‘ณธกฤษ เอี่ยมสกุล’ ซีอีโอ กลุ่มบริษัทแพลทินัม ฟรุ๊ต กับแผนพาธุรกิจไอพีโอในตลาดฯ ที่เจ้าตัวบอกว่า ‘การระดมทุน’ ไม่ใช่ประเด็นหลักแต่การได้ติดนามสกุล ‘มหาชน’ คือใบเบิกทางเชื่อมั่นในตลาดผลไม้ระดับโลก
‘ทุเรียน’ สมญานาม King Of Fruit ราชาแห่งผลไม้ ด้วยกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ถ้าใครได้ลองชิมแล้วไม่’หลงรัก’ก็ ‘เกลียดไปเลย’ ที่ทำให้เจ้าผลไม้เมืองร้อนชนิดนี้ มีเสน่ห์มากล้นจนกลายเป็นที่นิยมของคนรักทุเรียน
โดยเฉพาะตลาดส่งออกจีน ลูกค้ารายใหญ่ของทุเรียนไทย ที่หลายคนห่วงใยว่าตลาดส่งออกสำคัญอย่างจีน กำลังถูกประเทศเพื่อนบ้าน ‘เวียดนาม’ เข้ามาท้าชิงการเป็นเจ้าส่งออกทุเรียนในตลาดนี้แทนที่ไทยหรือไม่?
ด้วยตลอดช่วงที่ผ่านมา ‘ทุเรียนไทย’ เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญ และยังครองเบอร์หนึ่งผลไม้ส่งออกของไทย มีแหล่งผลิตใหญ่พื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศ ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ ระยอง ตราด และ จันทบุรี ด้วยกำลังการผลิตรวมปี 2567 กว่า 823,898 ตัน เพิ่มขึ้น 6.05 %
ทว่าแค่ ‘จันทบุรี’ จังหวัดเดียว มีปริมาณผลผลิตทุเรียนราว 561,905 ตัน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 90,000 ล้านบาท มีตลาดส่งออกสำคัญคือ ‘จีน’ ในปี 2566 จีนนำเข้าทุเรียนจากไทยกว่า 928,900 ตัน หรือกว่า 40% ของปริมาณการนำเข้าผลไม้ทั้งหมด
ต่อเรื่องนี้ 'ณธกฤษ เอี่ยมสกุล' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แพลททินัม กรุ๊ป จำกัด และ กลุ่มบริษัทย่อย ผู้ดำเนินธุรกิจส่งออกผลไม้ครบวงจร รายใหญ่ของไทย กล่าวว่าต่อความกังวลข้างต้นหากถามในมุมมองของเขา บอกว่า ‘ทุเรียนเวียดนาม’ ไม่ใช่คู่แข่งของ ‘ทุเรียนไทย’
จากความแตกต่างด้านตำแหน่งทางการตลาดที่ค่อนข้างชัดเจน วัดจากเกณฑ์คุณภาพและรสชาติ ของทุเรียนไทยที่มีคามอร่อยจากเนื้อสัมผัส รสชาติ ที่พัฒนาออกมาหลากหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะ ‘หมอนทอง’ ของไทยที่ครองใจตลาดชาวจีนมาช้านาน
ขณะที่ ทุเรียนเวียดนาม จากข้อมูลข่าวสารที่ออกมาในช่วงที่ผ่านมาแม้จะบอกว่าเวียดนามเร่งส่งออกไปตลาดจีนจำนวนมาก แต่ก็เป็นกลุ่มสินค้าระดับแมส ซึ่งก็เป็นคนละตลาดกับ ‘ทุเรียนไทย’ ของบริษัท ที่วางตำแหน่งเป็นสินค้าระดับพรีเมียม เน้นตลาดบนและตลาดกลาง ด้วยราคาขายปลายทางต่างกันราว 15%
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีสวนทุเรียนครอบคลุมในจังหวัดตราด จันทบุรี และ ระยอง ที่ที่รับซื้อประจำราว 200-300 สวน พร้อมให้ความสำคัญด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ผลผลิตตามมาตรฐานส่งออกกับสวนทุเรียนโดยตรง เพื่อให้ได้คุณภาพระดับเกรด Aและ B กว่า 80%
ถือเป็นจุดเด่นของทุเรียนไทย ที่มีความแตกต่างไปจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างแน่นอน
ส่งออกผลไม้ไทยกว่า 5,000 ล้านบาท
ณธกฤษ ย้อนกลับไปถึงงจุดเริ่มต้นธุรกิจบริษัทฯ ตั้งขึ้นในปี 2553 หรือราว 14 ปีก่อน ด้วยการส่งออกทุเรียน และ มังคุด ผ่านทางอากาศไปยังไต้หวันภายใต้แบรนด์ ‘888’ ในปี 2536 จากนั้นได้ขยายธุรกิจและการตลาดจนเป็นบริษัทแพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด พร้อมบริษัทในเครือ ที่สร้างรายได้รวมกว่า 5,200 ล้านบาท ได้ภายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบัน ‘แพลททินัม ฟรุ๊ต’ เป็นบริษัท หนึ่งในห้าของประเทศไทยที่ส่งออกผลไม้สดและสินค้าเกษตรคุณภาพสูง อาทิ ทุเรียน ลำไย มังคุด มะพร้าว
โดยมีตลาดทั้งในเอเชีย ยุโรป อาทิ จีน ไต้หวัน ฮ่องกง อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ เป็นต้น ด้วยปริมาณส่งออกเฉลี่ยมากกว่า 18,000 ตันต่อปี และดำเนินธุรกิจการส่งออกแบบครบวงจร ภายใต้ 4 บริษัทลูก ประกอบด้วยด้วย
- บริษัท ตองแปด ผักผลไม้ จำกัด (888 Fruits & Vegetables) ทำธุรกิจส่งออกผักและผลไม้ โดยมีตลาดหลัก คือ จีน ไต้หวัน และยุโรป
- บริษัท ตองแปด โลจิสติกส์ จำกัด (888 Logistics) บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ในประเทศ และ ระหว่างประเทศ พร้อมลานโหลดสินค้า ด้วยระบบ ISO9001:2015 และระบบ Cold chain logistics
- บริษัท สกาย ชอร์ เทรดดิ้ง จำกัด (Sky Shore Trading) บริการ shipping ระหว่างประเทศ จัดทำเอกสารและพิธีศุลการศุลกากร โดยมีใบรับรองจากศุลกากรโลก
- บริษัท สกาย ชอร์ ดีโปท์ จำกัด (Sky Shore Depot) บริการลานรับฝากตู้คอนเทนเนอร์ ให้ธุรกิจการเดินเรือขนส่งสินค้าชั้นนำระดับโลก
ณธกฤษ เสริมว่า จากความครบวงจรของกลุ่มบริษัทฯ ที่มีความพร้อมดำเนินการในทุกด้าน รวมถึงมาตรฐานการผลิตระดับโลก และสามารถตรวจสอบไปกลับต้นทางได้ เป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจผ่านพ้นวิกฤตการส่งออกในช่วงโควิด จากข้อจำกัดเรื่องวงจรสินค้า (Life Cycle) ได้ ด้วยการแก้ไขแต่ละจุดของระบบซัพพลายเชน จนเป็นผู้ส่งออกไทยเพียงไม่กี่ราย ที่สามารถส่งออกผลไม้สด ได้ตามเวลา
โดยเฉพาะทุเรียน ในตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่าจนกลายเป็นโมเดลธุรกิจที่สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส จนสร้างรายได้ในช่วงดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่า 3,300 ล้านบาท จาก 2,500 ล้านบาท
ปัจจุบัน บริษัทฯ ทำตลาด 4 กลุ่มผลไม้ ในตลาดต่างประเทศสำคัญ ดังนี้
- ทุเรียน ตลาดประเทศ จีน ไต้หวัน นิวซีแลนด์ และ อังกฤษ
- ลำไย ตลาดประเทศ จีน อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย และ อินเดีย
- มังคุด ตลาดประเทศ จีน นิวซีแลนด์ และ ออสเตรเลีย
- มะพร้าว ตลาดประเทศ จีน
เสริมแกร่ง ‘ทุเรียนไทย’ ต้องไอพีโอ
ณธกฤษ เสริมว่าจากความครบวงจรของกลุ่มบริษัทฯ ปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ธุรกิจมีอัตราการเติบโตมาโดยตลอด บวกกับความพร้อมเข้าไปแก้ไขในทันทีหากเจอข้อผิดพลาดและอุปสรรคการทำตลาด
โดยแผนจากนี้ไป บริษัทฯ อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมธุรกิจเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ได้ ยูโอบี เข้ามาเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เรียบร้อยแล้ว และพร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมในอนาคตหากมีความชัดเจนมากขึ้นแล้ว โดยมีแผนเตรียมยื่นไฟลิ่งในเดือนกันยายน ปี2567 นี้
“เหตุผลสำคัญการไอพีโอธุรกิจ คือ สร้างความเชื่อมั่นคู่ค้าในการขยายตลาดใหม่ๆ รวมถึงการเจรจากับพันธมิตรต่างประเทศ จากการที่บริษัทเป็นกิจการอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนการระดมทุนเป็นประเด็นรองลงมา ด้วยปัจจุบันบริษัท มีความแข็งแกร่งด้านการเงินพอสมควร และยังมีกำไรมาจากทุกหน่วยธุรกิจในเครือ” ณธกฤษ ย้ำ