เบื้องหลังเหตุการณ์
- สำนักข่าว RFA Burmese รายงานว่า กองกำลังปฏิวัติรัฐมอญ (The Mon State Revolutionary Force หรือ MSRF) จับมือกับกองกำลังป้องกันรัฐมอญ (Mon State Defense Force หรือ MSFD) เพื่อจัดตั้งพันธมิตรโดยมีเป้าหมายเพื่อยึดฐานที่มั่นของรัฐบาลเผด็จการทหาร และควบคุมเมืองเล็กๆ ในรัฐมอญ นับเป็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มติดอาวุธอีกกลุ่มที่ใกล้ชายแดนของไทยจนต้องจับตาให้ดี
- ทั้งสองกลุ่มก่อตั้งขึ้นหลังรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 หลังจากที่ทหารเมียนมาเข้าควบคุมประเทศทำให้เกิดสงครามกลางเมืองที่ดุเดือดจนถึงทุกวันนี้ แต่รัฐมอญ ซึ่งมีพรมแดนติดกับ จ. กาญจนบุรีของไทย ค่อนข้างสงบเงียบนับตั้งแต่รัฐประหาร สาเหตุหนึ่งเนื่องมาจากกลุ่มการเมืองสำคัญของรัฐมอญ คือ พรรครัฐมอญใหม่ (New Mon State Partyหรือ NMSP) เข้าร่วมการหยุดยิงทั่วประเทศกับรัฐบาลเมียนมา
เกิดอะไรขึ้นในรัฐมอญ
ที่ผ่านมารัฐมอญค่อนข้างมีสถานการณ์ที่ราบเรียบ แต่ในรัฐนี้มีกลุ่มติดอาวุธของมอญเพิ่มขึ้นทุกทีๆ แต่ละกลุ่มต่างก็เป็นอิสระต่อกัน โดยก่อนหน้านี้ แกนนำหลักทางการเมืองและการต่อสู้ด้วยอาวุธในรัฐมอญ คือ NMSP ได้ต่อสู้กับรัฐบาลเมียนมาร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 แต่ใช้ชื่อต่างกัน NMSP พยายามผลักดันการปฏิรูปรัฐธรรมนูญและการเมืองหลายครั้งโดยไม่ประสบผลสำเร็จผ่านการประชุมแห่งชาติที่รัฐบาลสนับสนุน แต่ในเวลาเดียวกันพรรคนี้ก็มีกองกำลังติดอาวุธของตัวเองด้วย
นั่นคือ "กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติมอญ" (Mon National Liberation Army หรือ MNLA) มีสมาชิกกองกำลัง 1500+ นาย แต่เดิมนั้นมอญกลุ่มนี้มีความขัดแย้งกับกลถ่มกระเหรี่ยงที่เคลื่อนไหวในรัฐกระเหรี่ยงและรัฐมอญ นั่นคือกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกระเหรี่ยง หรือ KNLA อันเป็นส่วนหนึ่งของ KNU โดยทั้งมอญและกระเหรี่ยงต่างสู้กันเอง (พร้อมกับสู้กับกองทัพเมียนมาไปด้วย) มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะต่างฝ่ายต้างอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนของแต่รัฐ โดยครั้งล่าสุดที่ MNLA/NMSP ปะทะครั้งใหม่กับ KNU คือที่ชายแดนรัฐมอญกับรัฐกะเหรี่ยงในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 แต่ผู้นำของทั้งสองฝ่ายตกลงอย่างรวดเร็วเพื่อที่จะยุติความเป็นศัตรูกัน หลังจากนั้นในปี 2564 ก็เกิดการรัฐประหารขึ้น
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการรัฐประหาร ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 สมาชิกของ NMSP ได้จัดการประชุมกับ พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้ปกครองทหารของเมียนมา เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะมีการแยกรัฐธรรมนูญสำหรับรัฐมอญ ซึ่งสะท้อนว่า NMSP มีท่าทีจะร่วมมือกับเผด็จการทหารที่ก่อรัฐประหาร
ภายใน NMSP จึงเกิดความขัดแย้งภายในพรรค แม้ว่าจะมีการเจรจากัน แต่ในที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 สมาชิกของ NMSP ส่วนหนึ่งก็แยกตัวออกมาเป็น "พรรครัฐมอญใหม่ (ต่อต้านเผด็จการ)" หรือ NMSP-AD ซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่อาวุโสของ NMSP หลายคน ประกาศว่าพวกเขาจะ ไม่เจรจากับรัฐบาลทหารอีกต่อไปและจะร่วมมือกับกองกำลังปฏิวัติประกาศสงครามกับรัฐบาลทหารในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567
คนมอญอ่อนแอเกินไป
อีกกองกำลังหนึ่งของคนมอญที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 คือ "กองทัพปลดปล่อยมอญ ( The Mon Liberation Army หรือ MLA) โดยมีเป้าหมายเพื่อขจัดลัทธิชาตินิยมเมียนมา (ที่เน้นเฉพาะคนบะหม่าหรือชนชาติพม่า) ทำการต่อสู้กับเผด็จการทหาร และสร้างระบบประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ นอกจากนี้ยังมุ่งมั่นที่จะปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของชาวมอญ
จากการรายงานของสำนักข่าว BNI ระบุว่า MLA ได้รับการฝึกทหารจากกองทัพปลดแอกแห่งชาติตะอาง (TNLA) ซึ่งปฏิบัติการทางตอนเหนือของรัฐฉาน และเป็นหนึ่งใน "กองกำลังสามพี่น้อง" ที่เข้าตีฐานที่มั่นจีนเทาและทหารเมียนมาเมื่อเดือนตุลาคมปี พ.ศ. 2566 จนเป็นชนวนให้เกิดการลุกฮือชองชนกลุ่มน้อยอื่นๆ และทำให้กองทัพเมียนมาพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่องนับแต่นั้น นอกจากนี้ MLA ยังเป็นพันธมิตรกับ NMSP-AD ด้วย แต่ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้หารือกันว่าจะร่วมมือกันแบบไหน
เมื่อดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 MLA มีแถลงการณ์ระบุว่า “ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ชาวมอญอ่อนแอ คนมอญทุกคนจึงต้องรวมตัวกันเพื่อให้ชาติเราเติบโตไปพร้อมๆ กัน กองทัพของเราเน้นการต่อสู้เป็นหลัก เรามีอาวุธเพียงพอจากพันธมิตรของเรา และเราก็ สามารถติดอาวุธให้เยาวชนมอญทุกคนที่สมัครเป็นทหารได้ ดังนั้น ผมขอแนะนำให้คุณเข้าร่วมกองทัพ หากคุณปรารถนาที่จะแข็งแกร่งเหมือนคนอื่นๆ หากคุณยังคงสงบนิ่งในช่วงเวลาวิกฤตนี้ คุณอาจไม่มีโอกาสนี้ในอนาคต เยาวชนก็คือพวกเขาไม่เพียงแต่ควรแสวงหาความสนุกสนานในงานเทศกาลเท่านั้น แต่ยังต้องจัดลำดับความสำคัญของภารกิจระดับชาติของเราด้วย”
จับตาแนวรบที่รัฐมอญ
จากการรายงานของสำนักข่าว RFA Burmese เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองกำลัง MSFD ระบุว่า MSRF และ MSFD ได้หารือกันถึงการขยายความเป็นพันธมิตรเพื่อรวมพรรครัฐมอญใหม่-ต่อต้านเผด็จการหรือ NMSP-AD เข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมกัน นั่นหมายความว่าการต่อสู้กับเผด็จการทหารเมียนมาในรัฐมอญจะยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น
ยังมีอีกหน่วยงานหนึ่งในรัฐมอญที่ต่อต้านเผด็จการเมียนมา นั่นคือ "สภาสหพันธรัฐมอญ" (Mon State Federal Council หรือ MSFC) ซึ่งอ้างว่าเป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนรัฐมอญและคนมอญในช่วงการต่อสู้ล้มล้างเผด็จการเมียนมา มีข้อมูลว่าองค์กรนี้ให้ความช่วยเหลือคนหนุ่มสาวที่ต้องการหนีจากการปกครองของเผด็จการทหาร และการเกณฑ์ทหารโดยกองทัพ โดยจะจัดหาที่พักพิงและหน้าที่การงานให้ แต่ไม่สามารถหาที่ลี้ภัยในไทยให้กับชาวมอญได้จากการรายงานของสำนักข่าว BNI กระนั้นก็ตามคาดว่า MSFC น่าจะมีส่วนในการตัดกำลังทหารเมียนมาในการเกณฑ์คนมอญไปรบ
พื้นที่สำคัญที่ไทยจะต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ จ. กาญจนบุรี ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อโดยตรงกับรัฐมอญ โดยเฉพาะบริเวณด่านเจดีย์สามองค์ ซึ่งเคยเป็นจุดที่มีคนมอญอพยพเข้ามาเป็นจำนวนมาก หลังจากเกิดการปะทะระหว่างกองกำลังมอญและเผด็จการทหารเมียนมาในยุคก่อน