงสาวดีของคนมอญ 

ในเวลาไม่นาน อลองพญาก็สามารถรวบรวมไพร่พลคนพม่าและยึดอังวะคืนมาได้ในปี 1754  ขับไล่พวกมอญและพวกไทยใหญ่ รวมถึงชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เช่นกระเหรี่ยงที่เป็นพันธมิตรของหงสาวดีออกไป 

สงครามนี้กลายเป็นสงครามทางเชื้อชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างพม่าที่นำโดยอลองพญาและพวกมอญที่เล่นงานคนพม่าหนักขึ้น บีบให้แต่งกายแบบคนมอญ รวมถึงประหารกษัตริย์แห่งตองอูที่จับตัวไว้ได้ การที่มอญโหดเหี้ยมกับพม่า และยังเก็บภาษีคนพม่าตอนเหนืออย่างหนักหน่วง ทำให้คนพม่ายิ่งหันมารวมตัวกับอลองพญามากขึ้นเรื่อยๆ 

ในที่สุด อลองพญาก็ได้โอกาสยกกองทัพมาตีพม่าตอนล่างแบบสายฟ้าแลบ จนยึดเมืองตะโก้งหรือย่างกุ้งอันเป็นที่ตั้งของเจดีย์ฉ่วยตะโก้ง (ชเวดากอง) อันเป็นสถานท่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนมอญเอาไว้ได้ และในที่สุดในปี 1757 ก็สามารถยึดเมืองหลวงของชาวมอญหรือพะโคหรือหงสาวดีเอาไว้ได้ หลังจากล้อมเอาไว้จนคนในเมืองเกือบจะอดตาย หลังจากเข้าเมืองได้ ทหารพม่าของอลองพญาก็ฆ่าคนไม่เลือกว่าเป็นชาย หญิง เด็ก หรือแก่ จนกระทั่งคูเมืองพะโคนองไปด้วยเลือด ทั้งยังสั่งให้ทำลายกำแพงเมืองพะโคหงสาวดี ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าตะเบงชเวตี้และพระเจ้าบุเรงนองจนราบคาบ 

การกำราบมอญหงสาวดีลงได้ทำให้พวกหัวเมืองตอนใต้ที่เคยหันพอสวามิภักดิ์กับอยุธยา คือเมืองเมาะตะมะและเมืองทวาย หันกลับมาสวามิภักดิ์กับพม่าอีกครั้ง แต่ยังมีมอญที่เหลือไม่ยอมสวามิภักดิ์พากันลงใต้ไปยังแถบตะนาวศรี เพื่อขอความคุ้มครองจากอยุธยา

สงครามนี้มีนัยสำคัญตรงที่ มันทำให้ความภาคภูมิใจของคนพม่ากลับคืนมา หลังจากต้องทนอัปยศจากการถูก "พวกชนชาติอื่น" (มอญ ไทยใหญ่ กระเหรี่ยง) และ "คนต่างแดน" (มณีปุระและจีน) ข่มเหงมานาน 

อลองพญาจึงเป็น "กษัตริย์ของคนพม่า" ที่กดขี่ข้าราชบริพาารขนชาติอื่น ไม่ใช่ได้มีภาพลักษณ์ของพระจักรพรรดิราชที่โอบอ้อมอารีต่อชนชาติอื่นเหมือนพระเจ้าบุเรงนอง โดยเฉพาะกับคนมอญนั้น อลองพญาใช้แนวทางกลืนชาติและทำลายมอญแบบถอนรากถอนโคน เช่น อพยพคนพม่าตอนเหนือหรือคนชนชาติพม่าลงมาในดินแดนมอญหรือพม่าตอนล่างเพื่อกลืนคนมอญให้เป็นชนกลุ่มน้อยในแผ่นดินตัวเอง ทั้งยังส่งเสริมให้คนพม่าตอนล่างหรือมอญพูดภาษาพม่า เพื่อกลืนชนชาติในทางวัฒนธรรม  

นี่เป็นสาเหตุที่คนมอญต้องก่อกบฎหลังจากนั้นหลายครั้ง และต้องอพยพมาขอพึ่งพาไทยในสมัยอยุธยา

พวกมอญที่ยังแข็งข้อและอยุธยาที่คอยช่วยเหลือมอญกลายเป็นหอกข้างแคร่ของอลองพญา แต่ตอนนี้พระองค์ต้องปล่อยไปก่อน เพื่อหันไปจัดการกับศัตรูที่สร้างความแค้นให้พระองค์มาตั้งแต่แรก นั่นคือพวกมณีปุระ 

ในปี 1756 อลองพญาส่งกองทัพไปรุกรานอาณาจักรมณีปุระจนกระทั่งยึดเมืองสำคัญเอาไว้ได้แล้วก็ทำแบบเดียวกับที่พม่าทำกับมอญ คือเข่นฆ่าและปล้นชิงอย่างเหี้ยมโหด จากนั้นจึงยกทัพกลับ 

หลังจากเอาคืนพวกมณีปุระได้สาแก่ใจแล้ว อลองพญาก็หันมาเล่นงานระดับ "จักรวรรดิ"ในภูมิภาคนี้ นั่นคือจักรวรรดิอยุธยาหรือจักวรรดิสยาม 

สาเหตุที่อลองพญารุกรานอยุธยา อาจเป็นเพราะต้องการกำจัดผู้ที่คอนช่วยเหลือชาวมอญ เพราะพม่าร้องขอไปยังอยุธยาให้หยุดการกระทำเช่นนั้น แต่อยุธยาปฏิเสธ 

อีกสาเหตุหนึ่งเพราะเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ในเวลานั้นพม่าครอบครองตะนาวศรีส่วนบนเอาไว้ คือตั้งแต่เมืองทวายขึ้นไป แต่อยุธยาครองตะนาวศรีตอนล่างลงมา คือตั้งแต่เมืองมะริด ส่วนนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ทั้งในแง่การค้าและการปกครอง อลองพญาจึงต้องยึดส่วนนี้มาจากอยุธยา

อีกสาเหตุที่อลองพญาคิดใหญ่หมายจะรุกรานไทยก็เพราะอยากจะเลียนแบบวีรกรรมของพระเจ้าบุเรงนอง เจ้าของฉายา "ผู้ชนะสิบทิศ"  

ในที่สุด อลองพญาก็ได้ฤกษ์รุกรานอยุธยาในช่วงปลายปี 1759

ในช่วงฤดูฝนของปีนั้น ชาวมอญก่อกบฎต่อพม่า ซึ่งเป็นการก่อกบฏที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้งทั้งก่อนหน้าและหลังจากนั้น แต่ในปีนั้นเหตุการณ์รุนแรงจนเจ้าเมืองพะโคหงสาวดีต้องหนีพวกกบฏ 

การก่อกบฏของชาวมอญ เป็นสาเหตุก็ได้หรือเป็นข้ออ้างก็ได้ที่อลองพญาหาเรื่องโจมตีอยุธญา เพราะอยุธยาคอยให้ที่พักพิงชาวมอญ เมื่ออลองพญาขอให้หยุดทำแบบนั้น อยุธยาก็ไม่หยุด ทำให้อลองพญามีเหตุผลหรือข้ออ้างที่จะจัดการกับอยุธยา

กองทัพของอลองญายกลงมาจนถึงตะนาวศรีตอนใต้ จากนั้นเข้าตีเมืองกุย (เข้าทางด่านสิงขร) เมืองปราณ เมืองเพชรบุรี จากนั้นเข้าไปล้อมอยุธญาในเดือนเมษายน 1760

แต่หลังจากอลองพญาล้อมอยุธยาได้แค่ 5 วันก็ประชวร ข้อมูลฝั่งไทยบอกว่าอลองพญาบาดเจ็บเพราะปืนใหญ่แตก แต่ข้อมูลฝั่งพม่าบอกว่าประชวรด้วยโรคเกี่ยวกับต่อมน้ำเหลืองหรือโรคบิด

สถานการณ์นี้ทำให้กองทัพพม่าต้องถอนทัพจากอยุธยา แม้จะยึดอยุธยาไว้ไม่ได้ในคราวนี้ แต่ได้ดินแดนยุทธศาสตร์ของอยุธยามาครอง นั่นคือตะนาวศรีทั้งแถบ ตั้งแต่เมืองทวายจนถึงเมืองมะริด 

ทัพพม่ารีบนำอลองพญากลับไปยังดินแดนของพระองค์ อลองพญาก็ตระหนักดีว่าพระองค์คงจะไม่รอดแล้ว จึงอยากจะเห็นแผ่นดินบ้านเกิดเป็นครั้งสุดท้าย คือ หมู่บ้านมกโซโบ ที่ตอนนี้เป็นเมืองชเวโบ แต่สวรรคตเสียก่อนจะถึงเมืองตะโก้งหรือย่างกุ้ง

สำหรับอยุธยานั้น ในอีก 2 รัชกาลต่อมาคือรัชกาลของพระเจ้ามังระ โอรสพระองค์ที่ 2 ของพระเจ้าอลองพญา ได้ตัดสินพระทัยที่จะพิชิตอยุธยาอย่างเด็ดขาด แล้วก็ยกทัพใหญ่มาล้อมอยุธยาอีกครั้ง และทำลายอยุธยาได้สำเร็จในเดือนเมษายนปี 1767

อลองพญากลายเป็นสัญลักษณ์ของชาตินิยมพม่า แต่ในสายตาของชนกลุ่มน้อยคือกษัตริย์ที่ทำลายความหลากหลายทางชนชาติ 

แม้พระเจ้าอลองพญาจะได้รับการยกย่องว่าเป็น "กษัตริย์พม่าที่ยิ่งใหญ่ทั้งสาม" เทียบเท่ากับพระเจ้าอโนรธามังช่อสมัยกุพาม พระเจ้าบุเรงนองสมัยหงสาวดี แต่ความเมตตาต่อชนกลุ่มน้อยของอลงพญาต่างจากกษัตริย์ทั้งสองพรระองค์แบบสุดขั้ว

บันทึกของชาวอังกฤษจึงสรุปบุคคลิกของอลองพญาเอาไว้ว่า "อองเซยะเริ่มต้นจากการเป็นชาวนา ไต่เต้าขึ้นมาเป็นโจรป่า แล้วจบชีวิตในฐานะกษัตริย์"

ความไม่เมตตาต่อชนกลุ่มนี้ คือนัยที่ซ่อนอยู่ในชื่อปฏิบัติการของกองทัพเมียนมาในปัจจุบัน Operation Aung Zeya เพื่อตัดไม้ข่มนามด้วยชื่อวีรกษัตริย์ที่ปราบชนกลุ่มน้อยอย่างเหี้ยมโหด ก่อนที่จะเข้าชิงเมืองจากชนกลุ่มน้อย

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
 

TAGS: #เมียนมา #อลองพญา