“เดินตามจีบ” ท่องเยาวราชแบบมุมเฉพาะแบบคนเยาวราชแท้ ชมสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ โดยผ่านร้านขนมจีบ 9 ร้านรอบเยาวราช
I change, therefore I am. เพราะเยาวราชไม่เคยหยุดนิ่ง เยาวราชจึงมีวันนี้และเป็นจุดหมายในใจสำหรับนักชิมชาวไทยและต่างชาติ เราเชื่อว่าคุณเคยผ่านรถเข็นขนมจีบย่านเยาวราชนับเจ้าไม่ถ้วน และเคยชิมมาแล้วจนจำร้านไม่ได้ แต่เราก็เชื่อว่ามีหลายร้านที่คุณยังไม่เคยลิ้มลอง หรืออาจจะไม่เคยรู้ว่าเป็นร้านดังเก่าแก่เพราะฟู้ดบล็อกเกอร์ยังไม่เคยมาชิม กิจกรรม “เดินตามจีบ” ชวนเราไปเดินระยะสั้นๆ ประมาณ 3 กิโลเมตร ตระเวนชิมและช็อปขนมจีบหลากหลายร้าน แต่สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิต เป็นการเรียนรู้วัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจแบบอิ่มหนำจริงๆ
ทำไมต้อง “เยาวราช” เพราะเยาวราชเป็นหนึ่งในชุมชนที่มีสีสัน มีบทบาทสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของไทยมานานนับตั้งแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา นอกจากนี้ ในสายตาคนทั่วโลก เยาวราชคือแหล่งท่องเที่ยวที่แสนจะมีเสน่ห์ เป็นศูนย์กลางของสตรีทฟู้ด เป็นตัวแทนของความเป็นไทย และที่สำคัญเยาวราชเป็นศูนย์กลางของสตรีทฟู้ด “ขนมจีบ” จึงได้รับเลือกเป็นตัวเอกของทริปนี้ เพราะเป็นของว่าง อาหารทานเล่น หรือแม้กระทั่งรับประทานจริงจังที่ทุกคนรู้จักและชื่นชอบ และที่สำคัญคือ ในอาหารทานเล่นชิ้นพอดีคำเหล่านี้ รวมทั้งเส้นทางเดินจากร้านหนึ่งไปอีกร้านหนึ่ง ยังแฝงไว้ด้วยเรื่องราวมากมาย
เริ่มต้นกันที่ “ตรอกเจริญไชย” อีกชื่อที่เรารู้จักคือตรอกกระดาษ แหล่งผลิตเครื่องเซ่นไหว้กระดาษ โดยวิทยากรของเรา คุณสมชัย กวางทองพาณิชย์ หรือเฮียสมชัย นักประวัติศาสตร์ชุมชน เริ่มพาคณะเดินตามจีบจากโรงแรมอาศัย ไชน่าทาวน์ มุ่งหน้าไปจุดหมายแรกคือ “จกโต๊ะเดียว” หนึ่งในร้านดังเยาวราชที่อยู่ในมิชลินไก๊ด์ ผ่านตรอกเจริญไชย 2
ในตรอกเล็กๆ นี้ผ่านพิพิธภัณฑ์ขนาดกะทัดรัดชื่อ “บ้านเก่าเล่าเรื่อง” จัดแสดงชุดงิ้ว อุปกรณ์การแสดงน่าสนใจในบ้านตึกโบราณ ที่มีประตูเหล็กเชื่อมไปบ้านข้างๆ เฮียสมชัยเล่าว่าคนสมัยก่อนเจาะผนังทำประตูไว้ให้คนในตึกแถวเดียวกันเดินไปมาหาสู่กันได้สะดวก นอกจากนี้ ในตรอกเดียวกันยังมีร้านขายก๋วยเตี๋ยว ข้าวหมูแดง เครื่องดื่มต่างๆ รายทาง ยั่วให้ชาวคณะเดินตามจีบปันใจให้ของกินระหว่างทางไปไม่น้อย
“จกโต๊ะเดียว” แม้ว่าจะไม่ใช่ขนมจีบจริงๆ แต่ “เกี๊ยว” กับขนมจีบเป็นญาติๆ กัน ลักษณะคือการคลึงแป้งเป็นแผ่นบางหุ้มไส้ที่ทำจากเนื้อสัตว์หรือผักแล้วนึ่งหรือต้ม ชนิดของแป้งและไส้แตกต่างกันไปตามภูมิภาคและผลผลิต เช่น ภาคเหนือจะใช้แป้งสาลี ส่วนภาคใต้เป็นแป้งข้าวเจ้า ภาคเหนือจะใช้ไส้หมู ส่วนภาคใต้อยู่ใกล้ทะเลจะมีกุ้งเป็นส่วนประกอบ ร้านนี้มีความเชี่ยวชาญเรื่องอาหารทะเลมาก่อน เกี๊ยวกุ้งร้านนี้จึงเด้งสู้ฟัน นุ่มลิ้น
เฮียสมชัยเล่าว่า ขนมจีบ หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า ซาวม่าย ซึ่งสำเนียงอาจจะเพี้ยนกันไปบ้างในแต่ละท้องถิ่น ถ้าแปลตามศัพท์จะมีความหมายว่า ของแถม เพราะเดิมนั้น คนที่เดินทางบนเส้นทางสายไหม จะแวะดื่มชาตามร้านข้างทาง ร้านเหล่านี้มีของกินหลายอย่างมาให้กินแกล้มเป็นของแถม หนึ่งในนั้น คือ ขนมแป้งห่อไส้นึ่งนี่เอง
จากนั้น คณะมุ่งหน้าไปตามตรอกอิสรานุภาพ ผ่านร้าน “เฉินติ่มซำ” ที่ชี้ให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยอย่างชัดเจน เพราะใช้เครื่องจักรมาผลิตขนมจีบ เพื่อสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค และร้าน “ลิ้มอ่วงซุย” ร้านเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นขนมจีบรสชาติเข้มข้นแบบแต้จิ๋ว
เดินลัดเลาะไปตามตรอกเล็กซอกน้อย ให้ได้สัมผัสบรรยากาศชุมชนโบราณที่สร้างบ้านเรือนติดๆ กัน บางแห่งเป็นโรงงิ้วเก่าที่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ทางเดินไม่กว้างนัก แค่พอเดินสวนกันได้ แต่พอมายุคนี้ มีมอเตอร์ไซค์ มีรถเข็นของผ่านไปมา คนที่สัญจรต่างต้องเอื้อเฟื้อกัน หลีกทางกันด้วยน้ำใจ
หลุดออกจากตรอกมาเดินบนถนนใหญ่ ผ่านร้าน “ฮั่วเซ่งฮง” ซึ่งปัจจุบันมีสาขาตามห้างใหญ่ๆ ด้วย และเป็นเจ้าตำรับขนมจีบมาตรฐานที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของร้านให้ทันวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ที่ชอบเดินห้าง แต่ยังคงหลงใหลในรสชาติอาหารจีนแท้ๆ ฝั่งตรงข้าม เป็นร้านขายของที่ระลึกชื่อลิ้มจิ่งเฮียง ที่เฮียสมชัยบอกว่าป้ายชื่อหน้าร้านเป็นลายมือที่สวยมากที่สุด
อีกสองร้านถัดมาอยู่ใกล้กัน อารมณ์เหมือนขนมจีบนึ่งใหม่ร้อนๆ หน้าโรงเรียน ร้านแรกคือ ร้าน “แต้เล่าใช่หลี” ที่ชิมแล้วถ้าถูกใจต้องซื้อเลย อย่าหวังว่าค่อยกลับมาซื้อทีหลัง เพราะแค่เราเดินคล้อยหลังไปก็ขายหมดแล้ว ส่วนร้านใกล้กันคือ ร้าน “ไต้แป๊ะ” ภัตตาคารเก่าที่มีชื่อเสียงมากเป็นที่นิยมของนักชิม และเจ้าสัวทั้งหลาย ก่อนที่อาหารเหลาจะกลายมาเป็นอาหารที่ใครๆ ก็นิยม และกลายมาเป็นสตรีทฟู้ดที่คนทั่วโลกต้องมาชิม
จากถนนใหญ่ เราเลี้ยวเข้าถนนเล็กอีกครั้ง พบกับมุมลับที่รู้จักกันในชื่อ “ตรอกผูกคอ” แน่นอนว่าเมื่อมีความสำเร็จ ก็ย่อมมีความล้มเหลว ตรอกนี้เดิมเป็นซอยเปลี่ยวไม่มีบ้านเรือน คนเดินน้อย เดิมมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งผู้ที่ไม่สมหวังใช้เป็นสถานที่ผูกคอเพื่อหนีความทุกข์ แม้ประวัติเดิมจะดูดาร์คๆ แต่วันนี้ตรอกนี้มีร้านกาแฟและโรงแรมลับเก๋ๆ หลายแห่งที่น่าแวะเข้ามาชม บรรยากาศตรงข้ามกับสมัยก่อนมาก
ขนมจีบสองร้านสุดท้าย คือ บ้าน “อาเหลียง” ที่นึ่งขนมจีบในซึ้งขนาดกว้างประมาณหนึ่งเมตร ส่งขายหลายที่ เป็นหนึ่งในร้านที่เฮียสมชัยบอกว่านี่คือขนมจีบต้นตำรับในความทรงจำของเฮีย ร้านนี้เป็นหนึ่งในด้านดังของชาวโซเชียลที่มักถ่ายคลิปให้เห็นคนต่อแถวกันยาวเหยียดรอชิม
ร้านสุดท้ายคือ ร้าน “แปะเซียะ” หน้าวัดมงคลสมาคม หนึ่งในสี่วัดญวนในย่านเยาวราช-สำเพ็ง ร้านนี้คนต่อแถวกันยาวมากเช่นกัน ขนมจีบของแปะเซียะมีรสพริกไทยชัดเจน ปัจจุบันแต่ละชิ้นมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมมากตามราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น
เดินจนจบแล้ว คณะกลับไปที่โรงแรมอาศัย กรุงเทพ ไชน่าทาวน์ เพื่อพบกับเซอร์ไพรซ์ก่อนกลับ คือ ขนมจีบเจ้าดังที่เราเดินผ่านแต่ยังไม่ได้ชิม หนึ่งในนั้น คือ ร้านยิ้มยิ้ม ซึ่งยังคงทำขนมจีบในรูปลักษณ์ดั้งเดิมของแต้จิ๋ว หรือฐานกว้าง ยอดแคบและจับจีบ เหมือนถุงใส่เงินโบราณ ไส้แน่น รวมทั้งของว่างที่ทางโรงแรมเตรียมไว้ให้ ปิดจบกิจกรรมแบบท้องแน่น ประวัติศาสตร์ก็แน่นไม่แพ้กัน ใครสนใจอยากลองชิมร้านไหนดูรายละเอียดได้ตามเส้นทางเดินขนมจีบ 9 ร้านดัง
- ร้านที่ 1. จกโต๊ะเดียว (062 947 6766)
- ร้านที่ 2. เฉินติ่มซำ 02 222 6477, 095 745 7118)
- ร้านที่ 3. ลิ้มอ่วงซุย (02 221 7985, 02 623 1054, 02 226 3807)
- ร้านที่ 4. ฮั่วเซ่งฮง
- ร้านที่ 5. แต้เล่าใช่หลี (085 132 4342)
- ร้านที่ 6. ไต้แป๊ะ (095 757 4429)
- ร้านที่ 7. อาเหลียง (083 231 1664 )
- ร้านที่ 8. แปะเซียะ (081 726 0777)
- ร้านที่ 9. ยิ้มยิ้ม (062 396 4255)
@thebetter.th “เดินตามจีบ” ท่องเยาวราชแบบมุมเฉพาะแบบคนเยาวราชแท้ ชมสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ โดยผ่านร้านขนมจีบ 9 ร้านรอบเยาวราช #เยาวราช #asaichinatown ♬ French music style, accordion, waltz - arachang