ส.อ.ท.เผยยอดผลิตรถในไทยเดือนก.พ.ลด19.28% หลังถูกรถ EVเบียดส่วนแบ่งตลาดรถสันดาป ขณะที่รถกระบะเจอกฏเหล็กลิสซิ่งยอดขายหายไปกว่า 40%
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเดือนก.พ. ว่า มีจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ 133,690 คัน ลดลง ร้อยละ 19.28 เทียบกับปีก่อน และลดลงจากเดือนม.ค.2567 ร้อยละ 5.92 เนื่องจากการผลิตเพื่อส่งออกและผลิตเพื่อขายในประเทศลดลง โดยเฉพาะรถยนต์นั่งถูกรถยนต์ไฟฟ้า(EV)ที่ยังนำเข้าจากต่างประเทศมาแย่งส่วนแบ่งตลาดไป ขณะที่รถกระบะยอดผลิตลดลงจากเพราะบางบริษัทขาดแคลนชิ้นส่วนประกอบบางชิ้น รวมถึงความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อทำให้ยอดขายลดลง
ทั้งนี้ส่งผลให้ 2 เดือนแรกของปีมีจำนวนผลิตรถยนต์ 275,792 คัน ลดลง ร้อยละ 15.90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นที่สังเกตว่ารถยนต์ Hybrid Electric Vehicle หรือ ไฮบริดอีวีมีจำนวนผลิต มีจำนวน 38,348 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 70.41 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้รับความสนใจมากขึ้น เมื่อเทียบกับรถEV 100% ที่ยังกังวลในเรื่องของจุดชาร์จที่ยังไม่ครอบคลุมในพื้นที่ระยะทางไกล
ด้านการผลิตเพื่อส่งออก เดือนก.พ. ผลิตได้ 86,762 คัน เท่ากับร้อยละ 64.90 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนก.พ. 2566 ร้อยละ 9.26 ส่วนเดือนม.ค.-ก.พ. ผลิตเพื่อส่งออกได้ 181,872 คัน เท่ากับร้อยละ 65.95 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากปี 2566 ระยะเวลาเดียวกันร้อยละ 2.82
ส่วนการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เดือนก.พ. ผลิตได้ 46,928 คัน เท่ากับร้อยละ 35.10 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนก.พ. 2566 ร้อยละ 32.96 และ 2 เดือนแรกของปี ผลิตได้ 93,920 คัน เท่ากับร้อยละ 34.05 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2566 ร้อยละ 33.29
สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนก.พ. มีจำนวนทั้งสิ้น 52,843 คัน ลดลงจากเดือนม.ค. ร้อยละ 3.60 และลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 26.15 โดยมีปัจจัยสำคัญจากยอดขายรถกระบะและรถยนต์นั่งลดลงร้อยละ 43.2 และ 20.1 ตามลำดับจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อตามนโยบายการให้กู้แบบรับผิดชอบและหนี้ครัวเรือนสูง และยอดขายรถ PPV ลดลงร้อยละ 47.6 จากการไปซื้อรถยนต์นั่งตรวจการณ์ที่เป็น HEV มาขึ้นเพราะราคาถูกกว่า
รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศยังเติบโตในระดับต่ำเพราะงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ล่าช้าไปถึงเดือนเมษายน ทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐลดลง
ทั้งนี้แยกเป็นรถยนต์นั่งและรถยนต์นั่งตรวจการณ์ มีจำนวน 31,536 คัน เท่ากับร้อยละ 59.68 ของยอดขายทั้งหมด ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 9.14 รถยนต์นั่งและรถยนต์นั่งตรวจการณ์สันดาปภายใน (ICE) 13,360 คัน เท่ากับร้อยละ 25.28 ของยอดขายทั้งหมด ลดลงจากเดือนเดียวกันปีที่แล้วที่ร้อยละ 41.38 รถยนต์นั่งและรถยนต์นั่งตรวจการณ์ไฟฟ้า (BEV) 4,731 คัน เท่ากับร้อยละ 8.95 ของยอดขายทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีที่แล้วที่ร้อยละ 28.56
ด้านรถยนต์นั่งและรถยนต์นั่งตรวจการณ์ไฟฟ้าผสมแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) 255 คัน เท่ากับร้อยละ 0.48 ของยอดขายทั้งหมด ลดลงจากเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 8.93 รถยนต์นั่งและรถยนต์นั่งตรวจการณ์ไฟฟ้าผสม (HEV) 13,190 คัน เท่ากับร้อยละ 24.96 ของยอดขายทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 65.77
ส่วนรถกระบะมีจำนวน 15,535 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 43.15 รถ PPV มีจำนวน 3,304 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 47.61 รถบรรทุก 5 – 10 ตัน มีจำนวน 1,471 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 28 และรถประเภทอื่นๆ มีจำนวน 997 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 14.42
อย่างไรก็ตามช่วง 2 เดือนแรกของปี รถยนต์มียอดขาย 107,657 คัน ลดลงจากปี 2566 ในระยะเวลาเดียวกันร้อยละ 21.49 แยกเป็น รถยนต์นั่งและรถยนต์นั่งตรวจการณ์ มีจำนวน 65,900 คันเท่ากับร้อยละ 61.21 ของยอดขายทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 0.60 รถยนต์นั่งและรถยนต์นั่งตรวจการณ์สันดาปภายใน (ICE) 27,668 คัน เท่ากับร้อยละ 25.70 ของยอดขายทั้งหมด ลดลงจากเดือนเดียวกันปีที่แล้วที่ร้อยละ 37.38
ส่วนรถยนต์นั่งและรถยนต์นั่งตรวจการณ์ไฟฟ้า (BEV) 14,575 คัน เท่ากับร้อยละ 13.54 ของยอดขายทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีที่แล้วที่ร้อยละ 111.97 รถยนต์นั่งและรถยนต์นั่งตรวจการณ์ไฟฟ้าผสมแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) 303 คัน เท่ากับร้อยละ 0.28 ของยอดขายทั้งหมด ลดลงจากเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 48.03
ขณะที่รถยนต์นั่งและรถยนต์นั่งตรวจการณ์ไฟฟ้าผสม (HEV) 23,354 คัน เท่ากับร้อยละ 21.69 ของยอดขายรถยนต์นั่งและรถยนต์นั่งตรวจการณ์ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 68.46 รถกระบะมีจำนวน 30,399 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 43.31 รถ PPV มีจำนวน 6,378 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 45.87 รถบรรทุก 5 – 10 ตัน มีจำนวน 3,015 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 16.94 และรถประเภทอื่นๆ มีจำนวน 1,965 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 24.13
ด้านการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เดือนก.พ. 2567 ส่งออกได้ 88,720 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วร้อยละ 2.31 และเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ร้อยละ 0.22 แยกเป็นรถยนต์สันดาปภายใน ICE 81,644 คัน ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 7.07 ส่งออกรถยนต์ HEV 7,076 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 951.41 โดยส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากความไม่ปลอดภัยในเส้นทางทะเลแดง จึงต้องไปอ้อมแหลมกู้ดโฮม การใช้เวลาในการขนส่งมากขึ้นจึงทำให้จำนวนเที่ยวลดลง และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าบางแห่งชะลอลง จึงส่งออกลดลงในตลาดเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกาและยุโรป โดยยอดรวม 2 เดือน ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 175,436 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.07 ระยะเวลาเดียวกันปีที่แล้ว
นายสุรพงษ์ กล่าวถึง ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV เดือนกุมภาพันธ์ 2567 มียอดจดทะเบียนใหม่มีจำนวน 6,335 คัน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วร้อยละ 15.94 ส่งผลให้ยอดรวม 2 เดือนมียอดจดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน 22,278 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.97 ขณะที่ยานยนต์ประเภทไฟฟ้า (HEV) มียอดจดทะเบียนใหม่เดือนก.พ.จำนวน 11,991 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วร้อยละ 51.38 มียอดสะสม 26,134 คัน เพิ่มขึ้น 67.44
ปัจจุบันไทยมียอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าสะสมประเภท HEV ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 จำนวนทั้งสิ้น 369,532คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 34.28 ส่วนประเภท PHEV ณ มียอดจดทะเบียนสะสมจำนวนทั้งสิ้น 55,782 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 25.08
“ตอนนี้เทรนด์ รถEV ยังได้รับความสนใจมาก โดยเฉพาะค่ายรถจากจีนและประเทศอื่นเข้ามาทำตลาด ในขณะที่ค่ายรถยนต์สันดาปก็มีตัวไฮบริด EV เข้ามาแข่งขัน ซึ่งตอบโจทย์ผู้ใช้ได้ดี บางรุ่นมีราคาที่จับต้องได้ ประกอบกับหลายคนยังกังวลการใช้รถEVแบบ 100%ในเรื่องจุดชาร์จ ส่งผลให้มียอดขายที่ดี ทั้งนี้งานมอเตอร์โชว์กำลังจัดขึ้นมีค่ายรถEVจีนเข้ามาจัดแสดงจำนวนมาก รวมถึงค่ายรถจากเวียดนามก็นำรถปิคอัพ 4 ประตูมาร่วมแสดงซึ่งการที่มีรถEVจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในไทยจำนวนมาก ยังไม่น่ากังวลจนถึงั้นทำให้โครงสร้างอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยกระทบ เพราะจะมีการผลิตในประเทศด้วยและจะเป็นตัวส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปประเทศอื่นๆได้”