ส.อ.ท.ประเมินไลน์การผลิตยังใกล้เคียงปีก่อน ชี้ปีนี้ค่ายรถ EV เริ่มเดินเครื่องผลิตในไทย หวังช่วยดันยอดขายในประเทศเติบโต
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้ประมาณการการผลิตรถยนต์ ในปี 2567 จำนวน 1.9 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.17 จากปีก่อน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกประมาณ1.15 ล้านคันเท่ากับร้อยละ 65 ของยอดการผลิตทั้งหมด และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 7.5 แสนเท่ากับร้อยละ 35 ของยอดการผลิตทั้งหมด
ทั้งนี้กำหนดเป้าการผลิตเพื่อส่งออกลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.52 เนื่องจากยังมีปัจจัยลบจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงและความขัดแย้งระหว่างประเทศอาจขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและการเพิ่มขึ้นใหม่ซึ่งจะ ส่งผลต่อการส่งออกลดลงและเงินเฟ้ออาจสูงขึ้น โดยตลาดทั้งในและต่างประเทศเกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในสินค้าประเภทเดียวกัน และคู่แข่งเกิดขึ้นในภูมิภาคเพิ่มขึ้น ขณะที่นโยบายของประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก เช่น การขึ้นภาษีสรรพสามิตในรถยนต์บางประเภทในลาว
ส่วนปัจจัยบวกที่สนับสนุนการส่งออกคือ ไทยเป็นฐานการผลิตรถกระบะเพื่อส่งออกไปทั่วโลกกว่า130 ประเทศจึงอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากจากเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่ประเทศจีนเปิดประเทศซึ่งอาจส่งผลให้การค้าโลกและการท่องเที่ยวเติบโตเป็นผลดีต่อการส่งออกของหลายประเทศดีขึ้นซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของประเทศไทย สำหรับปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์คลี่คลายลงมากส่งผลให้การผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น และปีนี้มีการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้า(EV)ในประเทศซึ่งไทยอาจมีการส่งออกEVเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามได้กำหนดเป้าหมายการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ไว้ 7.5 แสนคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.39 โดยมีปัจจัยบวก จากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาไทย ทำให้เกิดการเชื่อมโยง Supply Chain ของอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ยังต้องติดตามปัจจัยลบ จากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง หนี้สาธารณะสูง ค่าครองชีพสูง อัตราดอกเบี้ยสูง ส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของประชาชนลดลง ทำให้ยอดขายอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งมีsupply chain หลายอุตสาหกรรมชะลอตัวลง ส่งผลต่อการจ้างงาน ทำให้รายได้คนงานก่อสร้างและโรงงานลดลง
รวมถึงงบประมาณรายจ่ายประจำปี2567 ล่าช้าออกไป8เดือนเดือนทำให้การลงทุนและการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าช้าออกไปด้วย ส่งผลให้การลงทุนการจ้างงานของเอกชนล่าช้าออกไป เศรษฐกิจจึงเติบโตในระดับต่ำ
ด้านความขัดแยังระหว่างประเทศอาจขยายตัวและเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่จะส่งผลให้ราคาพลังงาน สินค้า และวัตถุดิบสูงขึ้น
การส่งออกสินค้าต่างๆ ในปีนี่อาจลดลงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงส่งผลการผลิตการลงทุนการจ้างงานลดลง อำนาจซื้อลดลง
นายสุรพงษ์ กล่าวถึง ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2566 ยอดการผลิตมีจำนวน 1.84 ล้านคันลดลง 2.22 % ต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ เนื่องจากการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศมียอดลดลง จากกลุ่มรถกระบะที่ผลิตลดลงร้อยละ 41.30 จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถกระบะเพราะหนี้ครัวเรือนสูงถึงร้อยละ 90.6 ของ GDP และอีกส่วนหนึ่งมาจากรถEVที่นำเข้ามาขายในประเทศ โดยมียอดจดทะเบียนถึง 75,690 คัน ทำให้ผลิตรถยนต์นั่งลดลงร้อยละ 16.24 แต่การผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกปี 2566 กลับเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11.44 ตามยอดการส่งออกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.30 และสูงกว่าส่งออกปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด 19 หรือสูงสุดในรอบ 5ปี
ด้านยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ได้รับความสนใจสูงขึ้นโดยเฉพาะประเภท HEV หรือไฮบริดเดือนธันวาคม 2566 มียอดจดทะเบียนใหม่ 5,509 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคมปีที่แล้วร้อยละ 34.43 ขณะที่ตลอดทั้งปีมียอดจดทะเบียนใหม่สะสม รวม 85,069 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - ธันวาคมปีที่แล้วร้อยละ 32.85