นี่คือ 4 สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ถ้าจีนรุกรานไต้หวัน
ไต้หวันจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันเสาร์ที่ 13 มกราคมนี้ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่มีการจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะผลของมันจะเป็นเหมือนกับที่เจ้าหน้าที่ของจีนบอกว่ามันจะเป็นทางเลือก "ระหว่างสงครามและสันติภาพ" ของไต้หวันและจีน
ไล่ชิงเต๋อ ผู้สมัครที่ถือเป็นตัวเก๋งคนหนึ่ง สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลจีน โดยเรียกเขาว่าเป็น “คนหัวแข็งเพื่อเอกราชของไต้หวัน” และเป็น “ผู้บ่อนทำลายสันติภาพโดยสิ้นเชิง”
รัฐบาลจีนอ้างสิทธิว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตของตน และให้คำมั่นว่าจะยึดเกาะแห่งนี้สักวันหนึ่งเพื่อ "รวมเป็นหนึ่ง"
ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการบุกรุกแบบเต็มกำลังไม่น่าเป็นไปได้ในระยะสั้น แต่การพูดคุยยังคงเกิดขึ้นภายในแวดวงความมั่นคงตั้งแต่ไทเปถึงวอชิงตัน
ต่อไปนี้คือบางตัวเลือกที่รัฐบาลจีนอาจใช้ในการทหาร หากต้องโจมตีเกาะนี้:
ยุทธวิธี'การตัดหัว' -
ฐบาลจีนแสดงแสนยานุภาพด้านกำลังทหารมากขึ้นเรื่อยๆ โดยส่งเครื่องบินรบเข้ามารอบๆ เกาะไต้หวันทุกวัน ขณะที่เรือรบของจีนก็ประจำการอยู่รอบๆ น่านน้ำของไต้หวันเกือบตลอดเวลา
นอกจากนี้ จีนยังดำเนินการซ้อมรบครั้งใหญ่อย่างน้อยสองครั้งในช่วงปีครึ่งที่ผ่านมา ในขณะที่เรือบรรทุกเครื่องบินซานตงได้แล่นเรือทางผ่านช่องแคบไต้หวัน ซึ่งแยกเกาะนี้ออกจากแผ่นดินใหญ่ของจีนบ่อยขึ้น และเป็นน่านน้ำที่มีความเปราะบางสูงในทางการเมือง
จากการฝึกซ้อมที่ผ่านมา “มีแนวโน้มมากที่สุด” ที่จีนจะใช้การโจมตีทางอากาศและขีปนาวุธเพื่อมุ่งเป้าไปที่โครงสร้างพื้นฐานทางทหารของไต้หวัน โอวซีฝู นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยกลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติของไต้หวัน กล่าว
เขาเรียกเหตุการณ์นี้ว่า "การตัดหัว" เนื่องจากการทิ้งระเบิดขีปนาวุธจะโจมตีศูนย์บัญชาการ กองทัพอากาศ ฐานทัพเรือ และคลังกระสุนของไต้หวัน
“เมื่อคุณตัดบุคคลสำคัญทางการเมืองหรือการทหารออกไป คุณจะไม่สามารถสั่งให้กองทหารปกป้อง (ไต้หวัน) ได้” โอว บอกกับ AFP
ยุทธวิธีการปิดล้อม
จีนสามารถเลือกยึดเกาะจินเหมินและเกาะหมาจู่ที่อยู่ห่างไกลของไต้หวัน ซึ่งทั้งสองเกาะอยู่ห่างจากชายฝั่งแผ่นดินใหญ่ประมาณ 10 กิโลเมตร
นอกจากนี้ยังอาจพยายามปิดล้อมเกาะไต้หวันทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้ใครก็ตามหรือสินค้าใดๆ เข้าออกได้
ในเดือนเมษายนปีที่แล้ว กองกำลังจากกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) ได้ทำการฝึกซ้อมเป็นเวลา 3 วันเพื่อจำลองการปิดล้อมเกาะแห่งนี้ เพื่อตอบสนองต่อการที่เควิน แม็กคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ในขณะนั้นมาพบปะกับประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ของไต้หวัน ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย
“กองทัพปลดปล่อยประชาชนสามารถปิดล้อมท่าเรือ สนามบิน สิ่งอำนวยความสะดวกทางทหาร ตลอดจนเส้นทางการสื่อสารทางอากาศและทางทะเล เพื่อบรรลุเป้าหมายการปฏิบัติงานของตนในการ 'ทำให้เครื่องบิน (ของไต้หวัน) ทุกลำบินไม่ได้ และเรือทุกลำแล่นออกไปไม่ได้'” กระทรวงกลาโหมของไต้หวันเตือนในรายงานปี 2023
แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่าการปิดล้อมจะใช้เวลาสักระยะจึงจะทำให้ไต้หวันรู้สึกทนไม่ไหว และการตัดเส้นทางคมนาคมของช่องแคบไต้หวัน ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศอันพลุกพล่าน ไม่เพียงแต่จะสร้างความเสียหายให้กับไต้หวันเท่านั้น แต่ยังอาจบีบให้มีการแทรกแซงจากประเทศที่สามอีกด้วย
“ยังไม่ชัดเจนว่าจีนจะทนต่อการใช้การปิดล้อมได้นานแค่ไหน หากไต้หวันและพันธมิตรต้องหาทางเลี่ยงการปิดล้อม” กลุ่มวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศ (ICG) ระบุในรายงานล่าสุด
“การรบที่ยืดเยื้อจะขัดแย้งกับเป้าหมายของกองทัพปลดปล่อยประชาชนในการเอาชนะสงครามอย่างรวดเร็ว”
การปิดล้อมจะทำให้เศรษฐกิจโลกเสียหาย “มากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์” อย่างน้อยที่สุด ตามการระบุของ Rhodium Group ซึ่งเป็นผลกระทบที่ไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายต่อไต้หวันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงจีนด้วย
ยุทธวิธียกพลขึ้นบก
หากประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีนจริงจังกับการทำตามคำมั่นสัญญาที่จะรวมไต้หวันเข้ากับแผ่นดินใหญ่ กองกำลังของเขาจะต้องยึดครองเกาะแห่งนี้ โอว กล่าว
“และเพื่อที่จะยึดครองไต้หวัน พวกเขาจำเป็นต้องดำเนินการยกพลขึ้นบก”
แต่การโจมตีด้วยการยกพลขึ้นบกนั้นซับซ้อนและยากลำบากอย่างยิ่ง และสภาพภูมิประเทศแบบภูเขาของไต้หวัน ประกอบกับสภาพอากาศมรสุมที่ไม่เอื้ออำนวย ก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง
บนเกาะนี้ยังมีจุดอ่อนบางจุด ซึ่งเป็นชายหาดเล็กๆ ที่เรียกว่า "ชายหาดสีแดง" ซึ่งเหมาะสมที่สุดสำหรับการยกพลขึ้นบกทางทหารขนาดใหญ่เช่นนี้
ชายหาดแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้กับเมืองหลวงไทเปที่สุดคือในเมืองเถาหยวนตอนเหนือ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดของเกาะ
“หาก (PLA ของจีน) ยึดครองสนามบิน พวกเขาก็สามารถใช้มันเพื่อขนส่งทหาร กระสุน และอาหารของพวกเขาได้” โอว เตือน
อแมนดา เซียว นักวิเคราะห์จีนจาก ICG เปิดเผยว่า โอกาสที่จีนจะโจมตีไต้หวันเต็มตัว "มีความเป็นไปได้ต่ำในระยะสั้น เนื่องจากโอกาสที่รัฐบาลจีนจะล้มเหลวนั้นมีนัยสำคัญ"
ในทางกลับกัน สิ่งที่น่ากังวลเร่งด่วนที่สุดก็คือ “จีนบีบรัดไต้หวันอย่างแน่นหนา” ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันอยู่แล้ว
“เราเห็นหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ทุกวันในรูปแบบของกิจกรรมของ PLA ที่ใกล้ (ไต้หวัน) เข้ามาและบ่อยครั้งมากขึ้น การประโคมคำอธิบาย (เรื่องไต้หวัน) ที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของจีน และการใช้การค้าข้ามช่องแคบไต้หวันเป็นอาวุธมากขึ้น” เซียว กล่าวกับ AFP
เจ้าหน้าที่ไต้หวันยังกังวลว่าจีนอาจโจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหญ่โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำลายโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเกาะ เช่น การสื่อสาร พลังงาน และการธนาคาร
รายงานจาก Agence France-Presse
Photo by Yasuyoshi CHIBA / AFP