ส.อ.ท.มองราคา EV แข่งดุแนวโน้มถูกลง เบียดตลาดรถสันดาป จับตานโยบายทรัมป์ 2.0 กดราคาน้ำมันต่ำลงมีผลต่อตลาด EV แค่ไหน
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มฯ และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึง แนวโน้มตลาดรถยนต์ไฟฟ้า(EV)ในไทยว่า ยังคงได้รับความสนใจจากผู้ใช้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะแรงจูงใจในเรื่องราคาที่ถูกลงเมื่อเทียบกับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน(ICE) ในบางรุ่น เนื่องจากเทคโนโลยีของแบตเตอร์รี่และมอเตอร์ไฟฟ้าที่มีการพัฒนาเร็วทำให้มีประสิทธิภาพดีกว่ารถยนต์รุ่นเก่า
ขณะที่ปัจจัยในเรื่องราคาน้ำมัน โดยเฉพาะการประกาศนโยบายด้านพลังงานของทรัมป์ 2.0 ที่พยายามกดราคาน้ำมันให้ถูกลง จะส่งผลต่อความนิยมของรถEV แค่ไหนนั้นหากราคาน้ำมันยังผันผวนและปรับลดลงไม่มาก รถEV ก็ยังคงมาชิงส่วนแบ่งตลาดอยู่ ซึ่งระดับราคาน้ำมันเฉลี่ยน่าจะอยู่ในระดับ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเลือกซื้อรถEV
อย่างไรก็ตามเมื่อปี 2566 รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า มีมาตรการอุดหนุนราคาให้คันละ 1.5 แสนบาทเพื่อเป็นส่วนลดให้กับผู้ซื้อ ส่งผลให้มีการนำเข้ารถEV เข้ามา 6-7 หมื่นคัน ทำให้ความต้องการมีการเติบโต โดยขณะนี้มีค่ายรถยนต์จากจีนที่มีแผนเริ่มผลิตรถ EV ในไทย ได้แก่ GWM, NETA MG BYD GAC Aion และ Changan จะเริ่มผลิตในช่วงต้นปี 2568
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ในปีนี้คาดจะมีการผลิตรถEV กว่า 1 แสนคัน ซึ่งเป็นการชดเชยการนำเข้ารถ EV ในช่วงปี 2565-2566 ตามเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุน โดยที่ผ่านมาได้มีหลายค่ายที่เริ่มผลิตมาแล้วตั้งแต่ปี 2567 ในปริมาณ 1 หมื่นคัน และจะต้องเพิ่มสัดส่วนให้เท่ากับ 1.5 เท่าของปริมาณการนำเข้า ซึ่งน่าจะมีการผลิตเพิ่มอีกกว่า 8 หมื่นคัน
ปัจจุบันไทยยังคงสนับสนุนให้ไทยยังเป็นฐานผลิต รถEV และรถสันดาป โดยปีที่ผ่านมาไทยส่งออกรถยนต์ไฮบริดจำนวนมาก ขยายตัวถึง 300-400% เพื่อตอบสนองของคู่ค้า ที่มีนโยบายควบคุมประสิทธิภาพการใช้รถยนต์
“ส่วนนโยบายของทรัมป์ที่ไม่สนับสนุนรถ EV และมีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน นั้น หากมองตลาดรถEV ในสหรัฐ ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าจากยุโรปมากกว่าจีนเพราะเป็นตลาดรถหรู หรือค่าย Tesla สัญชาติอเมริกัน ขณะที่การลงทุนสถานีชาร์จต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงมาก”