การจับอาวุธสู้เพื่อเอกราชที่ยาวนานที่สุดในโลก เบื้องลึกของสงครามใน 'รัฐกระเหรี่ยง' ที่คุณอาจไม่รู้

การจับอาวุธสู้เพื่อเอกราชที่ยาวนานที่สุดในโลก เบื้องลึกของสงครามใน 'รัฐกระเหรี่ยง' ที่คุณอาจไม่รู้

ประวัติศาสตร์ยุคโบราณของรัฐกระเหรี่ยง
รัฐกะเหรี่ยง (Kayin State) เป็นหนึ่งในรัฐชนกลุ่มน้อยทั้ง 7 ของเมียนมา ตั้งอยู่ทางตะวันออกของประเทศ ติดกับ จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก จ. กาญจนบุรี ของไทย แต่ก่อนจะมาเป็นรัฐกะเหรี่ยงอันเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพเมียนมา ดินแดนแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ "อาณาจักรพม่าโบราณ" ที่สืบทอดต่อกันมานับตั้งแต่การก่อตั้งจักรวรรดิพุกามในช่วงกลางศตวรรษที่ 11 ในช่วงศตวรรษที่ 13 ถึง 16 พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นของอาณาจักรหงสาวดี ในขณะที่ทางตอนเหนือของภูมิภาคเป็นของอาณาจักรตองอู ซึ่งเป็นรัฐบริวารของอาณาจักรอังวะ ต่อมา พม่ากลับมาเป็นเอกภาพอีกครั้ง และภูมิภาคนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์ตองอูและราชวงศ์คอนบองตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 

ดินแดนแห่งนี้ในยุคอาณานิคมอังกฤษ
จนกระทั่งถึง 19 อังกฤษยึดพื้นที่ทางตอนใต้ของรัฐกะเหรี่ยงในปัจจุบัน (ใต้แม่น้ำสาละวิน) หลังสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่หนึ่ง (พ.ศ. 2367-2369) ซึ่งทำให้อาณาจักรคอนบองต้องเสียดินแดนประเทศพม่าส่วนล่างไปทั้งหมด และต่อมาอาณาจักรคอนบองยังเสียดินแดนเพิ่มอีก หลังแพ้สงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่สอง พ.ศ. 2395 ทำให้หลังจากนั้นดินแดนรัฐกะเหรี่ยงเป็นดินแดนของจังหวัดพม่า (Burma province) แห่งอาณานิคมบริติชอินเดีย (British India) ซึ่งรวมพื้นที่ของอนุทวีปอินเดียและพม่าเป็นดินแดนเดียวทั้งหมด 

ในยุคอาณานิคมอังกฤษ ดินแดนของพม่าแยกเป็นเขต (Division) โดยเฉพาะเขตต่างๆ ของชนชาติบะหม่า (Bamar) หรือชาวพม่า แต่พื้นที่ของชนชาติอื่นๆ จะจัดเป็นกลุ่มพิเศษ รวมถึงดินแดนรัฐกระเหรี่ยงในปัจจุบันจัดเป็นพื้นที่พิเศษที่เรียกว่า "พื้นที่ชายแดน" (Frontier Areas) หรือที่รู้จักในชื่อ "พื้นที่ยกเว้น" หรือ "พื้นที่ที่ได้รับกาารกำหนด"  โดยได้รับการบริหารแยกกันจากพื้นที่ของชาวบะหม่า พื้นที่ชายแดนเป็นที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มน้อยเช่น ชาวชีน, ชาวไทยใหญ่, ชาวกะฉิ่น และชาวกระเหรี่ยง

แต่ต่อมาดินแดนพิเศษเหล่านี้ถูกรวมเข้ากับพื้นที่ของชาวบะหม่าหรือดินแดนถิ่นอาศัยของชาวพม่า ซึ่งนี่จะเป็นการสร้างปัญหาด้านเชื้อชาติในเวลาต่อมา

มุ่งสู่ความฝันการเป็นเอกราช
ในช่วงปลายยุคอาณานิคมของอังกฤษ (ระหว่าง พ.ศ. 2488-2491) มีการเสนอให้พม่าทั้งประเทศเป็นเอกราชโดยจะรวมกับดินแดนอื่นๆ แต่ผู้นำกะเหรี่ยงยืนกรานที่จะแยกรัฐของตัวเองออกมาจากการปกครองของพม่า ซึ่งครอบคลุมรัฐกะเหรี่ยงในปัจจุบัน และยังรวมถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐมอญและเขตตะนาวศรี 

ก่อนที่จะได้รับเอกราช ผู้นำชาวมะหม่าหรือพม่า เช่น อองซาน (บิดาของอองซานซูจี) ทำข้อตกลงที่เมืองปางโหลงกับชนชาติต่างๆ ในเขต "พื้นที่ชายแดน" (Frontier Areas) โดยยอมรับ "การปกครองตนเองโดยสมบูรณ์สำหรับพื้นที่ชายแดน" ในหลักการ แต่ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของ "สหภาพพม่า" โดยผู้นำชาวไทยใหญ่ ชาวชีน ชาวกะฉิ่น ทั้งหมดนี้ตัดสินใจเข้าร่วมสหภาพพม่าอย่างเป็นเอกฉันท์ ในวาระการประชุมคือการต่อสู้ร่วมกันเพื่อเอกราชจากอังกฤษและอนาคตของพม่าหลังจากได้รับเอกราชในฐานะสาธารณรัฐเอกราชที่เป็นปึกแผ่น

แต่ผู้นำกะเหรี่ยงปฏิเสธที่จะลงนามในข้อตกลงปางโหลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับรัฐธรรมนูญแห่งพม่า พ.ศ. 2490 และคว่ำบาตรการเลือกตั้งก่อนเอกราชในเดือนเมษายน พ.ศ. 2490 อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญได้กำหนดสถานะความเป็น "รัฐ" แก่ชาวกะเหรี่ยง แม้ว่าจะมีพื้นที่น้อยกว่าที่ผู้นำกะเหรี่ยงขอจากอังกฤษก็ตาม รัฐธรรมนูญยังรับประกันรัฐต่างๆ ว่ามีสิทธิที่จะแยกตัวออกจากสหภาพหลังจากผ่านระยะเวลา 10 ปี นั่นหมายความว่าเมื่อรวมกับสภาพพม่าได้ 10 ปีแล้ว รัฐกระเหรี่ยงสามารถตัดสินใจแยกตัวเป็นเอกราชได้ 

แต่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ซึ่งเป็นขบวนการทางการเมืองผู้นำชาวกะเหรี่ยงไม่พอใจและเรียกร้องให้มอบเอกราชให้รัฐกระเหรี่ยงในทันที แต่เมื่อไม่ได้รับการตอบสนอง ในปี พ.ศ. 2492 KNU จึงได้ก่อกบฏเพื่อแบ่งแยกดินแดนซึ่งดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ ถือเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่จับอาวุธขึ้นสู้ต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก 

หลังจากจับอาวุธขึ้นสู้ พื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐกระเหรี่ยงก็กลายเป็นสนามรบตั้งแต่นั้นมา พลเรือนเผชิญกับความทุกข์ยากมานานหลายสิบปีจากสงคราม โดยเฉพาะแถบพรมแดนที่ติดกับไทย เป็นพื้นที่เสี่ยงมายาวนาน เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของกลุ่มติดอาวุธกระเหรี่ยง

ยุคแห่งความแตกแยกของกระเหรี่ยง
ยุคที่กองทัพกระเหรี่ยงแข็งแกร่งที่สุดยุคหนึ่ง คือ ยุคที่นำโดยนายพลโบ เบี๊ยะ ซึ่งครองความเป็นผู้นำของ KNU เป็นเวลาสามทศวรรษตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ถึง 2543 ทว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 KNU ได้เรียกร้องให้มีระบบสหพันธรัฐกับพม่าโดยลดระดับการเรียกร้องเอกราชจากพม่าลง แต่สงครามก็ยังดำเนินต่อไป และเป็นเวลาหลายปีที่ KNU สามารถหาทุนให้กับการทำสงครามของตนโดยการควบคุมการค้าในตลาดมืดข้ามพรมแดนกับประเทศไทย และผ่านการเก็บภาษีท้องถิ่น หลังจากการลุกฮือของชาวพม่าต่อต้านเผด็จการทหาร หรือเหตุการณ์ 8888 ในปี พ.ศ. 2531 ซึ่งจบลงด้วยความล้มเหลว ทำให้นักศึกษาและประชาชนหนีเข้าป่าไปร่วมกับกองทัพชนกลุ่มน้อยหรือไม่ก็หนีเข้าไทย 

ในขณะที่รัฐบาลทหารพม่าได้หันไปหาจีนเพื่อขอความช่วยเหลือในการรวมอำนาจของตน มีการเสนอสัมปทานทางเศรษฐกิจต่างๆ ให้กับจีนเพื่อแลกกับอาวุธ กองทัพพม่าเริ่มใปหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มเสนอข้อตกลงกับกลุ่มที่ต่อสู้กับรัฐบาล กลุ่มต่างๆ ได้รับการเสนอทางเลือกว่าจะร่วมมือกับรัฐบาลเผด็จการทหาร หรือไม่ก็ต้องถูกทำลายโดยกองทัพพม่า

ในเวลานั้น กองทัพกระเหรี่ยงมีความแตกแยกเกิดขึ้น โดยแยกเป็นกลุ่มกระเหรี่ยงพุทธ หรือ KNLA และกลุ่ม KNU ที่ส่วนใหญ่เป็นกระเหรี่ยงคริสต์ ในปี พ.ศ. 2537 ทหารพุทธกลุ่มหนึ่งใน KNLA โดยอ้างว่าถูกเลือกปฏิบัติโดยผู้นำคริสเตียนของ KNU ที่ต่อต้านชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาพุทธ พวกเขาจึงได้แยกตัวออกและก่อตั้งกองทัพพุทธกะเหรี่ยงประชาธิปไตย (DKBA) นำโดย อู ตุซะนะ พระภิกษุชาวกะเหรี่ยงผู้มีอิทธิพลในหมู่ประชาชน ปรากฎว่า DKBA ยอมตกลงที่จะหยุดยิงกับกองทัพพม่าอย่างรวดเร็ว และได้รับสัมปทานทางธุรกิจ ซึ่งแต่เดิมเป็นแหล่งทุนในตลาดมืดของ KNU นับตั้งแต่นั้นมา KNU และ DKBA ก็ได้ต่อสู้กันเป็นประจำ โดย DKBA ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากกองทัพพม่า

ยุคสมานฉันท์และสงครามอีกครั้ง
หลังจากทศวรรษที่ 2000 เป็นต้นมา กองทัพพม่า (หรือเมียนมาหลังเปลี่ยนชื่อประเทศก่อนหน้านั้น) ได้ลดระดับความแข็งกร้าวลง และยังดำเนินการให้มีการปกครองโดยพลเรือน ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 รัฐบาลพลเรือนที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเมียนมา ลงนามข้อตกลงหยุดยิงกับ KNU ในเมืองพะอัน เมืองเอกของรัฐกะเหรี่ยงทางตะวันออก  

ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม ถึง 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 มีการประชุมที่สำนักงานใหญ่ขององค์กรอิสระกะฉิ่นในเมืองไลซา นับเป็นครั้งแรกที่ตัวแทนของกลุ่มต่อต้านติดอาวุธ 17 กลุ่มสามารถพบกันใน "ประเทศเมียนมา" โดยได้รับความยินยอมจากรัฐบาล การประชุมดังกล่าวส่งผลให้เกิดการจัดตั้งทีมประสานงานการหยุดยิงทั่วประเทศ (NCCT) ที่มีสมาชิก 13 คน และการลงนามใน "จุดยืนร่วม 11 จุดขององค์กรต่อต้านชาติพันธุ์ในการหยุดยิงทั่วประเทศ" หรือ "ข้อตกลงไลซา" จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558 KNU ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลเมียนมา พร้อมด้วยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอื่นๆ หลายกลุ่ม

แต่ความตึงเครียดระหว่าง KNU และกองทัพเมียนมาหวนกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากความไม่สงบและกวาดล้างผู้ต่อต้านหลังรัฐประหารของเมียนมา พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2564 KNU Brigade 5 บุกฐานทัพกองทัพเมียนมาร์ใกล้ชายแดนไทย สังหารทหารสิบนายรวมทั้งรองผู้บังคับกองพันด้วย กองทัพเมียนมาร์เปิดการโจมตีทางอากาศหลายครั้งต่อหมู่บ้านกะเหรี่ยงเพื่อตอบโต้ 

ในปี พ.ศ. 2564 KNU ยังได้เข้าเป็นสมาชิกของสภาที่ปรึกษาเอกภาพแห่งชาติ (NUCC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (NUG) ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเพื่อตอบสนองต่อรัฐประหารในเมียนมาปี โดยมีเป้าหมายเพื่อโค่นล้มเผด็จการทหาร และสร้างสหภาพประชาธิปไตยสหพันธรัฐในเมียนมา

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 จากการรายงานของ AP ว่า KNU เข้าตีเมืองเมียวดี รัฐกระเหรี่ยง และยึดเมืองเอาไว้ได้ และจากนั้น KNU ซึ่งทำงานร่วมกับองค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงในเครือ และกองกำลังสนับสนุนประชาธิปไตยที่เป็นพันธมิตร ได้เข้ายึดกองพันทหารราบที่ 275 ของกองทัพเมียนมา ห่างจากตัวเมืองเมียวดี ไปทางตะวันตกประมาณ 4 กิโลเมตร ก่อนรุ่งสางของวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2567 หลังจากปิดล้อมได้ตั้งแต่ต้นสัปดาห์

นี่คือฐานที่มั่นสุดท้ายของทหารเมียนมาในเมืองเมียวดี 

รายงานพิเศษโดย ทีมข่าวต่างประเทศ The Better

Photo by HANDOUT / KNU Dooplaya District / AFP
 

TAGS: #รัฐกระเหรี่ยง #เมียนมา