จีนสั่งสอน'กองทัพเมียนมา' แต่ก็ไม่อาจปล่อยให้ประเทศนี้พังได้เหมือนกัน 

จีนสั่งสอน'กองทัพเมียนมา' แต่ก็ไม่อาจปล่อยให้ประเทศนี้พังได้เหมือนกัน 

จีนเคยทำ "สงครามสั่งสอน" มาแล้วครั้งหนึ่งกับเวียดนาม เพราะเวียดนามปีนเกลียวจีน และจีนทะเลาะกับสหภาพโซเวียต สหภาพโซเวียตเป็นลูกพี่ของเวียดนาม

ในตอนนั้นโลกคอมมิวนิสต์แตกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายจีน (มีพันธมิตร เช่น อัลบาเนีย) กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ (มีพันธมิตร คือ เวียดนาม) เมื่อลูกพี่เขม่นกัน ลูกน้องก็ต้องช่วยรุม เผอิญว่าเวียดนามกำลังห้าวเพราเพราะเพิ่งเอาชนะอเมริกันมาได้ จึงสามห้าวกับจีน แต่จีนใช้พลังที่เหนือกว่าถล่มจนเสียความฮึกเหิมลงไปสองในสามส่วน 

นั่นเป็นเหตุและเงื่อนไขของการทำ "สงครามสั่งสอน" ของจีน นั่นคือ ฝ่ายที่โดนเล่นงานจะต้องเหิมเกริมกับจีนก่อน และฝ่ายนั้นเป็นศัตรูซึ่งๆ หน้า 

ตอนนี้มีการนำคำว่า "สงครามสั่งสอน" มาใช้กับความวุ่นวายในเมียนมา บางคนเชื่อว่าการที่กองกำลังต่อต้านกองทัพเมียนมา (ตั๊ดมะด่อ) ชนะทหารเมียนมาครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะได้เแบ็คอัพดี ซึ่งไม่น่าจะเป็นใครนอกจากจีน ที่จีนหนุนฝ่ายตรงข้ามกับกองทัพเมียนมา ก็เพราะทหารเมียนมา "บอกแล้วไม่ฟัง" ยังสนับสนุนพวกธุรกิจอฉ้อโกง หรือ "จีนเทา" ที่ล่อลวงทำร้ายคนจีน 

แต่เรื่องนี้ไม่มีหลักฐานยืนยัน และที่สำคัญ กองทัพเมียนมาไม่ใช่ศัตรูกับจีน แต่เป็นมิตรสหายอันดี ในสายตาโลกตะวันตกนั้นถึงกับมองว่า ทหารเมียนมา จีน รัสเซีย เกาหลีเหนือ และอิหร่าน คือ "พวกตัวร้าย" ที่รวมหัวกันต่อต้าน "ค่านิยมตะวันตก" 

แต่มิตรสหายอันดีไม่จำเป็นต้องรู้ใจกันตลอดเวลา จีนไม่แทรกแซงเมียนมา เมียนมาก็จะไม่รบกวนจีน แต่เพราะเมียนมาเป็นประเทศไม่ปกติ เพราะเป็นประเทศที่มี "สงครามกลางเมืองที่ยาวนานที่สุดในโลก" หลายพื้นที่กองทัพเมียนมาควบคุมไม่ได้ และเผอิญพื้นที่พวกนั้นมักอยู่ใกล้จีน

จุดต่อต้านกองทัพที่แข็งแกร่งเป็นพิเศษคือรัฐกะชีน กองทัพเอกราชกะชีน  (KIA) ซึ่งกองทัพปราบไม่ได้และเชิญมาเป็นพวกไม่สำเร็จ นอกจากรัฐกะชีนจะอยู่ห่างไกลและทุรกันดารซึ่งทำให้รบยากแล้ว KIA ยังมีต้นทุนมหาศาลจากการควบคุมการค้าหยก ทองคำ และไม้ ซึ่งมีอยู่มากมาย  

นี่ความแกร่งของ  KIA แต่ความแกร่งนี้ไม่มีปัญหาต่อจีน เพราะการค้าหยก ทองคำ และไม้ ไม่ใช่สิ่งที่ทำลายสังคมจีน ตรงกันข้าม มันคือทรัพยากรที่จีนต้องการอย่างมาก 

ตรงกันข้ามกับพื้นที่รัฐฉาน ซึ่งมีกองทัพชนกลุ่มน้อยมากมาย ภายในกลุ่มต่างๆ ก็มักจะขัดแย้งกันเอง มีทั้งกลุ่มที่ต่อต้านกองทัพเมียนมา กลุ่มที่เอากองทัพ กลุ่มที่เอาจีน กับกลุ่มที่เอาตะวันตก 

ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงนั้น มันอยู่ที่วิธีหาเงินของกองกำลังพวกนี้ในรัฐฉานมักหากินกับยาเสพติด การพนัน และการฉ้อโกงออนไลน์ ยาเสพติดมักจะทะลักเข้าไปในจีน การพนันจะเป็นช่องทางให้พวกข้าราชการในจีนมาฟอกเงินฉ้อราษฎร์บังหลวง ส่วนธุรกิจฉ้อโกงออนไลน์ได้ล่อลวงคนจีนมาเป็นเหยื่อจนเสียเงินที่เก็ยมาทั้งชีวิต และยังต้องถูกขายตัวมาเป็นแรงานทาสที่เมียนมาอีก 

เมื่อมันเป็นภัยคุกคามร้ายแรงขนาดนี้ จีนจึงบอกให้เมียนมาจัดการซะ วิธีการก็ไม่ยากไปกว่า กองทัพเมียนมาต้องเลิกสนับสนุนพวกนี้ 

กองทัพเมียนมาทำให้ไม่ได้ เพราะคนในกองทัพได้เงินจากธุรกิจพวกนี้ด้วย ไหนจะเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กองกำลังที่ภักดีต่อตนอีก "ตั๊ดมะด่อ" จึงไม่ทำตามจีน

ผลก็คืออย่างที่บทความก่อนหน้านี้บอกไว้นั่นคือร่ำลือกันว่า จีนหันมาสนับสนุนลับๆ ให้กับกลุ่มต่อต้านกองทัพเมียนมา จนกลายเป็นสงครามในภาคเหนือของเมียน และทำให้กองทัพเมียนมาพ่ายแพ้แบบรัวๆ

แต่ในเป็นการสั่งสอนจริงหรือไม่นั้น ก็อย่างที่บทความก่อนหน้านี้วิเคราะห์ไว้ นั่นคือยากที่จะเป็นการสั่งสอน แต่ควรจะเรียกว่าเป็นการ "แก้เผ็ด" มากกว่า ในกรณีที่รู้ชัดๆ ว่าจีนอยู่เบื้องหลังจริง 

จีนแก้เผ็ดอย่างไรบ้าง? อย่างแรก ในเดือนมกราคมปี 2023 เมียนมาเป็นเจ้าภาพการประชุมกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและส่งเทียบเชิญนายกรัฐมนตรีจีนในขณะนั้น คือ หลี่เค่อเฉียง มาร่วมงาน แต่ปรากฎว่าไม่มีสัญญาณตอบรับจากฝ่ายจีน ทำให้เกิดเสียงลือกันว่า "จีนเล่นเมียนมาเข้าให้แล้ว"

ต่อมา ในช่วงกลางปี ปัญหาเรื่องจีนเทาในเมียนมาภาคเหนือเริ่มจะหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ จีนบอกให้เมียนมาจัดการอีกครั้ง แต่ก็ไม่มีปฏิกิริยาอะไร ดังนั้นในช่วงปลายปี จีนจึงลงมือเองด้วย "สนับสนุน" การเริ่มกวาดล้างจีนเทาในเมียนมาภาคเหนือของกองกำลังต่างๆ ในพื้นที่

นี่คือจุดเริ่มต้นของเสียงร่ำลือว่า "จีนไม่เอาตั๊ดมะด่อ" เสียแล้ว และนี่คือการสั่งสอนทหารเมียนมาให้มันรู้ซะบ้างว่าการไม่ฟังจีนมันมีผลอย่างไร

และทหารเมียนมาก็น่าจะรู้ตัวดีว่าถูกจีนเล่นงานซะแล้วจึงทำการตอบโต้ ซึ่งในบทวิเคราะห์ของสวถาบัน The United States Institute of Peace เรื่อง "อิทธิพลของจีนเพิ่มขึ้นท่ามกลางความไม่มั่นคงของเมียนมา" ชี้ว่า "ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน กองทัพได้จัดกลุ่มประท้วงเพื่อเดินขบวนโจมตีสถานทูตจีนในย่างกุ้ง ซึ่งต่อต้านการสนับสนุนของจีนต่อพันธมิตรสามภราดรภาพ และกล่าวหาจีนว่าแทรกแซงกิจการภายในของตน ในทางตรงข้าม เรื่องนี้ยิ่งช่วยให้ MNDAA ให้การสนับสนุนในจีนได้อย่างมั่นคง โดยจีนปรับใช้กลไกโฆษณาชวนเชื่ออย่างรวดเร็วเพื่อทำให้เกิ แสดงความรู้สึกต่อต้านจีนที่เพิ่มขึ้นของกองทัพเมียนมาร์บน WeChat และเพิ่มการเรียกร้องให้กำจัด “เผด็จการทหาร” เป็นทวีคูณ"

จะเห็นได้ว่าตั๊ดมะด่อพยายามตอบโต้จีนที่ "สั่งสอน" แต่กลับถูกจีนสั่งสอนกลับอีกต่อหนึ่ง ด้วยการทำให้กระแสสังคมในจีนต่อต้านทหารเมียนมาและหันมาสนับสนุนพันธมิตรภราดรภาพ ซึ่งพึ่งพาได้มากกว่าเพราะช่วยกำจัดพวกจีนเทา

มาถึงตอนนี้ ตั๊ดมะด่อดูเหมือนจะจนมุมต่อการสั่งสอนจีนในทุกทางแล้ว เหลือแค่จีนจะสนับสนุนพันธมิตรภราดรภาพแบบเปิดเผยเมื่อไรเท่านั้น 

ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ ทหารเมียนมาก็ยังพ่ายยับนับไม่ถ้วนแล้ว จนฝ่ายพันธมิตรภราดรภาพยึดฐานที่มั่นสำคัญในรัฐฉานได้อีกแห่ง 

แต่ด้วยความที่จีนเป็นผู้ได้และเสียประโยชน์โดยตรง จีนจึงต้องรับเป็นคนกลางเจรจาระหว่างฝ่ายต่อต้านและกองทัพเมียนมา

แม้ว่าผลที่ออกมาจะยังไม่เป็นรูปธรรมเพราะทั้งสองฝ่ายยังรบกันต่อไป แต่เรื่องนี้เพิ่มเครดิตให้กับจีนได้อย่างมหาศาล 

จีนถือว่าโชคดีที่ตั๊ดมะด่อไม่ได้ "มีปัญญาแหลมคม" และไม่ได้มี "ความอำมหิต" เหมือนในยุคก่อนๆ หาไม่แล้วพวกทหารเมียนมาคงจตัดสินใจเดินตามเส้นทางตัวเองโดยไม่แยแสจีนเลย ซึ่งนั่นจะเป็นผลเสียกับจีนทั้งขึ้นทั้งล่อง

แต่จีนโชคดีที่หลังจากที่สั่งสอนทหารเมียนมาไปแล้วหลายดอก ทหารเมียนมาก็เริ่มรู้ตัวว่าไม่แยแสจีนไม่ได้ บทวิเคราะห์ของสวถาบัน The United States Institute of Peace จึงวิเคราะห์ไว้ว่าหลังจากนั้น "รัฐบาลเผด็จการทหารถอยหลังอย่างรวดเร็ว โดยโยนความผิดให้กับผู้กระทำผิดอื่นๆ อีกหลายรายที่เป็นต้นเหตุของความล้มเหลวในสนามรบ รวมถึงสหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และแม้แต่ติมอร์-เลสเต และเริ่มร้องขอความช่วยเหลือจากจีน โดยเชิญปัญญาชนชาวจีนที่คลั่งไคล้ชาตินิยมมายังเมียนมาร์เพื่อ “ศึกษาดูงาน” และยังปั่นกระแสความไม่พอใจในสื่อจีน โดยกล่าวหากองทัพกลุ่มชาติพันธุ์ ว่าเป็น “เจ้าพ่อยาเสพติด” และใช้ “เงินทางอาญา” และอิทธิพลจากตะวันตกเพื่อ ทำลายอธิปไตยของเมียนมา"

นั่นแสดงว่าจีนสั่งสอนสำเร็จแล้ว 

และก็สำเร็จจริงๆ เพราะ The United States Institute of Peace ตั้งข้อสังเกตว่า ทหารเมียนมายอมที่จะให้จีนออกหมายจับพวกจีนิเทาในเขตโกกั้งอีก ซึ่งหมายความว่า ทหารเมียนมายอมยกโกกั้งให้กับพันธมิตรภราดรภาพเข้ามาควบคุม

และน่าจะหมายความว่ายอมให้จีนแผ่อิทธิพลเข้ามากลายๆ แล้ว ณ พื้นที่แห่งนั้น

แต่การแก้เผ็ดกับการสั่งสอนต้องพอเหมาะพอดี หากมากไปอาจทำให้จีนเดินเกมพลาดเต็มๆ เพราะเมียนมาคือจุดยุทธศาสตร์ที่จีนจะปล่อยให้วุ่นวายไม่ได้ 

หากสนับสนุนพันธมิตรภราดรภาพมากเกินไป ก็เสี่ยงที่พวกนี้จะควบคุมได้ยากและอาจถูกแทรกแซงโดยชาติตะวันตก

หากปล่อยให้ทหารเมียนมาแพ้จนล่มสลาย อนาคตของของจีนในพื้นนที่แถบนี้จะหายไปในทันที แม้ว่าจะยังมีผลประโยชน์อยู่ แต่ผู้มีอำนาจกลุ่มใหม่จะยกให้จีนหรือ? 

อย่างแรก จีนต้องการพลังงานจากเมียนมาโดยลงทุนสร้างท่อส่งก๊าซจากอ่าเบงกอลมายังยูนนาน เรื่องนี้ทำให้กองทัพเมียนมาถูกคนในประเทศด่่าว่าขายก๊าซให้จีนทั้งๆ ที่ไฟฟ้าในประเทศติดๆ ดับๆ

อย่างที่สอง จีนต้องการทางออกทะเลที่เมียนมา จึงมีโครงการท่าเรือเจาะพยู ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของจีน เพราะจีนไม่มีทางออกทะเลด้านทิศตะวันตก และที่เจาะพยูยังเป็นปลายทางของท่อก๊าซท่อน้ำมันที่ส่งไปจีน เป็นปลายทางของเส้นทางรถไฟคุนหมิง-เจาะพยู และยังเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะเอาไว้รองรับจีน 

อย่างที่สาม เมียนมาเป็นรัฐกันชนระหว่างจีนกับอินเดีย ซึ่งวันดีคืนดีมักทะเลาะกันเรื่องพรมแดน แม้ว่าเมียนมาจะไมได้อยู่ในพื้นที่พิพาท แต่จะไม่เป็นการดีถ้าเกิดเมียนมาเอนเอียงไปทางอินเดีย

อย่างที่สี่ เมียนมารู้จักการถ่วงดุล กองทัพเมียนมาจึงมีทั้งเรือดำน้ำจากอินเดีย (เรือ UMS Min Ye Theinkhathu) และเรือดำน้ำจากจีน (เรือ UMS Min Ye Kyaw Htin) 

อย่างที่ห้า เรื่องอินเดียยังไม่น่าห่วงเท่ากับการที่เมียนมาจะล้มครืนแล้วแตกเป็นเสี่ยงๆ หากเมียนมาแตกเป็นประเทศเล็กประเทศน้อย นโยบายความมันคงของจีนคงต้องยกเครื่องกันใหม่ เพราะเสี่ยงที่มือที่สามจะเข้ามาแทรก

ในบรรดาทั้ง 5 ข้อนี้ จีนควรจะคิดถึงเรื่องทางออกทะเลที่เจาะพยูมากที่สุด เพราะลงทุนไปเยอะ หากไม่เอากองทัพเมียนมา การลงทุนจะละลายกลายเป็นอากาศธาตุเอาง่ายๆ ที่สำคัญมันคือปลายทางของเส้นทางโลจิสติกสำคัญจากภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนไปออกทะเลสู่โลกกว้าง 

เส้นทางนี้เริ่มจากเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ผ่านเมียนมาทั้งประเทศ หากเส้นทางที่รถไฟสายนี้ผ่านไปไม่ปลอดภัยขึ้นมา คนที่จะเสียหายไม่ใช่แค่กองทัพเมียนมา แต่ยังรวมถึงจีนด้วย 

ดังนั้น การลุกฮือล่าสุด แม้ว่าฝ่ายต่อต้านจะได้เปรียบกว่ากองทัพเมียนมา แต่จีนคงไม่ปล่อยให้มันวุ่นวายไปกว่านี้ได้ เพราะมันจะกระทบตั้งแต่ต้นทาง (ชายแดนยูนนาน) ไปยันปลายทาง (รัฐยะไข่) ในเวลานี้การรบรุนแรงมากที่ชายแดนจีนซึ่งเป็นต้นทาง และยังมีกองทัพอาระกัน (กองทัพยะไข่) เคลื่อนไหวในรัฐยะไข่อย่างหนักขึ้นมาอีก เรียกว่าวุ่นวายกันเหนือจรดใต้ของเส้นทางนี้ 

บทวิเคราะห์โดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better 
ภาพประกอบข่าว -
ภาพถ่ายนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 แสดงให้เห็นสมาชิกของกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยกลุ่มชาติพันธุ์ Ta'ang National Liberation Army (TNLA) ยืนคุ้มกันในบริเวณวัดของค่ายบนเนินเขาที่ถูกยึดมาจากทหารเมียนมาร์ ในเมืองน้ำสั่น ทางตอนเหนือของรัฐฉานของเมียนมา เมืองน้ำสั่น ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาทางตอนเหนือของรัฐฉาน เป็นหนึ่งในเมืองที่ตกเป็นเหยื่อนักรบของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) นับตั้งแต่ที่พวกเขาเปิดฉากปฏิบัติการจู่โจมต่อรัฐบาลเผด็จการทหารของเมียนมาร์เมื่อเดือนตุลาคม