ความหวังของมนุษย์? หมาป่าที่รับรังสีปริมาณสูงในเชอร์โนบิล เกิดพันธุกรรมต่อต้านมะเร็ง

ความหวังของมนุษย์? หมาป่าที่รับรังสีปริมาณสูงในเชอร์โนบิล เกิดพันธุกรรมต่อต้านมะเร็ง

ข้อมูลเบื้องหลัง

  • ในปี 1986 เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ระเบิดที่โรงไฟฟ้าในเมืองเชอร์โนบิล ประเทศยูเครน (ในเวลานั้นเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต) การระเบิดดังกล่าวปล่อยรังสีมากกว่าระเบิดปรมาณูที่ทิ้งในเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง 400 เท่า 
  • ประชาชนมากกว่า 100,000 คนต้องอพยพออกจากเมือง หลังจากนั้นพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สงวน เนื่องจากมีปริมาณรังสีสูงมากจนอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต 
  • อย่างไรก็ตาม มีสัตว์ป่าเข้าไปอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก รวมถึงหมาป่าซึ่งอยู่ในพื้นที่อันตรายดังกล่าวมากกว่านอกพื้นที่เสียอีก และทำให้พวกมันได้รับรังสีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะทำให้พวกมันต้องตายจากการเป็นมะเร็ง แต่นักวิทยาศาสตร์กลับพบว่า เรื่องตรงกันข้ามกำลังเกิดขึ้น 

ไม่เป็นมะเร็งแถมยังต้านมะเร็ง
นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ประเทศสหรัฐฯ ได้ลงพื้นที่เขตสงวนเชอร์โนบิล แล้วทำการติดปลอกคอวิทยุกับหมาป่าในเขตสงวนเพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของพวกมันและทำการตรวจวัดรังสีที่พวกมันสัมผัสแบบเรียลไทม์ นักวิจัยยังได้เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อดูว่าร่างกายของหมาป่าตอบสนองต่อรังสีที่ก่อให้เกิดมะเร็งอย่างไร

พวกเขาพบว่าหมาป่าในเขตสงวนเชอร์โนบิลได้รับรังสีที่ก่อให้เกิดมะเร็งมากกว่า 11 มิลลิเรม (millirem) ต่อวันตลอดชีวิต เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว การเอ็กซเรย์ทรวงอกแบบมาตรฐานจะทำให้ทั้งร่างกายอยู่ที่ประมาณ 1 ถึง 2 มิลลิเร็ม

การศึกษาพบว่าสาเหตุที่สัตว์ป่ามาอยู่ในเขตกัมมันตภาพรังสีเป็นจำนวนมาก ก็เนื่องมาจากข้อมูลทางพันธุกรรมส่วนหนึ่งมีความยืดหยุ่นต่อความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคที่เกิดจากการรับรังสี นั่นหมายความว่าจีโนม หรือข้อมูลพันธุกรรมของพวกมันมีลักษณะที่ต้านมะเร็ง และระบบภูมิคุ้มกันของพวกมันก็คล้ายคลึงกับผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับรังสีบำบัด

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าร่างกายของหมาบ้านและหมาป่าต่อสู้กับโรคมะเร็งในลักษณะเดียวกับร่างกายมนุษย์ การวิจัยครั้งนี้อาจจะทำให้เราสามมารถระบุการกลายพันธุ์ที่ทำให้ร่างกายสร้างระบบป้องกันเหมือนหมาป่าที่เชอร์โนบิล จนสามารถเพิ่มโอกาสที่มนุษย์จะรอดชีวิตจากโรคมะเร็งได้

Photo by Jean-Christophe Verhaegen / AFP

TAGS: #มะเร็ง