หลงลืมบ่อยๆ อาการที่ต้องคอยหมั่นสังเกตในวัยเรียน-วัยทำงาน เพราะอาจเป็นจุดเริ่มต้นของ “ภาวะสมองเสื่อมในคนอายุน้อย”
ลืมนัด ลืมของ ลืมวันลืมคืน หรือแม้แต่ลืมชื่อเพื่อนของตัวเอง หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในคนอายุน้อยให้สังเกตตัวเองได้เลย เพราะอาจไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป แต่นี่คือสัญญาณของภาวะผิดปกติทางสมองบางอย่าง ที่เรียกว่า ภาวะสมองเสื่อมในคนอายุน้อย (Dementia in young age)
ปัจจุบันพบคนอายุน้อยกว่า 65 ปี มีภาวะสมองเสื่อมเพิ่มมากขึ้นถึง 6.9% ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั้งหมด โดยเฉพาะวัยทำงานที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป และเชื่อว่า หลายคนอาจมีคำถามตามมาว่า ทำไมคนอายุน้อยถึงมีอัตราการเกิดภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น
นั่นเป็นเพราะพฤติกรรมและการใช้ชีวิตประจำวันที่มีผลโดยตรง เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียดเรื้อรัง ไม่ออกกำลังกาย และการใช้โซเชียลมีเดียที่ทำให้เราต้องจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือเป็นเวลานาน
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า เราเริ่มเข้าใกล้โรคนี้แล้ว ให้ลองสังเกตจากอาการเหล่านี้ เช่น หลงลืมเรื่องต่างๆ ได้ง่าย, พูดซ้ำหรือใช้คำผิด, สับสนกับเวลาหรือสถานที่, สมาธิสั้น ส่งผลต่อการตัดสินใจพลาด และอาจก่อให้เกิดอารมณ์แปรปรวน
แต่เราจะแยกได้อย่างไร ว่า เป็นการหลงลืมทั่วไป หรือ หลงลืมจากความผิดปกติในสมอง
อาการหลงลืมทั่วไป มักเกิดเป็นครั้งคราว และมักนึกออกในภายหลังหรือจำได้จากการทบทวนหรือฝึกฝน เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ทุกวัยเมื่อเกิดความเครียด แต่อาการจะดีขึ้นเมื่อพักผ่อนเพียงพอ
ขณะที่อาการหลงลืมจากความผิดปกติในสมอง จะเกิดขึ้นบ่อยจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน และอาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถทำงานได้ แม้คนใกล้ตัวจะส่งคำใบ้หรือคอยเตือนก็ยังนึกไม่ออก และมักเริ่มแสดงอาการก่อนอายุ 65 ปี
โรคสมองเสื่อมในคนอายุน้อย อาจยังไม่จบแค่นี้ เพราะยังส่งผลต่อสุขภาพจิตที่จะตามมา บางคนเริ่มรับตัวเองไม่ได้ เพราะสิ่งที่เคยจำได้ กลับจำไม่ได้แล้ว อาจส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าแบบเรื้อรัง บางคนถึงกับแยกตัวออกจากสังคม ไม่ยอมพบเจอใคร เพราะกลัวพูดผิด หรือกลัวทำสิ่งใดพลาดเพราะว่า ลืม
สิ่งสำคัญคือ โรคนี้บางคนอาจเป็นแบบไม่รู้ตัว คนรอบข้างจึงต้องคอยหมั่นสังเกต และควรบอกกล่าวผู้ป่วยให้รู้ในทันที
อาการหลงลืมที่หลายคนเป็นอยู่ในยุคที่ทุกอย่างเร่งรีบ บนความรับผิดชอบที่มากขึ้น อาจไม่ใช่สิ่งที่ควรมองข้ามอีกต่อไป และอาการสมองเสื่อมที่ไม่ได้เกิดแค่กับผู้สูงอายุเท่านั้น จึงจำเป็นต้องหมั่นสังเกตและหันมาดูแลตัวเองอย่างจริงจัง เพื่อให้สมองจดจำแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราอาจสามารถใช้ฮีลใจในวันที่ต้องเจอกับปัญหาหนักๆ ได้