ใน "คณะทรัมป์" มี "ตัวละคร" หลายตัวที่คนไทยจะละสายตาไม่ได้ ในบรรดาคนเหล่านี้ผมเคยแนะนำไปจำนวนหนึ่ง ในพวกนี้ล้วนแต่เป็นระดับ "กุนซือ" ที่ชี้นำแนวคิดเบื้องหลังสงครามการเมืองและวัฒนธรรมและการทำสงครามภาษี
ว่าด้วยสงครามภาษี มีตัวละครอีกหนึ่งรายที่ควรจะรู้จักไว้ เขาชื่อว่า เดวิด เบลีย์ (David Bailey)
เบลีย์ไม่ได้เกี่ยวโดยตรงกับสงครามภาษี แต่เขาเกี่ยวทางอ้อมในฐานะ "แรงขับเคลื่อน" ด้านการปรับ "โครงสร้างการเงินของมหาอำนาจ" นั่นคือแผนการบางอย่างของที่ปรึกษาทรัมป์ต้องการทำให้สหรัฐฯ รักษาความเป็นมหาอำนาจทางการเงินและเศรษฐกิจเอาไว้
พูดง่ายๆ คือ นี่คือแผนการเพื่อรักษา "ระเบียบโลก" ที่นำโดยสหรัฐฯ เอาไว้
ในส่วนของเบลีย์โดยฉากหน้าเขาเป็นผู้ผลักดันให้ทรัมป์สนใจเรื่องคริปโทเคอร์เรนซี่ เพราะตัวเขาเองเป็นนักลงทุนคริปโทฯ และสนับสนุนแคมเปญหาเสียงของทรัมป์
สื่อบางแห่งจึงบอกว่า เบลีย์ คือ "ผู้ให้คำแนะนำประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เกี่ยวกับนโยบายคริปโทฯ ระหว่างการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2024"
หลังจากที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งแล้ว เบลีย์หวังสูงขนาดเชื่อมั่นว่ามูลค่าของ Bitcoin จะถึง 1 ล้านดอลลาร์ และยังบอกว่า “ภายใน 4 ปีข้างหน้า Bitcoin จะเป็นสินทรัพย์ที่มีการถือครองมากที่สุดในโลก นี่ไม่ใช่ช่วงเวลาพิเศษเพียงช่วงเวลาเดียว แต่เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงผู้พิทักษ์ระเบียบโลก”
พอพูดถึง "ระเบียบโลก" ขึ้นมามันดูน่าสงสัยขึ้นมาทันทีว่าเบลีย์กับทรัมป์กำลังวางแผนทำอะไรอยู่กันแน่?
แม้ในเวลานี้ Bitcoin ยังมีความผันผวนเพราะสงครามภาษี แต่ในท่ามกลางความผันผวนนั้นก็เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดทุนหลังการปรกาศขึ้นภาษีทั่วโลก และสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดทุนก็ทำให้ผู้คนระแวงสงสัยว่าทรัมป์มีเจตนาแอบแฝงในการ "สร้างความปั่นป่วน" ในระบบเศรษฐกิจโลก เพื่อเปิดทางให้ "เครือข่ายคนใกล้ตัวทรัมป์" ทำการ "ชอร์ต" ในตลาด
หลังจากตลาดทุนพังและเศรษฐกิจของประเทศเล็กๆ ที่สู้ไม่ไหวไร้ภูมิคุ้มกันแล้ว "เครือข่ายคนใกล้ตัวทรัมป์" อาจจะเข้าไปเก็บเกี่ยวเศษซากจากสงครามครั้งนี้โดยไม่ต้องเสียต้นทุนมากนัก
หลังจากเจอสงครามภาษี แม้กระสุนจะยังไม่ตกเข้าใส่โดยตรง แต่ธุรกิจในประเทศเล็กๆ ที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ เริ่มผวากันแล้ว และง่ายที่จะถอดใจ
ในเวลานี้เองให้จับตา "เครือข่ายคนใกล้ตัวทรัมป์" ให้ดี
ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ที่ใช้ในการขุด Bitcoin ที่ใช้กันในสหรัฐฯ ผลิตมาจากประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่หลังจากทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างโหดร้าย (พอๆ กับจีนโดน หรืออาจจะหนักกว่าอีกหากเทียบแบบ "ปอนด์ต่อปอนด์")
เฉพาะไทยถูกขึ้นภาษีอุปกรณ์ขุด Bitcoin ถึง 38.6% เทียบกับอินโดนีเซีย 34.6% และมาเลเซีย 26.6%
เรื่องนี้ทำให้อุตสาหกรรม Bitcoin ในสหรัฐฯ กังวลว่าจะได้รับผลกระทบเพราะทรัมป์ เช่น ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของบริษัท Luxor Technology เปิดเผยกับนิตยสาร Fortune ว่าบริษัทได้นำเข้าเครื่องจักรจำนวนมากจากประเทศไทย และบอกว่า "ภาษีนำเข้าเครื่องจักร 36% ดังกล่าวจะ "ทำลาย" ผลตอบแทนจากการลงทุนของบริษัท"
ขนาดบริษัทอเมริกันยังใช้คำว่า destroy แล้วบริษัทต้นทางที่ไทยจะไม่ถูก destroy ได้อย่างไร?
แต่คนที่ไม่แสดงความกังวลคือ เบลีย์
ตรงกันข้าม เมื่อเร็วๆ นี้ จากการรายงานของ CNBC เบลีย์ สามารถระดมทุน 300 ล้านดอลลาร์เพื่อเปิดตัวบริษัทการลงทุน Bitcoin ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทนี้มีชื่อว่า Nakamoto โดยรายงานข่าวระบุว่าบริษัทใหม่นี้ "มีแผนจะซื้อบริษัทต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงในบราซิล ไทย และแอฟริกาใต้ และนำ Bitcoin ไปลงทุนด้วย"
แผนจะซื้อบริษัทในไทยมันอาจจะฟังดูน่ายินดี แต่ถ้าได้สำรวจเบื้องหลังของ เบลีย์ และผลกระทบจากสงครามภาษีที่ "บอส" ของเขาทำต่อประเทศไทย เราอาจจะดีใจไม่ไหว
เราไม่รู้ว่าเบลีย์ จะซื้อบริษัทประเภทไหนในไทย แต่หากจะหาความเชื่อมโยง ก็คงต้องบอกอีกครั้งว่าไทยคือฐานการผลิตอุปกรณ์ขุด Bitcoin ที่สำคัญสำหรับบริษัทอเมริกัน
ทรัมป์เองก็มองเห็นอนาคตใน Bitcoin แต่แทนที่จะลดภาษีให้กับไทยเพื่อหนุนการขุด Bitcoin ในสหรัฐฯ ทำไมถึงตัดสินใจขึ้นภาษีกับไทยมากขนาดนั้น?
นี่อาจเป็น "แผนการใหญ่ในการรักษาระเบียบโลกอเมริกัน" ก็เป็นได้
เพราะเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว เบลีย์เป็นเจ้าภาพเสวนาเรื่อง Bitcoin และทรัมป์ เบลีย์กับทีมงานสรุปว่า ทรัมป์มองว่า Bitcoin คือโอกาสใหม่ของสหรัฐฯ และถึงขั้นบอกว่า "มันคือทองคำารูปแบบใหม่"
สิ่งที่เบลีย์ทำอาจไม่เกี่ยวกับการฉวยโอกาสที่ไทยอ่อนแอก็เป็นได้ แต่ความเคลื่อนไหวของเขาทำให้อดคิดไม่ได้ว่า "เป็นไปได้หรือไม่ที่คณะทรัมป์จะฉวยโอกาสตอนเราอ่อนแอ แล้วยึดกุมประเทศไทยเอาไว้?"
และผมไม่ได้อยากจะบอกว่าเบลีย์และคนวงในของทรัมป์กำลัง "สร้างสถานการณ์" เพื่อเขมือบประเทศเล็กที่อ่อนลง แต่เงื่อนไขปัจจัยแบบนี้ทำให้ผมนึกถึง "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ซึ่งสหรัฐฯ ไม่เพียงไม่ช่วยไทยที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก แต่ยังซ้ำเติมด้วยการบีบให้ไทย "เปิดเสรี" และ "แปรรูปรัฐวิสาหกิจ"
โดยใช้โอกาสที่ประเทศไทยกำลังบอบช้ำ ด้วยการยัดเยียดแนวคิด "นีโอคอน" คือเศรษฐกิจแบบตลาดแบบสุดโต่งให้ไทยใช้ โดยอ้างว่าเพื่อสร้างตลาดเสรี ผลก็คือพอไทยเปิดเสรีอ้าซ่า พวกทุนอเมริกันก็ปรี่กันเข้ามากว้านซื้อสถาบันการเงิน/บริษัทไทยที่ราคาตกหรือล้มละลายเพราะวิกฤตการเงิน
ใคร "เกิดทัน" เหตุการณ์ครั้งนั้นย่อมซาบซึ้งความมี "น้ำใจ" ของมหามิตรอเมริกันได้เป็นอย่างดี
ว่า "ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร" ใดๆ ทั้งสิ้นในการเมืองโลก โดยเฉพาะกับประเทศที่บูชา "ทุน" เป็นพระเจ้า เพราะ "บุญกุศล" ของลัทธิบูชาทุนแบบอเมริกันมีแต่ "ผลประโยชน์เท่านั้น"
และเป็นคำตอบว่าทำไมประเทศเล็กๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงเจอทรัมป์ขึ้นภาษีแบบ "ให้ตายกันไปข้างหนึ่ง"? คำถามนี้ผมพอจะเดาได้
ผมคิดว่าทรัมป์ต้องการ "ทำลาย" ฐานการผลิตของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย และในขณะที่ส่งคำสั่งทำทำลายไปแล้วประเทศพวกนี้จะร้อนรนจนกระทั่ง "ปลีกตัวจากจีน" และ "ยอมทำทุกอย่างเพื่อสหรัฐฯ"
และในระหว่างที่ถูกทำลายจากสงครามภาษี ประเทศพวกนี้จะมี "ราคาตกต่ำลง" พร้อมที่จะให้นายทุนอเมริกันเข้าไปกว้านซื้อเพื่อแทนที่จีน หรือไม่ก็ยึดกุมการผลิตในประเทศพวกนี้เอาไว้ผ่านการซื้อบริษัทต่างๆ
ผมจึงเชื่อมาตลอดว่า ทรัมป์ "กะจะเอาให้ตาย" กับทุกประเทศในอาเซียนเพื่อทำแบบที่ว่านั่น
ดังนั้น การต่อรองจะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อเขาเอาปูนป้ายที่คอรอเอามีดตัดหัวประเทศเล็กๆ อย่างพวกเราอยู่แล้ว?
บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo by Oliver Contreras / AFP