จดหมายผิดซองของ 'ปรีดี พนมยงค์' กับคำถามทำไม 'ตัวเก๋าๆ' เขาถึงเฉยๆ กัน
ถ้าเป็นคนใน "วงการ" จริงๆ จะรู้กันมานานแล้วว่าที่หอจดหมายเหตุกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส มีแฟ้มเอกสารชุดหนึ่งเก็บรักษาไว้ ชื่อว่า Dossier de Pridi Panomyong แปลว่า "เอกสารของ ปรีดี พนมยงค์"
แฟ้มเอกสารชุดนี้มีหมายเหตุกำกับเอาไว้ว่า Cet article sera communicable à compter de: 2024 ซึ่งหมายความว่าของชิ้นนี้จะสามารถอ่านได้ในปี 2024
เรื่องนี้ถูกเปิดเผยมาอย่างน้อยก็ในปี 2018 หลัจากนั้น คนใน "วงการ" ต่างก็เฝ้ารอวันทื่มันจะได้รับการเปิดเผยเสียที บางคนถึงขนาดเคาท์ดาวน์กันทุกปีเลยทีเดียว
ทำไมถึงตั้งตารอขนาดนั้น? เพราะคนใน "วงการ" เหล่านี้มีทั้งพวกที่สนใจประวัติศาสตร์เพียวๆ โดยไม่มีการเมืองเข้ามายุ่ง และมีทั้งพวกที่หมกมุ่นกับการเมืองโดยอาศัยประวัติศาสตร์มาเป็นเครื่องมือ ประเภทหลังนี้ คาดหวังว่า Dossier de Pridi Panomyong จะเปิดเผยข้อมูลอะไรบางอย่างที่พวกเขาตั้งธงเอาไว้แล้ว
แต่คนในวงการวิชาการบางคนก็ยังไม่กล้าตั้งธงอะไรขนาดนั้น เพราะมีอะไรที่ประหลาดๆ เกี่ยวกับแฟ้มเอกสารนี้ แม้แต่ "ตัวพ่อ" ของวงการประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้ายอย่าง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งขณะนี้อาศัยอยู่ที่ฝรั่งเศส ก็ยังเขียนเอาไว้ในโพสต์เมื่อปี 2018 ว่า "นี่เป็นอะไรที่ประหลาดมากเหมือนกัน เพราะเอกสารในช่วงปีดังกล่าวอื่นๆ ก็ล้วนเปิดให้ดูได้ ยกเว้นเอกสารกล่องนี้"
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้ตั้งสมติฐานไว้ในขณะนั้นว่า
"ความเป็นไปได้ทางแรก ปรีดีก่อนถึงแก่กรรม เอาเอกสารส่วนตัวบางอย่างมายกให้หอจดหมายเหตุ เพื่อประโยชน์ของการศึกษาค้นคว้าแก่สาธารณะ (ใครที่อยู่ในแวดวงค้นคว้า คงรู้ว่า บุคคลสาธารณะหลายคนทำแบบนี้) แต่ไม่ต้องการให้มีการเปิดเผยทันที ก็ระบุขอว่า ไม่ให้เปิดจนกว่าจะผ่านเวลาไป 40 ปี เช่น สมมุติปรีดียกเอกสารให้ในปีถึงแก่กรรมพอดี 1983 ก็คือห้ามไม่ให้เปิดเผยเป็นเวลา 40 ปี (1983-2023 ปี 2024 จึงให้ดูได้)
อีกความเป็นไปได้หนึ่งคือ ช่วงที่ปรีดีเริ่มขอลี้ภัยในฝรั่งเศส ทางกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศสได้ทำแฟ้มเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับปรีดีและการติดต่อกับเขาไว้ ปรีดีมาถึงฝรั่งเศสปี 1970 แต่อาจจะเริ่มทำเรื่องขอลี้ภัยตั้งแต่ 1968 แล้วทางการฝรั่งเศสก็ทำเอกสารเกี่ยวกับเขาไว้ตั้งแต่ตอนนั้น จนหลังจากเขามาลี้ภัยแล้วเล็กน้อยจึงหยุดทำ"
นี่คือความเห็นของนักวิชาการที่คลุกคลีอยู่กับหอจดหมายเหตุมานาน ย่อมทราบว่าธรรมชาติของการเก็บเอกสารนั้นมีเหตุผลอะไรอยู่เบื้องหลัง แต่เขาก็ทำได้แค่วิเคราะห์เหตุผลคราวๆ ไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าเนื้อหาภายในเกั่ยวข้องกับอะไร
แต่มีคนจำนวนหนึ่งต้องการให้ประวัติศาสตร์เป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ จึงพากัน "นโม" ไปเรียบร้อยแล้วว่า Dossier de Pridi Panomyong จะต้องเป็นเรื่องลับลมคมในเกี่ยวกับกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 แน่นอน (ซึ่งเป็นกรณีที่ทำให้ปรีดีสิ้นอำนาจ)
หรือคาดหวังกันว่าน่าจะเกี่ยวเส้นสนกลในของการเมืองไทยในยุคที่ฝ่ายคณะราษฎรกำลังเพลี่ยงพล้ำให้กับฝ่ายทหารอีกกลุ่มหนึ่ง (คือ ฝ่ายของ ผิน ชุณหวัณ, สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และถนอม กิตติขจร)
ถึงขนาดทำลิสต์ความเป็นไปได้กันต่างๆ นานาว่าในเอกสารนั้นควรจะเป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ ราวกับกำลังสปอยล์หนังที่ยังไม่ได้สร้าง
ผมรู้ครับว่าเป็นความตื่นเต้นของคนที่คาดหวังสูงกับ Dossier ชุดนี้ แต่โปรดรอให้ถึงกำหนดการเปิดเผยก่อนเถิด แล้วค่อยมโนกัน ไม่อย่างนั้นจะทำให้สังคมไขว้เขว
คือเขวเพราะเนื้อหาใน Dossier ไม่ตรงกับที่คาดหวัง กับเขวเพราะปั่นกระแสคาดเดาจนราวกับมันเป็นเนื้อหาจริงๆ ซึ่งสื่อบางแห่งกำลังทำอยู่ และไม่ควรทำอย่างยิ่ง
และเราก็ได้เห็นผลของความเร่งรีบจนไม่สำรวมระวังเข้าจนได้ นั่นคือ กลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยในยุโรปได้เดินทางไปที่หอจดหมายเหตุกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 2 มกราคม 2024 เพื่อขอดู Dossier de Pridi Panomyong
แต่ดูไปดูมาปรากฏว่า Dossier หรือแฟ้มนั้นไม่เกี่ยวกับปรีดี แต่เป็นเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสที่เกี่ยวกับประเทศไทยหรือประเทศสยาม จึงพากันบ่นว่าเจ้าหน้าที่นำมาให้ผิดแฟ้ม แต่ในขณะเดียวกันก็ทราบความจริงว่าเอกสาร Dossier de Pridi Panomyong นั้นจะอนุญาตให้เข้าถึงได้ในวันที่ 5 มกราคม 2024
เรื่องนี้จึงกลายเป็นความผิดหวังครั้งใหญ่ของกลุ่มที่คาดหวังกับเอกสารนี้ (ว่าจะยืนยันความเชื่อของตน) และต้องรอกันต่อไปอีก
เรื่องที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่กลายเป็นเรื่องขบขันในสายตาฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แต่แม้แต่ "ฝ่ายเดียวกัน" ที่ทำงานด้านวิชาการก็ยังไม่พอใจความเร่งรีบดังกล่าว
เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โพสต์ในเวลาต่อมาว่า "เอกสารปรีดี" กลายเป็นของเล่นที่เปิดให้โอกาสให้คนที่อยากดัง เอามาเล่นหาเสียง ถ่ายทอดสด เหมือนกับรายการเกมส์โชว์ขุดสมบัติ" และก่อนหน้านี้เขายังโพสต์ด้วยว่า "ผมได้แต่ส่ายหัวทุกครั้งที่มีคนพูดถึง "จดหมายปรีดี" ที่มีการเปิดให้ใช้ได้วันนี้ (เป็นจดหมายหรือเอกสารก็ไม่ทราบ อาจเป็นเพียงเอกสาร)"
หรือแม้แต่ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ที่ถือว่าเป็นตัวเก๋าในฝ่ายวิชาการกลุ่มนี้ก็ยังแสดงความเห็นว่า "อยากเห็นการเปิดและการอ่านจดหมายปรีดีเป็นทางการกว่านี้ และควรทำด้วยนักภาษาศาสตร์เพื่อกันความบกพร่องของการแปล"
ต่อมาเขายังโพสต์ว่า "ถ้าความเข้าใจดิชั้นไม่คลาดเคลื่อน ไม่มีหรอกนะคะจดหมายปรีดี มีแต่เอกสารของกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศสที่เขียนถึงปรีดี ส่วนที่ต้องเปิดปี 2024 ก็เพราะว่า เอกสารทางราชการแบบนี้ (นักการทูตยังเรียกว่าเป็นโทรเลขอยู่) มีอายุของการเป็นเอกสารลับอยู่ตามระยะเวลาที่แต่ละประเทศจะกำหนด เมื่ออายุการเป็นเอกสารลับจบลง เอกสารเหล่านี้จึงเอามาเปิดเผยต่อสาธารณชนได้ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า เอกสารถูก declassified ดิชั้นไปค้นเอกสารแบบนี้มานับครั้งไม่ถ้วน และล่าสุด ก็ได้ไปค้นที่หอจดหมายเหตุที่รัฐ Maryland ก็มีเอกสารที่สหรัฐฯ เขียนถึงเจ้าไทยที่ยังไม่เปิด ก็ต้องรอจนกว่ามันจะถูก declassified ค่ะ หรือตอนไปค้นเอกสารเกี่ยวกับการขอแต่งงานของรัชกาลที่ 8 ที่วาติกัน เค้าเปิดให้ดูแค่เอกสารที่เก่ากว่าปี 1922 เท่านั้น จนกว่าเอกสารที่ใหม่กว่านั้นจะถูก declassified เลยเอามาเล่าให้ฟังว่า จดหมายปรีดีอาจไม่มีนะคะ กลัวฝันเก้อ"
สองคนนี้ถือเป็น "เสาหลัก" ด้านวิชาการของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า "ตาสว่าง" แต่ทั้งสองคนก็ยังแสดงความกังขา จนกระทั่งปฏิเสธเอาเลยว่าจดหมายปรีดีอาจไม่มีหรอก
คนอีกคนหนึ่งที่น่ากล่าวถึง คือ Din Buadaeng ที่เขียนไว้ใน Blog ชื่อ THAI STUDENTS OVERSEAS ถึงเบื้องหลังการพบ Dossier de Pridi Panomyong ไปจนถึงการวิเคราะห์ว่า "มันไม่น่าจะมีอยู่จริง"
Din Buadaeng เขียนไว้ว่า
"ความจริงเรื่อง “เอกสารปรีดี” ที่อาจารย์สมศักดิ์โพสต์ในปี 2018 นั้น ผมเป็นคนส่งให้อาจารย์เอง ในช่วงนั้นมีทีมงานที่ทำภาพยนตร์เกี่ยวกับปรีดีและจอมพล ป. เรื่อง “Frienemies” มาขอให้ผมช่วยค้นเอกสารที่หอจดหมายเหตุเกี่ยวกับปรีดีสมัยมาเรียนที่ฝรั่งเศส ระหว่างที่ผมค้นเอกสารก็ได้ไปเจอ Dossier de Pridi เข้า ซึ่งไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร อาจจะหมายถึงเอกสารของปรีดี หรือเอกสารเกี่ยวกับปรีดีก็ได้ แต่หลังจากการค้นคว้าในครั้งนั้น ผมก็ไม่ได้คิดจะติดตามเรื่องนี้อีก เพราะในแง่วิชาการ ส่วนตัวผมค้นคว้าเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงไม่ได้สนใจเอกสารชุดนี้หรือเรื่องปรีดีเป็นพิเศษ"
"จนกระทั่งในปี 2019 เมื่อผมได้มีโอกาสไปค้นเอกสารอื่นๆ อีกครั้ง ผมก็ได้ถือโอกาสสอบถามกับเจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุโดยตรง ว่าตกลงแล้ว Dossier de Pridi คืออะไรแน่ จึงได้รับคำตอบว่าไม่ใช่เอกสารส่วนบุคคล ไม่ใช่เอกสารที่ปรีดีฝากไว้ แต่เป็นเอกสารการทูตปกติ ผมทราบดังนั้นแล้ว ก็ไม่ได้ตื่นเต้นอะไร และคิดว่าเมื่อเปิดให้ใช้ ก็ค่อยไปดูว่ามันเกี่ยวกับอะไร"
และเขายังย้ำอีกครั้งว่า
"ผมซึ่งได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ปี 2019 แล้วว่าไม่ใช่ “จดหมายปรีดี” ต่อมาในปี 2021 เมื่อได้กลับไปอีกครั้ง ก็ได้รับการยืนยันอีกรอบว่าไม่ใช่ “จดหมายปรีดี” แน่นอน ในปีนี้เองที่ผมได้ค้นเอกสารชุด 147QO/158 ซึ่งเป็นเอกสารเกี่ยวกับการลี้ภัยของปรีดี (“เอกสารปรีดี 2017”) ผมก็ยิ่งมั่นใจว่า “จดหมายปรีดี” ไม่มีจริง และที่จะเปิดปี 2024 คือ 147QO/215 นั้น คือชุดที่ต่อเนื่องจากที่ผมค้นมาแแล้วต่างหาก"
สาเหตุที่ Din Buadaeng ไม่บอกความจริงเรื่องนี้ออกไปให้ชัดๆ เพราะเขาเห็นว่ากระแสการเมืองในไทยหลังจากัน้นร้อนแรงขึ้น ทำให้เกิดความคาดหวังใน "จดหมายของปรีดี" กันมาก เขาจึงตัดสินใจว่า "ผมเห็นกระแสแรงแบบนี้แล้ว ก็ไม่กล้าไปเปิดเผยความจริง เดี๋ยวจะเป็นการทำลายความหวังของผู้คนจำนวนมาก" และต่อมายังย้ำว่า "ผมมีข้อมูลทั้งหมดนี้ แต่ก็ไม่ได้เผยแพร่ออกไป เพราะทั้งไม่อยากทำลาย “ความหวัง” ของคนอย่างที่กล่าวมา และทั้งรู้สึกว่าถ้าจะเขียนอธิบายเอกสารเหล่านี้ จะต้องเขียนเป็นบทความที่ดีซึ่งผมไม่มีเวลา"
นี่คือสาเหตุว่าทำไมวิงการวิชาการคลุกคลีกับข้อมูลเบื้องต้นของประวัติศาสตร์ไทย ถึงไม่ตื่นเต้นกันกับกระแสนี้ แถมยังรังเกียจด้วยซ้ำว่าเป็นการปั่นกระแสกันเกินเหตุ
แม้แต่ Din Buadaeng ก็ยังเสนอว่า
"ทางออกของเรื่องนี้คืออะไร? ผมคิดว่ามี 2 ทาง คือ
1. ยอมรับว่าไม่มี “จดหมายปรีดี” จริงๆ แล้วหยุดปั่นกระแส Fake news ซึ่งไม่มีประโยชน์กับใครแถมยังบั่นทอนสติปัญญาได้แล้ว
2. เรื่อง “จดหมายปรีดี” ทั้งหมด เป็นการเบี่ยงประเด็นออกจากเนื้อหาจริงๆ ของ “เอกสารปรีดี” ดังนั้น หากยังสนใจ “เอกสารปรีดี” ก็ควรจะติดตาม ถกเถียง ค้นคว้าเพิ่มเติม เกี่ยวกับการลี้ภัยของปรีดีในจีนและการเดินทางมาลี้ภัยที่ฝรั่งเศส"
ดังนั้น ในวันที่ 5 มกราคม 2024 Dossier de Pridi จะออกมาในรูปไหน โปรดเผื่อใจเอาไว้ด้วยแล้วกันสำหรับคนที่คาดหวังเพราะปักธงในใจไว้แล้ว เพราะมันอาจไม่มีอะไรให้จับต้องได้เลย
แต่สำหรับคนใน "วงการ" คือนักวิชาการจริงๆ ไม่อิงการเมือง ไม่ว่ามันจะออกมาในรูปไหน มันก็ยังเป็นสิ่งที่มีค่าอยู่ดีในทางประวัติศาสตร์
บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better