NIA และ กทม. จับมือเอกชนพลิกโฉมอารีย์สู่ ย่านนวัตกรรมฉลาดรู้ ดึงเครือข่ายและ 4 สินทรัพย์ปั้นทำเลARITech
เมื่อพูดถึงพื้นที่อยู่อาศัยหลายคนคงวาดฝันว่าพื้นที่ๆ ตัวเองอยู่จะสามารถเป็นทั้งพื้นที่อยู่อาศัย พื้ที่ทำงานและกินดื่มได้ในที่เดียว การเป็นมากกว่า Smart city ที่ไม่เพียงแต่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ดีขึ้น ยังส่งเสริมให้คนนอกพื้นที่สามารถเข้ามา และทำให้เศรษฐกิจในย่านนั้นดีตาม
การพัฒนานวัตกรรมในเชิงพื้นที่ ส่งเสริมพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลาง โดยสามารถใช้ชีวิตในพื้นที่ได้ใน 15 นาที เช่นการเดินทางจากบ้านไปที่ทำงาน หรือไปร้านอาหาร ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีในการทำกิจกรรมต่างๆ ดังนั้นนวัตกรรมจำเป็นจะต้องตอบโจทย์คนเมือง และคนในพื้นที่ไปด้วยกัน
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับกรุงเทพมหานคร เดินหน้าพัฒนาย่านนวัตกรรมอารีย์ด้วยการนำเทคโนโลยีเชิงลึกด้านอารีเทค หรือ “ARITech” ประกอบ AI, Robotics, Immersive, IoTs
AI ระบบที่ช่วยทำการเรียนรู้พฤติกรรมที่มีความหลากหลาย สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็วได้อย่างเหมาะสม
Robotics เราไม่สามารถใช้แรงงานคนทั้งหมดเพื่อให้ย่านอารีย์เป็นพื้นที่ๆมีความเป็นอยู่ที่ดี มีประสิทธิภาพในการจัดการ
Immersive เปรียบเสมือนพท้นที่จริงในโลกเสมือนเพื่อช่วยในแก้ปัญหาความอึดอัดในพื้นที่เดิม มีการส่งข้อมูลเรียลไทม์ลงในพื้นที่เสมือนเพื่อให้เราทราบข้อมูลข่าวสารข้อจำกัดต่างๆ แม้กระทั่งเกิดเหตุฉุกเฉินเราก็สามารถรับรู้ได้จากพื้นที่นี้
ดังนั้นองค์ประกอบทั้งหมดเกิดขึ้นเพื่อหนุนการเติบโตและผลักดันย่านสู่เมืองฉลาดรู้
4 ปัจจัยสำคัญที่ต้องเร่งเชื่อมโยงเพื่อให้ย่านเกิดความก้าวหน้ามากขึ้น ได้แก่ สินทรัพย์ทางเศรษฐกิจ สินทรัพย์ทางกายภาพ สินทรัพย์ทางเครือข่าย และสินทรัพย์ดิจิทัล โดยจะยกระดับให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่เพื่อรองรับธุรกิจนวัตกรรม การลงทุนจากภาครัฐ – เอกชน กลุ่มธุรกิจเทคจากต่างประเทศ และนำร่องให้ย่านอารีย์ได้เป็นพื้นที่ทดสอบทดลองนวัตกรรมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
นวัตกรรมแก้ Pain Point
ทั้งนี้ ได้มีการจัดกิจกรรมประกวดออกแบบสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาย่านอารีย์ให้น่าอยู่ หรือ ARID Hackathon 2023: Innovation for well-being ซึ่งรางวัลชนะเลิศได้แก่ ทีม PARK :D ที่นำเสนอไอเดียด้านการเชื่อมต่อการสัญจร ผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มเปิดพื้นที่ให้เกิดการใช้ที่จอดรถในรูปแบบ “Parking Lot - Sharing” โดยจะนำโครงการดังกล่าวมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมต้นแบบ เพื่อทดสอบทดลองในพื้นที่ย่านอารีย์ในอนาคต
City Lab อารีย์ ความพิเศษในแง่ของคน
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม. และ NIA มีเป้าหมายที่จะร่วมกันออกแบบนโยบายและดำเนินงานสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ ซึ่งองค์ประกอบสำคัญคือการมีนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ หรือยกระดับสิ่งที่มีความโดดเด่นอยู่แล้วให้มีมูลค่าและเอื้อต่อการใช้ชีวิตมากขึ้น
ทั้งนี้ ย่านอารีย์ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาตร์ที่ปัจจุบันถูกยกระดับให้เป็น “ย่านนวัตกรรม” จุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำไปสู่การอยู่อาศัยที่ดีขึ้น บริการสาธารณะที่สะดวกสบาย ศูนย์กลางความทันสมัย การออกแบบเมืองให้เอื้อต่อการจัดตั้งธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อน และยังสามารถใช้โอกาสสำคัญจากการเคยถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในย่านที่ดีที่สุดในโลกต่อยอดให้เป็นย่านนวัตกรรมที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทยในระดับนานาชาติ และเกิดการใช้นวัตกรรมได้ครอบคลุมทุกมิติ
“กรุงเทพฯ นอกจากมีภาพลักษณ์การเป็นเมืองท่องเที่ยวและอยู่อาศัยแล้ว บริบทสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การเป็นเมืองที่มีระบบนิเวศสตาร์ทอัพและนวัตกรรมที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งในปีนี้มีการขยับอันดับอย่างก้าวกระโดด สะท้อนความโดดเด่นปัจจัยความเป็นเมืองนวัตกรรมหลากหลายด้าน และการเติบโตที่สูงขึ้นนี้มีย่านนวัตกรรมและความโดดเด่นของพื้นที่
เป็นตัวขับเคลื่อน แต่อย่างไรก็ตามในอีกหลายเมืองก็ยังคงต้องการนวัตกรรมเข้ามาช่วยเติมเต็ม ซึ่ง กทม.จะเป็นผู้ช่วยอำนวยความสะดวกในด้านกฎระเบียบ และเชื่อมโยงให้เกิดความเชื่อมั่นที่จะนำนวัตกรรมมาใช้ครอบคลุมถึงการร่วมปั้นย่านนวัตกรรม โดยยึดผลลัพธ์ในด้านคน เมือง เศรษฐกิจ และโอกาสใหม่เข้าไว้ด้วยกัน”
อารีย์ครบ 3 มิติพร้อมเป็น ย่านนวัตกรรม
นายชาญวิทย์ รัตนราศรี ผู้อำนวยการฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA มีแนวทางกระจายและพัฒนาระบบนวัตกรรมเชิงพื้นที่โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ภูมิภาคเมือง และย่าน
โดยมุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 มิติ ได้แก่
การส่งเสริมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการรังสรรค์ระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Infrastructure) กล่าวคือ อารีย์เป็นย่านใจกลางเมืองหากไม่นับสุขุมวิท เพราะอารีย์เป็นพื้นที่ที่ติดบางซื่อ (หัวเมืองทางเหนือ) ง่ายต่อการเดินทางทั้งรถส่วนตัว และรถสาธารณสุข เป็นที่ที่ใช้ชีวิต กินดื่มเที่ยว พักอาศัย
การพัฒนาเมืองในบริบทของพื้นที่นวัตกรรมและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน (City Innovation & Innovative City) ภาคประชาชน เช่น AriAround พาไทย เพื่อนอารีย์ คนในพื้นที่ที่รวมกลุ่มกัน
การเชื่อมโยงความร่วมมือการพัฒนาระหว่างหน่วยงานหรือกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องในมิติสำคัญ (Bridging & Integration) มีบริษัทเอกชนระดับใหญ่ในพื้นที่ ทั้งเทคโนโลยี สตาร์ทอัพ การเงินเข้าถึงได้หมด รวมทั้งการศึกษา
อีกทั้งยังมุ่งส่งเสริมเทคโนโลยีเชิงลึกหรือดีพเทคให้ไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ โดยหนึ่งในพื้นที่
ที่สำคัญคือย่านนวัตกรรมอารีย์ (ARID: ARI Innovation District) บนพื้นที่เขตพญาไท ซึ่งเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่มีความโดดเด่นและรองรับทั้งการอยู่อาศัย การจัดตั้งธุรกิจ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน และ Pain Point ต่าง ๆ ที่จะบ่มเพาะเทคโนโลยีใหม่ให้เกิดขึ้นบนย่านนี้
“NIA ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนในย่านนวัตกรรมอารีย์ มุ่งนำจุดแข็งด้าน ARITech เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาย่านและส่งเสริมการสร้างสตาร์ทอัพในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึง
การให้บริการสาธารณะอย่างทั่วถึง ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 โดยพบว่าย่านนวัตกรรมอารีย์มี 4 องค์ประกอบสำคัญที่หากเชื่อมโยงกันแล้วจะทำให้ย่านเกิดความก้าวหน้าที่มากขึ้นทั้ง
1) สินทรัพย์ทางเศรษฐกิจ จากการเป็นที่ตั้งของบริษัท หน่วยวิจัย และสตาร์ทอัพ ARITech ที่กระจายตัวอยู่ภายในย่าน ครอบคลุมบริษัทชั้นนำระดับนานาชาติ เช่น IBM, ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น, เอไอเอส
2) สินทรัพย์ทางกายภาพ จากความเป็นพื้นที่ใจกลางเมือง มีการเข้าถึงด้วยระบบขนส่งมวลชนที่มีความสะดวก และการใช้งานพื้นที่แบบผสมผสาน (Mixed use)
3) สินทรัพย์ทางเครือข่าย จากการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และกลุ่มองค์กรทางสังคม ที่มีความสนใจในการร่วมพัฒนาย่าน
4) สินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีลักษณะเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งฐานข้อมูลและการจัดการระบบเครือข่ายที่มีผู้ให้บริการในพื้นที่อย่างแพร่หลาย”
นายชาญวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในปี 2566 นี้ NIA กทม. และหน่วยงานเครือข่ายมุ่งเป้าพัฒนาย่านนวัตกรรมอารีย์ให้ได้รับการยอมรับในฐานะ “เมืองฉลาดรู้ (Cognitive City)” และจะเร่งการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อช่วยเพิ่มความโดดเด่นและยกระดับให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่พร้อมรองรับธุรกิจนวัตกรรม การลงทุนจากภาครัฐ – เอกชน กลุ่มธุรกิจเทคจากต่างประเทศ ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศนวัตกรรม ด้วยการนำร่องเปิดพื้นที่ย่านอารีย์ให้เป็นพื้นที่ทดสอบทดลองนวัตกรรม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงการแก้ไขปัญหาของเมือง การเพิ่มมูลค่าทางกายภาพที่มีอยู่ภายในย่าน และเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานหรือกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้น NIA จึงได้ดำเนินการจัดกิจกรรมประกวดออกแบบสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาย่านอารีย์ให้น่าอยู่(ARID Hackathon 2023: Innovation for well-being) เพื่อส่งเสริมการสร้างและพัฒนาพื้นที่ทดลองนวัตกรรมใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการเชื่อมต่อการสัญจร และด้านความปลอดภัย
โดยมีทีมที่ผ่านเข้ารอบทั้งหมด 5 ทีม จากผู้เข้าร่วมทั้งหมด 36 ทีม มาร่วมกิจกรรมปรึกษาเมนเทอร์ และนำเสนอผลงาน ซึ่งรางวัลชนะเลิศได้แก่ ทีม PARK :D ที่นำเสนอไอเดียด้านการเชื่อมต่อการสัญจรพัฒนาแพลตฟอร์มเปิดพื้นที่ให้เกิดการใช้ที่จอดรถในรูปแบบ “Parking Lot - Sharing” โดยจะนำโครงการดังกล่าวมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมต้นแบบเพื่อทดสอบทดลองในพื้นที่ย่านอารีย์ต่อไป
ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามและเข้าชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://ari.district.earth หรือที่https://www.facebook.com/ARI.Innovation.District