สานพลังฯ-กลุ่มปตท. ชวนร่วมโครงการ PTT Group Young Socialpreneur Hackathon

สานพลังฯ-กลุ่มปตท. ชวนร่วมโครงการ PTT Group Young Socialpreneur Hackathon
สานพลังฯ และกลุ่ม ปตท. ชวนคนรุ่นใหม่ ส่งทีมแข่งขันปล่อยไอเดียนวัตกรรมทางธุรกิจเพื่อสังคม สร้างโซลูชั่น 4 โจทย์หลัก ชิงรางวัลกว่า 5.4 แสนบาท เปิดรับสมัครถึง 2 มิ.ย. นี้

บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ร่วมกับ กลุ่ม ปตท. จัดงาน Open House โครงการ สานพลัง x PTT Group Young Socialpreneur Hackathon เปิดบ้านต้อนรับนวัตกรรุ่นใหม่ที่สนใจการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม ร่วมรับฟังรายละเอียดโครงการ

โดยได้รับเกียรติจาก ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.)  กล่าวถึง วิสัยทัศน์และนโยบายการทำงานของกลุ่ม ปตท. ด้านสังคมและความยั่งยืนว่า กลุ่ม ปตท. เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยหนึ่งในการสนับสนุนคือการจัดทำวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาและยกระดับความเป็นอยู่ของสังคมอย่างยั่งยืน

สำหรับโครงการสานพลัง x PTT Group Young Socialpreneur Hackathon เป็นอีกหนึ่งโครงการภายใต้วิสัยทัศน์ของ ปตท. และบริษัทในกลุ่มที่ผนึกกำลังกับบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เฟ้นหาไอเดียนวัตกรรมจากนวัตกรรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยความคิดเเละพลังในการสร้างสรรค์มาช่วยแก้ปัญหาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

ด้าน นายวรพงษ์ นาคฉัตรีย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืน ปตท. ในฐานะ ประธานบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กล่าวว่า “สานพลัง” จัดตั้งขึ้นโดยเล็งเห็นจุดแข็งของธุรกิจกลุ่ม ปตท. ในการสร้างวิสาหกิจเพื่อสังคมต้นเเบบ โดยมีโครงการที่เกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานผ่านทางสานพลัง เช่น โครงการ Cafe' Amazon for Chance สร้างอาชีพมอบโอกาสแก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส โครงการ Community Coffee Sourcing ช่วยเกษตรกรชาวเขาที่ทำไร่กาแฟ มีช่องทางในการจำหน่ายเมล็ดกาแฟที่แน่นอนผ่านร้าน Cafe' Amazon โครงการ Upcycling SE จัดการขยะพลาสติกครบวงจร รีไซเคิลสู่สินค้าแฟชั่นและของใช้ประจำวัน

โครงการชุมชนยิ้มได้ ยกระดับสินค้าชุมชนให้ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดเพิ่มรายได้ให้วิสาหกิจชุมชน และโครงการ SE Solar Energy Business นำร่องที่ตลาดหัวปลี จ.สระบุรี จับมือชุมชนเปลี่ยนแหล่งที่มาของพลังงานที่ใช้มาเป็นพลังงานสะอาด เป็นต้น

อย่างไรก็ตามในวันนี้สานพลังได้มองเห็นความสำคัญของการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ตอบโจทย์การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน แเละสามารถขยายผลการแก้ปัญหาในวงกว้าง จึงได้ผนึกกำลังกับกลุ่ม ปตท. ในโครงการสานพลัง x PTT Group Young Socialpreneur Hackathon เพื่อคัดเลือกสุดยอดไอเดียที่จะสามารถเป็นต้นแบบธุรกิจที่แก้ไขปัญหาสังคมได้ โดยจะสนับสนุนและช่วยปั้นไอเดียธุรกิจเพื่อสังคมร่วมกับไรส์ (RISE) สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร

ทั้งนี้ใช้จุดแข็งของกลุ่ม ปตท. ในการสร้างโซลูชันใน 4 โจทย์หลัก ได้แก่ การพัฒนาเมืองยั่งยืน การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และการพัฒนาสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ยังได้จัดเสวนาในหัวข้อ Powering Life with Social Innovations จากผู้นำรุ่นใหม่ที่มีบทบาทโดดเด่น ด้านการพัฒนาสังคม ได้แก่ ด้านการพัฒนาเมืองคุณวริทธิ์ธร สุขสบาย ผู้ร่วมก่อตั้งจาก Mayday  ผู้ที่ออกแบบป้ายรถเมล์โฉมใหม่ที่เพิ่มข้อมูลเส้นทางสัญจรให้แก่ผู้ใช้บริการ กล่าวว่า หลายคนมองว่าปัญหารถสาธารณะเป็นหน้าที่ของภาครัฐในการแก้ปัญหา ซึ่งหากไม่สำเร็จก็ไม่ใช่ว่าเป็นศูนย์ แต่เราสามารถมาต่อยอดทำให้เกิดประโยชน์ได้ ซึ่งโดยส่วนตัวผมใช้ขนส่งสาธารณะเห็นว่าป้ายรถเมล์มีข้อมูลน้อยมาก จึงเกิดไอเดียอยากทำป้ายรถเมล์ที่ให้ข้อมูลเส้นทางมากขึ้น เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ

ด้านสิ่งแวดล้อมจาก คุณสุภัชญา เตชะชูเชิด ผู้ร่วมก่อตั้ง Refill Station  กล่าวว่า เคยเป็นนักธรณีวิทยา ไม่เคยอยากทำธุรกิจ แต่การใช้ชีวิตจะเป็นเขียวเข้ม พกแก้วน้ำ  พกตะเกียบ ขี่จักรยาน ปลูกป่า สร้างฝาย  เคยทำวิจัยอยู่ในป่า 15 วัน ในเมือง 15 วันก็พบว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ในเมืองมากกว่า แต่คนเมืองมักมองว่าไม่ค่อยเป็นปัญหา จนมาเกิดวิกฤตโควิด-19  การเก็บขยะทำได้น้อยลง  จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนเมืองเปลี่ยนพฤติกรรม ลดปริมาณขยะ ให้ได้จนกิดเป็นธุรกิจ Refill Station  ขึ้น ซึ่งต้องบอกว่าการทำธุรกิจสิ่งแวดล้อม ยังต้องคำนึงถึงเงินทุนและความยั่งยืนควบคู่ไปด้วย

ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ จาก คุณชาคิต พรหมยศ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร YoungHappy   กล่าวว่า การทำธุรกิจเพื่อสังคมต้องมองเห็นปัญหาก่อน ถ้าแก้ปัญหาตรงนั้นได้จะเกิดความยั่งยื จุดเริ่มต้นของการทำคอมมูนิตี้ผู้สูงวัยเพราะเริ่มเห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุในบ้าน ทำอย่างไรให้เด็กกับคนสูงวัยเข้าใจกันได้ ปัญหาที่พบคือ เรื่องของเทคโนโลยี และวิธีการสื่อสาร รวมถึงภาษาที่ใช้ ต้องมีความสมดุล สิ่งหนึ่งที่พบคือ แม้จะมีเทคโนโลยีในการอำนวยความสะดวกให้กับคนสูงวัยแค่ไหน ที่สำคัญกว่าคืออยากมีคนคุยด้วย มากกว่า  

ส่วนด้านเศรษฐกิจท้องถิ่นจาก คุณภัทรารัตน์ ตั้งนิสัยตรง ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการโครงการ Roots Incubation Program  กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการทำโครงการคือเปิดโอกาสให้คนที่อยากทำธุรกิจ หรือมีไอเดียแล้วแต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง ไม่รู้จะปรึกษาใครดี  ได้เข้ามาร่วมโครงการทำเวิร์คช็อปกับวิทยากร

 สิ่งแรกต้องมองที่ตัวเองก่อนว่ามีจุดแข็งอะไรบ้าง ที่จะเข้าไปพัฒนาชุมชนของตัวเอง ให้มีการเติบโต   ซึ่งในปัจจุบันคนรุ่นใหม่หลายคนอยากกลับไปทำงานที่บ้านในท้องถิ่นของตัวเอง แต่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหนสำหรับการทำธุรกิจเพื่อสังคมนั้น ไม่ใช่รูปแบบของการทำธุรกิจทั่วไป แต่เป็นการสร้างปรากฏการณ์ทางสังคมให้เติบโตมากขึ้น

อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการ สานพลัง x PTT Group Young Socialpreneur Hackathon จะมีโอกาสเวิร์กชอปการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมในเชิงธุรกิจ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทในกลุ่ม ปตท. และองค์กรพันธมิตรชั้นนำระดับประเทศ ร่วมกับไรส์ มาเป็นที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิดตลอดโครงการ ซึ่งหากได้รับคัดเลือกเป็น 4 ทีมสุดท้าย จะมีโอกาสได้รับเงินรางวัลและเงินทุนตั้งต้นในการร่วมกระบวนการทดสอบไอเดียธุรกิจ Proof of Concept (POC) กับบริษัทในกลุ่ม ปตท. รวมมูลค่ากว่า 540,000 บาท เพื่อพัฒนาไอเดียให้สามารถออกสู่ตลาดพร้อมแก้ไขปัญหาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมได้จริง โครงการฯ เปิดรับสมัคร ตั้งแต่วันนี้ - 2 มิถุนายน 2566 ผู้สนใจสามารถสมัครร่วมโครงการได้ที่ https://forms.gle/yMTvnQV5n7ooH1BTA  และติดตามข่าวสารกิจกรรมเพิ่มเติมได้ผ่านทาง Facebook: PTT News และ Facebook: สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม

-

 

TAGS: #สานพลัง #กลุ่ม #ปตท. #นวัตกรรมทางธุรกิจ #Hackathon