จับตาถ้ำในเมืองไทย คือแหล่งเชื้ออันตราย พบไวรัสค้างคาวที่อาจทำให้มนุษย์ติดเชื้อ 

จับตาถ้ำในเมืองไทย คือแหล่งเชื้ออันตราย พบไวรัสค้างคาวที่อาจทำให้มนุษย์ติดเชื้อ 
ถ้ำในเมืองไทยคือแหล่งเชื้ออันตราย พบไวรัสค้างคาวที่อาจทำให้มนุษย์ติดเชื้อได้

EcoHealth Alliance ซึ่งตั้งอยู่ในนิวยอร์ก นำโดย ดร.ปีเตอร์ ดาสซัค (Dr Peter Daszak) เปิดเผยการค้นพบครั้งใหม่นี้ในระหว่างการประชุมขององค์การอนามัยโลก (WHO) เกี่ยวกับการวิจัยที่มุ่งเน้นการเตรียมการสำหรับการระบาดใหญ่ในอนาคต โดยเผยว่า ทีมงานนักวิจัยสามารถระบุไวรัสที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในค้างคาวในประเทศไทย

จาการรายงานของ Express ทีมนักวิจัยทำการศึกษาทั้งในไทยและในเอเชีย โดยได้รับทุนจากรัฐบาลสหรัฐ ดร.ดาสซัค เปิดเผยว่า ทีมวิจัยพบเชื้อโคโรนาไวรัสที่เกี่ยวข้องกับโรคซาร์สจำนวนมาก แต่มีอยู่เชื้อหนึ่งพบในค้างคาวในถ้ำที่เกษตรกรชาวไทยมักจะเข้าไปเก็บขี้ค้างคาวมาทำเป็นปุ๋ย ทำให้มุนษย์ใกล้ชิดกับค้างคาวชนิดนี้ซึ่งพบเชื้อดังกล่าวเป็นปกติ

ดร.ดาสซัคกล่าวว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าวยังไม่ได้รับการตั้งชื่อ แต่เผยว่าถูกพบในถ้ำแห่งหนึ่งในไทย 

เขากล่าวว่านักวิจัยสรุปว่าไวรัสที่เพิ่งค้นพบนี้เป็นญาติสนิทของโควิด-19 โดยชี้ว่าเชื้อไวรัสนี้มีศักยภาพ "เกือบจะเหมือนกัน" กับไวรัสโคโรนา ในการติดเชื้อในมนุษย์ 

ทั้งนี้ EcoHealth Alliance เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีฐานอยู่ในสหรัฐอเมริกา โดยมีภารกิจในการปกป้องผู้คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมจากโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรมุ่งเน้นไปที่การวิจัยที่มุ่งป้องกันโรคระบาดและส่งเสริมการอนุรักษ์ในภูมิภาคที่มีจุดสำคัญทั่วโลก

EcoHealth Alliance มุ่งเน้นไปที่โรคที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าและเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า องค์กรได้วิจัยการเกิดขึ้นของโรคต่างๆ เช่น โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) ไวรัส Nipah โรคระบบทางเดินหายใจในตะวันออกกลาง (MERS) ไข้ Rift Valley ไวรัสอีโบลา และโควิด-19

หนึงในโครงการขององค์กร คือ PREDICT โดย EcoHealth Alliance ร่วมมือกับ USAID ในโครงการย่อยของโครงการ EPT (Emerging Pandemic Threats หรือ ภัยคุกคามจากโรคระบาดใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้น) ของ USAID ซึ่ง PREDICT พยายามที่จะระบุว่าโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ชนิดใดที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์มากที่สุด  นักวิทยาศาสตร์ภาคสนามเก็บตัวอย่างจากสัตว์ในท้องถิ่นเพื่อติดตามการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่อาจเป็นอันตรายและป้องกันไม่ให้เกิดการระบาด นักวิทยาศาสตร์ยังฝึกอบรมช่างเทคนิคและสัตวแพทย์ในพื้นที่ในการสุ่มตัวอย่างสัตว์และรวบรวมข้อมูล หนึ่งในประเทศที่ PREDICT ปฏิบัติงาน คือ ไทย

Photo by RADEK MICA / AFP