ณ เวลานี้คำว่า'เชื่อมจิต'กำลังกลายเป็นคำฮิตแห่งช่วงปลายปี จากกรณีของ "องค์เพชรภัทรนาคานาคราชอาจารย์น้องไนซ์ นิรมิต เทวาจุติ" หรือ "น้องไนซ์" เด็กชายวัน 8 ขวบที่มีผู้เชื่อว่ามีพลังพิเศษในการถ่ายทอดธรรมะ โดยรูปแบบหนึ่งของการเผยแพร่ธรรม คือ "การเชื่อมจิต"
การเชื่อมจิตคืออะไร ผมขออาราธนาท่านผู้อ่านไปศึกษาได้จากบทความเรื่อง "การเชื่อมจิต" ที่ผลิตขึ้นโดยคณะศิษยานุศิษย์ นิรมิตเทวาจุติ เพราะผมเองกลัวที่จะอธิบาย หากอธิบายผิดเดี๋ยวคณะศิษย์จะเอาเรื่อง
ในฐานะที่สนใจประวัติศาสตร์พุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน ได้ทราบมาบ้างว่า พุทธศาสนามีความล้ำลึกและหลากหลาย มีสิ่งที่คล้ายกับ "การเชื่อมจิต" อยู่เหมือนกัน แต่มันไม่เหมือนกับที่ลัทธิน้องไนซ์เขาทำกัน
อย่างแรกก็คือ การทำอะไรกับจิตนั้นจะต้องผ่านการปฏิบัติธรรม ผ่านการอบรม ผ่านการศึกษาตำรามาระดับหนึ่งให้เข้าใจ ไม่ใช่ให้ใครที่ไหนที่ไม่ได้ผ่านการรับรอง "ภูมิธรรม" มาทำตามอำเภอใจ
พุทธศาสนาไม่ได้ห้ามทำตามอำเภอใจ เพียงแต่ทำแบบนั้นแล้วอาจหลงทางกันไปใหญ่จนตัวเองพ้นทุกข์เพราะผิดวิธี หรือไปจำเขามาแล้วมาสอนแบบสะเปะสะปะ ย้ำอีกทีว่าไม่ห้าม แต่มันจะเสียเวลา
ตัวอย่างเช่น ในพุทธศาสนาแบบวัชรยานในทิเบต ในอินเดียตอนเหนือ ในเนปาล ในมองโกเลีย และไซบีเรียของรัสเซีย มีพระลามะที่ปฏิบัติถึงขั้นสูงแล้วสามารถ "นำจิตไปต่อจิตได้" หรือการเลือกสถานที่เกิดใหม่ที่เหมาะสม เพื่อเกิดมาเป็นพระต่อไปเพื่อโปรดสรรพสัตว์ เพราะพระลามะเหล่านี้มีปณิธานความตั้งที่จะเป็นพระโพธิสัตว์ คอยช่วยเหลือผู้คนจนกว่าพวกเขาจะพ้นทุกข์
ดังนั้น เมื่อพระลามะระดับสูงที่ปฏิบัติอย่างเข้มข้นและมีความรู้ลึกซึ้งมากมรณภาพแล้ว จะบอกว่าท่านไปเกิดยังที่ไหน ทางวัดหรือราชการจะจัดคณะติดตามไปค้นหา แล้วทดสอบว่าเป็นตัวจริงหรือไม่ เพื่อรับรองว่าไม่ผิดตัวแล้ว จะนำตัวกลับมาสั่งสอนอบรมวิชาธรรมะในพุทธศาสนากันอีกครั้งโดยศิษย์ในอดีตของลามะนั่นเอง เพราะแม้จะเป็นลามะระดับสูงกลับชาติมาเกิดก็ตามแต่ตอนนี้อยู่ในภาวะเด็กคนใหม่ที่เหมือนผ้าที่ถูกซักหมาดๆ ให้เป็นผ้าขาวอีกครั้ง วิชาความรู้จากชาติก่อนจะค่อยๆ ลืมไปจนหมดในไม่ช้า
ด้วยเหตุนี้เอง ในทิเบตจึงยอมรับว่าเด็กสามารถเป็นลามะชั้นสูงได้ แต่เด็กที่กลับชาติมาเกิดคนนั้นยังไม่พร้อมที่จะสอนจนกว่าจะเรียนจบหลักสูตรเปรียญธรรม ซึ่งมีหลายขั้นแต่ละขั้นก็ซับซ้อนมาก
ไม่ใช่ว่าเห็นเป็นเด็กมีความรู้เรื่องธรรมะติดตัวมาจากชาติเดิมบ้าง แล้วก็เฮละโลยกกันเป็นอาจารย์รับการการเชื่อมจิตกันอย่างง่ายดาย
วิธีการข้างต้นของทิเบต ใช้กับการสืบทอดตำแหน่งดาไลลามะด้วย รวมถึงพระลามะชั้นสูงมากมาย ทั้งหมดเคยเป็นเด็กมาก่อน เคยจำบางอย่างจากชาติที่แล้วได้บ้าง แต่ไม่สามารถสอนใครได้จนกว่าจะผ่านการเรียนซ้ำอีกครั้ง โดยมีพระจำนวนมากคอยควบคุมว่ามาถูกทาง
พวกท่านเหล่านี้ไม่ได้แวดล้อมด้วยญาติโยมแแบบน้องไนซ์ แต่แวดล้อมด้วยตำราทางพุทธศาสนาและอยู่ในสายตาของครูบาอาจารย์
กรณีน้องไนซ์นั้น ผมขอแนะนำว่าถ้าเด็กชอบธรรมะจริงๆ พ่แม่ควรจะส่งไปให้อยู่ในความดูแลของพระภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเสียจะดีกว่า ไม่แน่ว่าน้องไนซ์อาจจะได้ "ปลุกของเก่า" กลับมา โดยรับการสั่งสอนธรรมะลึกซึ้งและจริงแท้จากพระอาจารย์ที่มากประสบการณ์
หากปล่อยไปแบบนี้โดยไม่มีการอบรมสั่งสอน จะคล้ายๆ กับอดีตลามะทิเบตบางท่านที่กลับชาติมาเกิดใหม่ แต่ไปเกิดยังสถานที่ไม่เหมาะสม อยู่ห่างไกลธรรมะและครูอาจารย์ ทำให้ลืมว่าตัวเองเคยเป็นใครและตั้งจะทำอะไรในไม่ช้า เมื่อเติบโตขึ้นก็กลายเป็นคนธรรมดาสามัญ สูญเสียความสามารถที่สั่งสมมายาวนานไป
เรื่องที่ยกมานี้ เป็นวิถีของพุทธศาสนาในทิเบต ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลักสำคัญของพุทธศาสนาคือเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด บางคนอาจรู้สึกว่าพิสูจน์ไม่ได้ แต่หากต้องการพิสูจน์ มีหนังสือหนังหามากมายในภาษาต่างประเทศ ที่รับรองการกลับชาติมาเกิดของพระลามะในทิเบต หากสนใจลองศึกษา จะช่วยให้เข้าใจพุทธศาสนาในดินแดนอื่นๆ มากขึ้นที่นอกเหนือจากในประเทศไทย
อย่างที่บอกไปว่าพุทธศาสนานั้นยิ่งใหญ่ไพศาลมาก มีทั้งเรื่องเหลือเชื่อ เรื่องอภินิหาร ซึ่งคนไทยบางคนหัวเราะเยาะ เพราะอยากจะเป็นฝรั่งหัวสมัยใหม่ แต่ลืมคิดว่าฝรั่งสมัยใหม่มากมายถวายตัวเป็นศิษย์พระลามะวัชรยานและพระอาจารย์มหายานกันมากมาย เพราะเชื่อในความอัศจรรย์ของพุทธศาสนา
ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจที่พุทธศาสนาแบบทิเบตที่ดูจะเกี่ยวกับเรื่องที่ "พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้" จะได้รับความนิยมอย่างมากในโลกตะวันตก กระทั่งพระชั้นนำอย่างดาไลลามะที่ 14 ท่านกรรมาปะที่ 13 และอื่นๆ ต่างได้รับการยอมรับไปทั่วโลกในฐานะนักปราชญ์
เรื่องของน้องไนซ์ ผมจึงต้องอธิบายในแง่มุมของพุทธศานาแบบที่ "พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้" เพราะมันคล้ายกับกรณีลามะเด็กในทิเบต จะให้อธิบายเป็นวิทยาศาสตร์ เกรงว่าจะไม่มีวันเข้าใจกัน พาลจะกลายเป็นเรื่องน่าเย้ยหยันกันไปเสียอีก
การอธิบายปรากฏการณ์โลกนั้นนะครับ ถ้ากรอบการอธิบายแบบหนึ่งมันไมได้ผล ก็พึงหากรอบอื่นๆ มาอธิบาย แล้วเราจะรู้แจ้งเห็นจริงเอง โลกเรานั้นไม่ได้มีแง่มุมเดียว ยิ่งโลกของพุทธศาสนายิ่งสลับซับซ้อนกว่านั้นมาก
อย่างเรื่องน้องไนซ์นั้นจะอธิบายเรื่องกลับชาติมากเกิดก็ได้ เรื่องเชื่อมจิตนั้นก็ยังเทียบลได้กับแนวคิด "จากจิตส่งต่อถึงจิต" ได้เช่นกัน
"จากจิตส่งต่อถึงจิต" คำๆ นี้ใช้กันมากในพุทธศาสนามหายาน ฝ่ายนิกายเซน ซึ่งแพร่หลายในประเทศจีน (เรียกว่านิกานฉาน) ในเกาหลี (เรียกว่านิกายซอน) และในญี่ปุ่น (เรียกนิกายเซน) ทั่วโลกเรียกนิกายนี้ว่า "เซน" ตามญี่ปุ่น เพราะรู้จักครั้งแรกผ่านคนญี่ปุ่น แต่ต้นกำเนิกอยู่ในอินเดียแล้วเจริญในจีน จากนั้นไปเผยแพร่ในเกาหลีและญี่ปุ่น
ภาษาสันสกฤต (ภาษาโบราณของอินเดีย) ของคำว่า "เซน" หรือ "ฉาน" คือคำว่า "ธยาน" เป็นคำเดียวกับภาษาบาลีว่า "ฌาน"
ดังนั้นนิกายเซน คือนิกายแห่งการปฏิบัติฌาน กรรมฐาน วิปัสสนา
นิกายเซนไม่เหมือนนิกายอื่นตรงที่สอนธรรมะด้วยปริศนาธรรม กรรมฐานพิจารณาข้อธรรมที่ดูไม่สมเหตุสมผล เมื่อเวลาสุกงอมอาจารย์อาจใช้วิธีที่เหนือความคาดหมายในการกระทุ้งจิตของศิษย์ให้สว่างขึ้นมา
ทั้งหมดนี้อยู่เหนือเหตุและผลทางโลก อธิบายด้วยตรรกะของปุถุชนไม่ได้ แต่อาจารย์กับศิษย์ต่าง "รู้ใจกัน"
นี่เองถึงเรียกว่า "จากจิตส่งต่อถึงจิต" (以心傳心) หรือสั้นๆ ว่า "จากจิตถึงจิต" ซึ่งก็คือคือการส่งมอบธรรมะจากคนรุ่นหนึ่ง (ซึ่งรู้แจ้งแล้ว) ไปยังอีกรุ่นหนึ่ง (ซึ่งกำลังจะรู้แจ้ง)
นิกายเซนส่งต่อจากจิตถึงจิตอย่างไร? ที่แน่ๆ ไม่ได้ใช้นิ้วไปแตะหน้าผาก แต่เป็นการตระหนักว่าเข้าใจว่าอีกฝ่ายเข้าใจเหมือนตน
พูดสั้นๆ ภาษาชาวบ้านก็คือ "มองตาก็รู้ใจ" เป็นคำที่เข้าใจง่ายๆ มากกว่าคำว่า "จากจิตส่งต่อถึงจิต" ดังนั้นคนทั่วไปในญี่ปุ่นจึงรับเอาคำศัพท์ของนิกายนี้มากใช้ด้วย เป็นสำนวนว่า "อิชินเด็นชิน" (以心伝心) ซึ่งมาจากภาษาจีนว่า "อี่ซินเฉวียนซิน" (以心傳心) ความหมายคือ มองตาก็รู้ใจ, สื่อสารกันโดยไม่ต้องพูด, ใจถึงใจ ฯลฯ กลายเป็นคำที่สะท้อนวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ดีที่สุดคำหนึ่ง
บางคนบอกว่าการส่งจิตถึงกันมันฟังดูนามธรรมมาก ซึ่งก็ถูกต้อง เพราะพุทธศาสนามีหลายแง่มุม บางแง่มุมนั้นประสบการณ์แบบคนธรรมาสามัญไม่มีทางเข้าใจ ยกเว้นว่าได้ผ่านการปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้นมาแล้วเท่านั้น
ย้ำอีกครั้งว่า การส่งต่อจิตในนิกายเซนไม่ใช่ทำกันเล่นๆ แบบใช้นิ้วแตะหน้าผาก แต่ทำได้ก็ด้วยการปฏิบัติธรรมกันแบบเอาเป็นเอาตาย มีแต่คนที่ผ่านการเคี่ยวกรำแบบเดียวกันเท่านั้นที่ "มองตาก็รู้ใจ" ได้ เหมือนพระในนิกายเซน
เช่น ตัวอย่างจากเรื่องนี้ที่เกิดขึ้นในประเทศจีนสมัยราชวงศ์ถัง หรือประมาณ 1,500 ปี
พระภิกษุซุ่นเต๋อแห่งวัดหลงเช่อในเมืองหังโจว ถามพระเถระเสวี่ยเฟิงว่า "ดังเช่นบูรพาจารย์แต่ก่อนเก่า เช่นไรคือการส่งต่อจากจิตถึงจิต?"
พระเถระเสวี่ยเฟิงตอบว่า "ไม่ยึดมั่นทั้งข้อเขียนและคำพูด"
พระภิกษุซุ่นเต๋อถามต่อว่า "ไม่ยึดมั่นทั้งข้อเขียนและคำพูด แล้วจะสอนกันอย่างไร?"
พระเถระเสวี่ยเฟิงนิ่งไม่พูดไม่จาเป็นเวลานาน
ครั้นแล้วพระภิกษุซุ่นเต๋อก็แสดงความขอบคุณท่าน
จบปริศนาธรรมเรื่อง "จิตส่งต่อถึงจิต" คืออะไร?
ถามว่ารู้ได้อย่างไรว่าจิตรู้ธรรมของอาจารย์ได้ถูกส่งต่อไปยังศิษย์ และศิษย์รู้แจ้งแล้ว? เรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างอาจารย์กับศิษย์สองคน เป็นภาวะของการ "มองตาก็รู้ใจ" เพราะหาศิษย์ได้ผานการเคี่ยวกรำอย่างมากมายเหมือนที่อาจารย์เคยผ่านมา อาจารย์แค่หาจังหวัดกระทุ้งนิดเดียว "จิตก็จะรู้แจ้ง"
การที่พระเถระเสวี่ยเฟิงบอกว่า การต่อจิตถึงจิตนั้น "ไม่ยึดมั่นทั้งข้อเขียนและคำพูด" เป็นเพียงขั้นตอนสุดท้ายของการต่อจิตแบบเซน เพราะการจะถึงภาวะมองตาก็รู้ใจกันได้นั้น พระเซนต้องศึกษาพระสูตรที่มีความหน้านับร้อยหน้า ตำราอีกมากมาย ต้องฟังพระธรรมเทศนาของอาจารย์ ต้องถกเถียงหลักธรรมะกับอาจารย์หลายต่อหลายครั้ง
จนกระทั่งมาถึงจุดที่คำพูดไม่มีความหมาย ตัวอักษรไม่มีความจำเป็น เพราะทั้งหมดกลายเป็นหนึ่งเดียวกับผู้ปฏิบัติธรรม นี่แหละท่านจึงบอกว่า "ไม่ยึดมั่นทั้งข้อเขียนและคำพูด" เพราะพระพุทธองค์ตรัสไว้ในวัชรสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรสำคัญของมหายานว่า พระธรรมของพระองค์เป็นเหมือนแพ เมื่อถึงฝั่งคือการรู้แจ้งแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้แพอีก
หลักใหญ่ของการ "เชื่อมจิต" แบบนิกายเซนเขาเป็นแบบนี้ และทำกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ไม่ใช่เพิ่งมาประดิษฐ์เอาไม่กี่เดือนก่อน
นิกายเซนต่อจิตกับจิตแบบนี้ ในตำราของพุทธศาสนามหายานกล่าวว่ามีมาตั้งแต่สมัยพระพุทธองค์ทรงประทับที่เขาคิชฌกูฎท่ามกลางหมู่สงฆ์ ครั้นแล้วทรงหยิบดอกไม้ขึ้นมาดอกหนึ่ง แล้วชูขึ้นมา
มีแต่พระมหากัสสปที่ยืนขึ้นแล้วแย้มยิ้ม โดยไม่พูอะไรสักคำ
พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า "เรามีสมบัติคือจักษุธรรม มีจิตอันเป็นสัทธรรมแห่งพระนิพพาน ภาวะแห่งพุทธะไม่มีรูปลักษณ์ ประตูแห่งธรรมอันคัมภีรภาพนี้ มิได้สถาปนาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร อยู่นอกเหนือธรรมเทศนา ได้ส่งมอบไปยังมหากัสสป"
เมื่อเป็นการแสดงว่ามหากัสสปได้รับการต่อจิตถึงจิต พระพุทธองค์ทรงมอบจีวรขลิบทองให้พระมหากัสสปเป็นเครื่องหมายของการสืบทอดวิถีธรรมะนี้
เรื่องนี้มีบันทึกต่อมนในตำรามหายานว่า จากพระมหากัสสปได้รับจีวรของพระพุทธองค์ก็ได้ส่งต่อธรรมะแบบจิตถึงจิตมาถึงพระอานนท์พร้อมกับจีวรเป็นเครื่องหมายรับรอง จากพระอานนท์ต่อจิตกันมาเรื่อยๆ ท่านถึงพระปรัชญาตระ รุ่นที่ 27 แล้วต่อจิตรู้แจ้งให้พระโพธิธรรมรุ่นที่ 28 ผู้เดินทางมายังจีน ท่านโพธิธรรมหรือตั๊กม๊อถือเป็นบูรพาจารย์เซนจากอินเดียรุ่นที่ 28 แต่เป็นรุ่นที่ 1 ของจีน
ครั้นวิถีจากจิตส่งต่อถึงจิตสืบทอดมาถึงประเทศจีน โดยมีการส่งต่อจีวรนี้ก็ดำเนินมาถึงบูรพาจารย์สายจีนรุ่นที่ 6 คือพระเถระฮุ่ยเหนิง ท่านตัดสินใจไม่ส่งมอบจีวรให้รุ่นต่อไป เพราะสมัยของท่านบูรพาจารย์รุ่นที่ 5 นั้นถึงกับไล่ล่าฆ่าฟันกันแทบตายเพื่อแย่งชิงผู้สืบที่แท้จริง
อันที่จริงแล้ว ในสมัยบูรพาจารย์รุ่นที่ 4 และรุ่นที่ 5 คือพระเถระต้าวซิ่นและพระเถระหงเริ่น จีวรผู้นำนิกายถูกขโมยไปถึง 3 ครั้ง ถึงยุคบูรพาจารย์ลำดับที่ 6 คือท่านฮุ่ยเหนิง จีวรถูกขโมยไปถึง 6 ครั้ง
จะเห็นได้ว่าแม้แต่ในยุคนั้น (คือสมัยราชวงศ์ถัง) คนที่มัวเมานั้นก็มีเหมือนสมัยนี้ พวกนี้ไม่สนใจการสืบทอดพระธรรม เอาแต่หลงกับกับการเป็นประมุขแห่งนิกายมากกว่า
พระเถระฮุ่ยเหนิงท่านจึงเห็นว่าจีวรจะนำเภทภัยมาสู่ผู้คน ท่านจึงเลิกเสีย
ดังนั้นท่านฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า "ผู้ที่ได้รับธรรมะจากเราแล้ว ถือว่าได้รับพระศาสนาจากเราแล้ว ไม่ควรมีการสืบทอดจีวรของเราต่อไปอีก" แต่นั้นมาก็มีแต่การจากจิตส่งต่อถึงจิตอย่างเดียว ผ่านมาพันกว่าปีนิกายเซนเจริญรุ่งเรืองไปทั่วโลก และยังใช้วิธี "จากจิตส่งต่อถึงจิต" แบบเดิม
จนกระทั่งมีการคิดค้น "การเชื่อมจิต" ในโดยคณะน้องไนซ์ในพุทธศักราช 2566 ซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อนในสารบบพุทธศาสนาไม่ว่าจะนิกายไหน
บทความทัะศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better