คนหนุ่มสาวเมียนมาหลายพันคน แห่ขอวีซ่าเข้าไทยเพื่อหนีออกจากประเทศหลังประกาศเกณฑ์ทหาร

คนหนุ่มสาวเมียนมาหลายพันคน แห่ขอวีซ่าเข้าไทยเพื่อหนีออกจากประเทศหลังประกาศเกณฑ์ทหาร

มีผู้คนมากกว่า 1,000 คนเข้าแถวที่สถานทูตไทยในย่างกุ้งเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ เนื่องจากคนหนุ่มสาวพยายามจะออกจากเมียนมา หลังจากที่รัฐบาลเผด็จการทหารกล่าวว่าจะกำหนดให้คนหนุ่มสาวต้องรับราชการทหาร

กองทัพระบุเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าจะบังคับใช้กฎหมายที่สั่งให้ผู้ชายทุกคนที่มีอายุ 18-35 ปี และผู้หญิงอายุ 18-27 ปี เข้ารับราชการทหารเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี ในขณะที่กองทัพต้องดิ้นรนเพื่อปราบปรามการต่อต้านรัฐประหารที่เกิดขึ้นในปี 2564 

รัฐบาลทหารเผชิญกับการต่อต้านการปกครองด้วยอาวุธอย่างกว้างขวางหลังจากยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และเมื่อไม่นานนี้ต้องเผชิญกับความสูญเสียอย่างต่อเนื่องจนน่าเหลือเชื่อ ต่อพันธมิตรติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์

สถานทูตไทยในย่างกุ้งเต็มไปด้วยชายหนุ่มและหญิงสาวที่ต้องการขอวีซ่าเข้าประเทศไทยเพื่อหนีออกจากเมียนมา นับตั้งแต่การประกาศเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า "กฎหมายการรับราชการทหารของประชาชน" จะมีผลบังคับใช้

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นักข่าว AFP เห็นจำนวนคนเข้าคิวระหว่าง 1,000 ถึง 2,000 คนเรียงต่อแถวไปตามถนนใกล้กับสถานทูตในตัวเมืองย่างกุ้ง เทียบกับไม่ถึง 100 คนก่อนการประกาศเกณฑ์ทหารเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว

สถานทูตกล่าวว่าจะออกบัตรคิว 400 ใบต่อวันเพื่อจัดการคิว

นักศึกษาที่ชื่อ ออง พโย อายุ 20 ปี บอกกับ AFP ว่าเขามาถึงสถานทูตเวลา 20.00 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ และนอนในรถของเขา ก่อนที่จะเริ่มต่อคิวประมาณเที่ยงคืน

“เราต้องรอเป็นเวลา 3 ชั่วโมง และตำรวจเปิดประตูรักษาความปลอดภัยประมาณ 03.00 น. และเราต้องวิ่งไปที่หน้าสถานทูตเพื่อพยายามหาเข้าแถวรับตั๋ว” ออง พโย กล่าวกับ AFP ซึ่งเขาก็เหมือนกับคนอื่นๆ ที่ใช้นามแฝงเพราะกลัวเรื่องความปลอดภัย

กฎหมายดังกล่าวจัดทำโดยรัฐบาลทหารชุดก่อนๆ เมื่อปี 2553 แต่ไม่เคยถูกนำมาใช้ และไม่ชัดเจนว่าขณะนี้จะมีการบังคับใช้อย่างไร

ไม่มีรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับวิธีการเกณฑ์ผู้ที่ถูกเรียกตัว แต่คนหนุ่มสาวจำนวนมากไม่คิดที่จะอยู่เพื่อรอคำตอบอีกต่อไป

“ผมจะไปกรุงเทพฯ ด้วยวีซ่าท่องเที่ยว และหวังว่าจะอยู่ที่นั่นสักพักหนึ่ง” ออง พโย กล่าว

“ผมยังไม่ได้ตัดสินใจทำงานหรือเรียนหนังสือ ผมแค่อยากจะหนีออกจากประเทศนี้”

กอง กอง วัย 22 ปี กล่าวว่าโรงแรมใกล้กับสถานทูตไทยทั้งหมดถูกจองเต็มโดยผู้ที่พยายามขอวีซ่า และเขาเริ่มเข้าคิวตอนตี 2

“เมื่อประตูรักษาความปลอดภัยเปิด เราก็วิ่งพุ่งไปราวกับวิ่งมาราธอน สิ่งเดียวที่ผมนึกได้คือต้องไปที่หน้าสถานทูตและวิ่งให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” กอง กอง บอกกับ AFP

'สูญสิ้นความฝันของเรา' 
ยิ่งขาดข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเกณฑ์ทหารใหม่ ยิ่งทำให้เกิดความวิตกกังวลในหมู่ผู้ที่อาจได้รับผลกระทบมากขึ้นเท่านั้น

“ตอนที่ฉันได้ยินกฎหมายการรับราชการทหารนี้ ฉันตกใจมาก” นักศึกษาที่ชื่อ วา วา วัย 20 ปี กล่าวกับ AFP

“ฉันถามคนไปทั่วว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือแค่ข่าวลือ และเมื่อเราได้รับการยืนยันว่ามันเป็นเรื่องจริง พวกเราส่วนใหญ่ก็กลัว”

เธอกล่าวว่าตอนนี้เพื่อนของเธอหลายคนถามถึงการเข้าร่วมกลุ่มต่อต้านรัฐประหาร (PDF) แทนที่จะเสี่ยงต่อการถูกชักชวนให้ต่อสู้เพื่อรัฐบาลเผด็จการทหาร

“คนหนุ่มสาวในเมียนมาสูญเสียความฝัน และกฎหมายนี้ทำร้ายพวกเขาและทำให้พวกเขาหวาดกลัวมากยิ่งขึ้น” เธอกล่าว

ซอ เมียว วัย 25 ปี เห็นพ้องกันว่าการประกาศดังกล่าวทำให้อนาคตดูสิ้นหวังในประเทศที่เศรษฐกิจตกต่ำอยู่แล้วเนื่องจากสงครามกลางเมือง

“กฎหมายการรับราชการทหารนี้เป็นอีกประเด็นสำคัญที่จะทำลายประเทศ” เขากล่าวกับ AFP

“บริษัท ร้านอาหาร ธุรกิจส่วนใหญ่ดำเนินกิจการโดยคนรุ่นใหม่ หากไม่มีคนหนุ่มสาวในประเทศ ธุรกิจส่วนใหญ่จะปิดตัวลง”

'วิกฤตความเชื่อมั่น'
ซอ มิน ตุน โฆษกคณะเผด็จการทหาร กล่าวเมื่อวันเสาร์ว่า ระบบการรับราชการทหารมีความจำเป็น “เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศของเรา” ในขณะที่กำลังต่อสู้กับทั้งกลุ่ม PDF และกลุ่มติดอาวุธที่มีมายาวนานที่เป็นของชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้คนประมาณ 13 ล้านคนจะมีสิทธิ์ได้รับการเรียกตัว แม้ว่ากองทัพจะมีความสามารถในการฝึกได้เพียง 50,000 คนต่อปีก็ตาม

“เป็นเรื่องยากสำหรับเราที่จะจัดให้มีการฝึกอบรมแม้แต่ร้อยละ 0.5 ของผู้ที่มีอายุถึงเกณฑ์” ซอ มิน ตุน กล่าวในคำแถลงของเขา

ริชาร์ด ฮอร์ซีย์ จากกลุ่มวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศ (International Crisis Group) กล่าวว่า การประกาศเรียกตัวเข้าเป็นทหารในงกองทัพเป็น "มาตรวัดสภาพย่ำแย่ของกองทัพ โดยต้องเผชิญกับการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก การเกณฑ์ทหารที่อ่อนแอ และวิกฤตความเชื่อมั่นตลอดทั้งกองทหาร"

กลุ่มติดตามผลในพื้นที่ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 4,500 คนในการปราบปรามผู้เห็นต่างนับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และถูกจับกุมมากกว่า 26,000 คน

Text by Agence France-Presse
Photo by AFP