ถ้าเกิดมาไม่มีต้นทุน คุณจะเป็นนักอนุรักษ์แบบ "ทราย สก๊อต" ได้ไหม?

ถ้าเกิดมาไม่มีต้นทุน คุณจะเป็นนักอนุรักษ์แบบ
ทราย สก๊อต คือแรงบันดาลใจของคนรุ่นใหม่ในสายอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่ถ้าเราไม่มีต้นทุนชีวิตแบบเขา จะเดินเส้นทางนี้ได้จริงไหม?

การเกิดมาใช้ชีวิตอยู่ในโลกใบนี้ สิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดก็คือ “ตัวตนของเรา” แน่นอนว่าแต่ละคนอาจจะมีความพร้อมที่ไม่เท่ากัน หรือที่เรียกกันว่า “ต้นทุนชีวิต” แต่ก็ไม่ใช่ว่าความไม่เท่ากันในเรื่องปัจจัยพื้นฐานจะตัดสินใครได้ ว่าเขาจะเติบโตมามีชีวิตที่สมบูรณ์แบบใด


ทราย สก๊อต หนุ่มวัย 28 ปี ที่เวลานี้เขาได้รับความสนใจอย่างมาก จากความทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจ เพื่อการอนุรักษ์ท้องทะเลที่เขารู้สึกว่านี่คือสิ่งที่ต้องรักษาไว้ และในวันที่กระแสอนุรักษ์ธรรมชาติ และความยั่งยืน กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมาก โดยเฉพาะจากบทบาทของเขาในฐานะอดีตที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานฯ รุ่นใหม่ ที่มีแนวคิดและพลังในการเปลี่ยนแปลง สำหรับคนที่สนใจในงานด้านนี้ อาจตั้งคำถามว่า หากเราไม่ได้เกิดมาพร้อมและมี "ต้นทุนชีวิต" แบบ ทราย สก๊อต แต่เราก็เป็นมนุษย์คนนึงที่อยากจะมีส่วนร่วมกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง จนถึงขั้นทำเป็นอาชีพ เราจะสามารถเดินเส้นทางสายนี้ได้จริงหรือไม่?

ทราย สก๊อต
คำตอบคือ ทุกคนสามารถเป็นได้ แต่เป็นแล้วการใช้ชีวิตด้วยสายอาชีพนี้ นอกจากการที่ได้ทำตามแพชชั่นของตัวเอง ผลตอบแทนที่ได้รับมันคุ้มค่าพอกับการดำเนินชีวิตแค่ไหน?


จากข้อมูลล่าสุดของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หากคุณมีความมุ่งมั่นที่อยากเข้ามาทำสายอาชีพนี้ พบว่าเงินเดือนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ามีการปรับขึ้นเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ป่าโดยจะได้รับผลตอบแทนตามลำดับขั้น คืออายุงานน้อยกว่า 5 ปี  จะได้เงินเดือน 9,500 บาทต่อเดือน, อายุงาน 5-15 ปี: เงินเดือน 10,000 บาทต่อเดือน และอายุงานมากกว่า 15 ปี จะได้รับเงินเดือน 11,000 บาทต่อเดือน​


ด้านสวัสดิการและความมั่นคง สำหรับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างชั่วคราวหรือพนักงานราชการตามสัญญาจ้าง ซึ่งอาจไม่มีสิทธิ์ในสวัสดิการเทียบเท่าข้าราชการ เช่น การรักษาพยาบาลหรือเงินบำเหน็จบำนาญ 


แม้ว่าการทำงานพิทักษ์ป่าเป็นงานที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งจากสัตว์ป่าและการเผชิญหน้ากับผู้ลักลอบทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งอาจส่งผลต่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ก็ตาม​  แต่โอกาสในการเติบโตในสายอาชีพ การเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งชั่วคราวดังนั้นการเลื่อนตำแหน่งจึงค่อนข้างมีจำกัด​


มาต่อกันที่ค่าตอบแทน​ของเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะสังกัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) มีบทบาทในการดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่น แนวปะการัง ป่าชายเลน และสัตว์ทะเลหายาก 


ทั้งนี้ข้อมูลเฉพาะเกี่ยวกับฐานเงินเดือนของเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ทะเลในประเทศไทยมีอยู่อย่างจำกัด แต่จากข้อมูลเงินเดือนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ซึ่งมีลักษณะงานคล้ายคลึงกัเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ทะเล ฐานเงินเดือนอยู่ที่ประมาณ 9,000 บาทต่อเดือน (ก่อน ต.ค. 2567)  และตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 เป็นต้นมา ได้มีการปรับขึ้นเงินเดือนเป็น 11,000 บาทต่อเดือน ​


นอกจากนี้ยังมีค่าเสี่ยงภัยเพิ่มเติมสำหรับการออกลาดตระเวนในพื้นที่เสี่ยงภัย เช่น ป่าเขา หรือทะเลลึก ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาทต่อครั้ง  แต่เจ้าหน้าที่อนุรักษ์ทะเลส่วนใหญ่เป็นพนักงานราชการหรือพนักงานจ้างเหมาของรัฐ ซึ่งอาจไม่ได้รับสวัสดิการเทียบเท่าข้าราชการประจำ เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาลหรือเงินบำเหน็จบำนาญ แม้ว่างานอนุรักษ์ทะเลมีความเสี่ยงสูงก็ตาม ทั้งจากสภาพอากาศที่แปรปรวน การเดินทางทางทะเล และการเผชิญหน้ากับผู้ที่ไม่ทำตามกฎในการอนุรักษ์ท้องทะเล 


สำหรับในต่างประเทศการทำงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในแถบยุโรป อเมริกา แคนาดา และออสเตเลีย ถือเป็นหนึ่งในอาชีพที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจและเห็นความสำคัญกับการทำหน้าที่ัรักษาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้น  อย่างในสวีเดน ซึ่งเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องแนวคิด Sustainability - First  พวกเขาให้ความสำคัญปลูกฝังเยาวชนตั้งแต่เล็ก รวมถึงรัฐบาลสวีเดนก็ยังมีการสนับสนุนนวัตกรรมสีเขียวและงานด้านนิเวศวิทยาอย่างจริงจัง หรืออย่างในออสเตรเลีย ซึ่งมีบทบาทในงานด้านสัตว์ป่าและการอนุรักษ์ทางทะเล ซึ่งสายงานนี้เจ้าหน้าที่จะได้รับการยอมรับสูงมาก รวมถึงประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา แม้ว่าการแข่งขันจะสูงมากก็ตาม แต่คนรุ่นใหม่กลับมีความสนใจประเด็น Climate Justice และยังมีองค์กรอย่าง National Park Service , EPA หรือกลุ่ม NGO ที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มนักศึกษาเป็นจำนวนมาก  


การทำงานในสายอนุรักษ์ธรรมชาติสำหรับในต่างประเทศ ค่าตอบแทนก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงการให้คุณค่ากับผู้ที่มาทำหน้าที่นี้ เพราะอย่างในสหรัฐอเมริกา เงินเดือนเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ $78,660 ต่อปี  ฝั่งยุโรปอย่างสหราชอาณาจักรเงินเดือนเฉลี่ย ประมาณ £30,536 ต่อปี หรือ ประมาณ 1.4 ล้านบาทไทย ประเทศไอส์แลนด์ เงินเดือนเฉลี่ย อยู่ที่ ประมาณ $68,270 ต่อปี หรือประมาณ 2.5 ล้านบาทไทย  และออสเตรเลีย เงินเดือนเฉลี่ย ประมาณ AUD 111,533 ต่อปี หรือประมาณ 2.6 ล้านบาทไทย (รายได้สูง และมีโอกาสเติบโต)  โดยระดับเริ่มต้น: ประมาณ AUD 53,000 ต่อปี หรือประมาณ 1.2 ล้านบาท 

ทราย สก๊อต
การเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศไทยยังคงเป็นเส้นทางที่ท้าทาย โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ไม่ได้มี “ต้นทุนชีวิต” ที่เพียบพร้อมเหมือนอย่าง ทราย สก๊อต ซึ่งมีทั้งโอกาสและทรัพยากรในการผลักดันความฝันของตัวเองได้อย่างที่เขาต้องการ แม้ว่าในวันนี้เส้นทางที่เขามุ่งมั่นอาจจะยังทำได้ไม่เต็มที่ก็ตาม


แต่สำหรับคนธรรมดาทั่วไป ความตั้งใจและแพชชั่นจะมีค่าในสายงานนี้ได้ โดยเฉพาะในประเทศไทยกลับยังมีค่าตอบแทนต่ำ ไม่มั่นคง เมื่อเทียบกับอาชีพอื่น ๆ ที่เสี่ยงน้อยกว่า ในขณะที่ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย หรือประเทศในยุโรป งานสายอนุรักษ์ธรรมชาติกลับได้รับการยอมรับอย่างสูง พร้อมค่าตอบแทนที่สะท้อนคุณค่าของงานอย่างแท้จริง


คำถามสำคัญจึงไม่ใช่แค่ว่า “คุณอยากเป็นนักอนุรักษ์ไหม” หรือคุณจะเป็นแบบ ทราย สก๊อต ได้หรือไม่ หากคุณมีแพชชั่นไม่ต่างจากเขา  แต่ “ระบบพร้อมจะรองรับคนที่อยากทำสิ่งนี้จริง ๆ หรือเปล่า?” 


 หากเราไม่เริ่มให้ความสำคัญกับคนที่ปกป้องธรรมชาติ แล้วจะเหลือใครบ้างที่ปกป้องธรรมชาติให้กับเรา?

 

ภาพ : IG@psiscott

TAGS: #LifeStory #นักอนุรักษ์ธรรมชาติ #ทราย #สก๊อต #เงินเดือนนักอนุรักษ์ #เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า #อาชีพสิ่งแวดล้อม #เงินเดือนเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ทะเล