กบน.ควักเงินอุ้มดีเซลวันละ 10.92 ล้านบาทต่อลิตร ช่วยภาคประชาชนสกัดค่าขนส่งพุ่ง เล็งยื่นรัฐบาลใหม่ลดภาษีน้ำมันต่อ หวั่นหนี้กองทุนน้ำมันฯพุ่ง
การตัดสินใจตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 32 บาทหลังมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลิตรละ 5 บาทสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 20 ก.ค.เหตุผลสำคัญก็เพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชน รวมไปถึงภาคธุรกิจที่มีต้นทุนค่าขนส่ง และสกัดไม่ให้ใช้เป็นข้ออ้างในการขึ้นราคาสินค้าในอนาคต
ที่ผ่านมารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เผชิญกับความผันผวนราคาน้ำมันตลาดโลกมาโดยตลอด จำเป็นต้องเลือกใช้แนวทางการลดภาษีน้ำมันเพื่อพยุงราคา มาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2565 รวมลดภาษี 7 ครั้ง เฉลี่ยครั้งละ 3-5 บาทต่อลิตร แม้จะทำรายได้จากภาษีหายไป 1.58 แสนล้าน
ขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพราคาพลังงาน กำลังประสบกับปัญหาฐานะติดลบในช่วงที่ผ่านมาทะลุ 1 แสนล้านบาท ล่าสุดมีการบริหารจัดการทั้งการกู้เงินเสริมสภาพคล่องและอาศัยจังหวะของราคาน้ำมันขาลง เร่งเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ทั้งจากกลุ่มเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และดีเซล รวมถึง ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) จนภาระหนี้สะสมเหลืออยู่ที่ 4.9 หมื่นล้านบาท
ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังส่งสัญญาณชัดเจนจะไม่ต่อมาตรการลดภาษีเนื่องจากเห็นว่าฐานะกองทุนน้ำมันฯเริ่มมีสภาพคล่องและติดลบน้อยลง ประกอบกับเป็นช่วงรอยต่อของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา ไม่ควรที่จะใช้นโยบายใดๆที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายงบประมาณ
ทางเลือกที่เหมาะสมและเป็นไปได้คือการลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯดีเซล ซึ่งจัดเก็บอยู่ 3-4 บาทต่อลิตร แต่เพื่อให้ครอบคลุมกับอัตราภาษีที่เคยได้ลดไปเฉลี่ยลิตรละ 5 บาท จะต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันเข้าไปชดเชยเพิ่ม
โดยมติคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ล่าสุด มีมติให้ใช้เข้าไปพยุงราคาดีเซล 1.59 บาทต่อลิตร ซึ่งจะทำให้ราคาดีเซลขายปลีกเฉลี่ยอยู่ที่ 32 บาทต่อลิตร แต่สิ่งสำคัญนับจากนี้เงินบัญชีกองทุนน้ำมันฯ จะเข้าสู่โหมดเงินไหลออกอีกครั้ง แม้จะเพิ่งหยุดการไหลออกของเงินได้แค่เดือนเดียวเท่านั้น และส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯต้องมีรายจ่ายเพิ่มอีกวันละ 10.92 ล้านบาท ซึ่งยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะตรึงราคาในระดับนี้ได้นานกี่เดือน ท่ามกลางราคาน้ำมันโลกผันผวนปรับราคาสูงขึ้นอีกรอบ
ก่อนหน้านี้กองทุนน้ำมันฯมีเงินไหลเข้าเฉลี่ยเดือนละ 1 หมื่นล้านบาท เพราะไม่ต้องเข้าไปตรึงราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) แต่เมื่อมีการลดการจัดเก็บเงินในส่วนของดีเซลในภาพรวมกองทุนฯน้ำมัน ยังมีเงินไหลเข้าได้ 12.62 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งไม่ใช้จำนวนที่มากนัก เมื่อเทียบกับภาระที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากแต่ละเดือนยังต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ 160 ล้านบาท จากการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องวงเงินก้อนแรก 5.5 หมื่นล้านบาท
ปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันฯ วันที่ 16 ก.ค. 2566 มีเงินสุทธิติดลบ 49,829 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 4,316 ล้านบาท และบัญชีแอลพีจี ติดลบ 45,513 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามสิ่งที่รัฐบาลใหม่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การดูแลราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่มีผลต่อเศรษฐกิจประเทศ ในขณะที่หากยังต้องใช้กองทุนน้ำมันฯเข้าไปพยุงราคาก็ต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สินที่ยังติดค้าง ซึ่งเป็นปัญหาเดิมๆวังวนแทบทุกรัฐบาล ตราบใดที่ยังไม่มีภูมิที่แข็งแรงพอกับความผันผวนของราคาพลังงานโลก