5 ว่าที่โป๊ปองค์ใหม่ ใครคือผู้นำแห่งศรัทธาคนต่อไปของวาติกัน

5 ว่าที่โป๊ปองค์ใหม่ ใครคือผู้นำแห่งศรัทธาคนต่อไปของวาติกัน
ทำความรู้จัก 5 รายชื่อ “พระคาร์ดินัล” คู่แข่งการรับเลือกชิงเก้าอี้ “สมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่” หลังการจากไปของ “โป๊ป ฟรานซิส” พระสันตะปาปา องค์ที่ 266

ทั่วโลกเฝ้าจับตาการประชุมเลือกสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่ ที่ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2025 เป็นต้นไป ภายใต้กรอบเวลา 15-20 วัน หลังจากที่สมเด็จพระสันตะปาปาองค์ก่อนหน้าได้สิ้นพระชนม์ โดยมีพระคาร์ดินัล หรือ สมณศักดิ์ชั้นสูงสุดรองจากพระสันตะปาปา ที่มีอายุต่ำกว่า 80 ปี จำนวน 130 องค์ เข้าร่วมประชุมลับในครั้งนี้ 

แต่สิ่งที่ทุกคนให้ความสนใจ คงหนีไม่พ้นแคนดิเดตที่จะมาเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่ ที่จะถูกพิจารณาถึงความเหมาะสมและคะแนนนิยมในหมู่ของพระคาร์ดินัลด้วยกันเอง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ก็มีพระคาร์ดินัลหลายองค์ถูกจับตา The Better Social พาไปทำความรู้จัก 5 รายชื่อ ตัวเต็งในการรับเลือกสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น 

พระคาร์ดินัล หลุยส์ อันโตนิโอ ทาเกิล (Luis Antonio Gokim Tagle)

หลุยส์ อันโตนิโอ ทาเกิล พระคาร์ดินัลชาวฟิลิปปินส์ อายุ 67 ปี เขาเป็นลูกชายคนโตที่เกิดมาในครอบครัวคาทอลิก ที่ค่อนข้างเคร่งครัดเรื่องศาสนาอย่างมาก และยังได้รับการขนานนามว่าเป็น "ฟรานซิส 2" ทั้งจุดยืนทางการเมือง ที่มักเอนเอียงไปทางฝั่งซ้าย รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ในอีกหลายเรื่องที่มีความคิดเห็นคล้ายกับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส 

หาก หลุยส์ อันโตนิโอ ทาเกิล ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งจะถือเป็นสมเด็จพระสันตะปาปา ชาวเอเชียคนแรก แต่ก็เหมือนจะไม่ง่าย เพราะตัวเขาเองต้องรับมือกับการถูกจับตามองว่า เป็นผู้ที่กลุ่มของพระคาร์ดินัลทั่วโลกชื่นชอบและพร้อมให้การสนับสนุนจริงหรือไม่ เพราะอีกด้านที่เขาถูกพูดถึง มีการตั้งข้อสังเกตว่า ความชื่นชอบนั้น เป็นเพียงการประโคมข่าวจากสื่อเท่านั้น 

พระคาร์ดินัล ปิเอโตร ปาโรลิน (Pietro Parolin)

ปิเอโตร ปาโรลิน พระคาร์ดินัลชาวอิตาลี วัย 70 ปี ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศของนครรัฐวาติกันตั้งแต่ปี 2013 เขาเป็นอีกหนึ่งคู่แข่งที่คะแนนนิยมค่อนข้างสูง และได้รับความชื่นชอบในหมู่พระคาร์ดินัลด้วยกันเองอย่างมาก แต่ก็ยังไม่สามารถการันตีได้ว่า จะได้รับตำแหน่งหรือไม่ แม้ว่าในระหว่างการประชุมพระสันตะปาปาในปี 2025 ปิเอโตร ปาโรลินจะได้รับการขนานนามว่า เป็น papabile ซึ่งมีความหมายว่า สามารถเป็นพระสันตปาปาองค์ต่อไปได้ต่อจาก “โป๊ป ฟรานซิส” 

เขายังเคยได้รับการยกย่องจากนักการทูตฆราวาสมาอย่างยาวนานว่า เป็นตัวแทนของพระสันตะปาปาที่เชื่อถือได้บนเวทีโลก ซึ่งตัวเขาเองได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในทำนองเดียวกันว่า ชื่อของเขา เป็นการเดิมพันที่ค่อนข้างปลอดภัย เพราะเขาไม่เคยขัดแย้งกับใคร และยังรู้วิธีการทำงานในนครรัฐวาติกัน จากประสบการณ์ที่ผ่านมาตลอด 10 ปี อีกด้วย 

พระคาร์ดินัล ปีเตอร์ เออร์โด (Péter Erdő) 

ปีเตอร์ เออร์โด พระคาร์ดินัลชาวฮังการี วัย 72 ปี ได้รับการขึ้นเป็นพระคาร์ดินัลในปี 2546 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 เขาเป็นผู้สมัครในฝ่ายอนุรักษ์นิยมของคริสตจักร และยังเคยได้รับเกียรติจาก สมเด็จพระสันตปาปาฟรานซิส ให้ดำรงตำแหน่งผู้คอยเขียนรายงาน “ซินอด” (การประชุมสภาของนิกายคริสเตียน) เป็นเวลา 2 ปีติดต่อกันในปี 2014 และ 2015 

เขายังเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ประสบความสำเร็จ จากการเป็น “ครู” และ “นักวิชาการ” ด้านพระคัมภีร์ การันตีได้จากรางวัลมากมาย รวมถึงปริญญากิตติมศักดิ์จากสถาบันต่างๆ หลายแห่ง รวมไปถึงการเป็นนักเขียนมือทองที่ถ่ายทอดผลงานผ่านบทความมามากกว่า 250 บทความ และหนังสือกว่า 25 เล่ม 

พระคาร์ดินัล ฟริโดลิน อัมบองโก เบซุนกู (Fridolin Ambongo Besungu) 

ฟริโดลิน อัมบองโก เบซุนกู พระคาร์ดินัลสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก วัย 65 ปี เขาเติบโตมาในครอบครัวคาทอลิกขนาดใหญ่ และได้เข้าร่วมต่อสู้ในทางการเมือง อย่างไม่เกรงกลัว พร้อมวิจารณ์รัฐบาลอย่างเปิดเผย แม้รู้ตัวว่า สิ่งที่ทำจะก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างมาก แต่ก็เพื่อผู้ยากไร้ ทั้งในด้านฐานะการเงินหรือแม้แต่การส่งเสียงในสังคม จนในช่วงต้น 2024 เขาต่อสู้จนถูกกล่าวหาว่า มีพฤติกรรมเป็นกบฏ ที่จะมีพฤติกรรมไปสู่สิ่งผิดกฎหมาย 

และในปี 2019 เขาได้รับการสถาปนาให้เป็นพระคาร์ดินัล และยังเป็นได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาพระคาร์ดินัลในปี 2023 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่นิกายคาทอลิคในแอฟริกา และยังได้รับชัยชนะในการยืนหยัดต่อสู้หลังจากได้รับการสอบสวนในข้อหาก่อความไม่สงบอีกด้วย 

พระคาร์ดินัล ปีเตอร์ เติร์กสัน (Peter Turkson)

ปีเตอร์ เติร์กสัน พระคาร์ดินัลชาวกานา วัย 76 ปี เขาเคยเป็นผู้สมัครในปี 2013 และดูเหมือนว่า ตอนนี้เขาจะได้รับการสนับสนุนมากกว่า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเสียอีก เมื่อเทียบกับครั้งที่ “โป๊ป ฟรานซิส” ได้รับการเลือกครั้งสุดท้าย และไม่แน่ เขาอาจจะได้เป็นสมเด็จพระสันตะปาปา ชาวแอฟริกาองค์แรก 

ในทางการเมือง ปีเตอร์ เติร์กสัน แสดงออกชัดว่า เขาค่อนข้างเอนเอียงไปทางฝั่งซ้าย และยังเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนประเด็นความยุติธรรมทางสังคมของศาสนจักร ร่วมวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ และทำงานเพื่อสันติภาพ ซึ่งแน่นอนว่า ปีเตอร์ เติร์กสัน จะคงเดินตามรอยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสผู้ที่เริ่มต้นแนวคิดและแนวทางปฏิบัติข้างต้นด้วยเช่นกัน 

ต้องมาตามลุ้นกันว่า ภายหลังเหนือโบสถ์น้อยซิสทีน นครรัฐวาติกัน ได้พ่นควัน “สีขาว” ออกมาจากปล่อง พร้อมเสียงระฆังโบสถ์ เป็นสัญญาณว่า การประชุมแบบลับ หรือ คอนเคลฟ ในการคัดเลือกสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ที่ 267 เสร็จสิ้นลง ใครจะได้เป็นผู้นำพระศาสนจักรแห่งโรมันคาทอลิกคนต่อไป 

TAGS: #rolemodel #พระสันตะปาปา #pope #Francis #โบสถ์น้อยซิสทีน #วาติกัน