“จตุพร-ฉันทวิชญ์” รับ 5 ข้อเสนอเอกชน ออกมาตรการเชิงรุก ลดผลกระทบ Trade Diversion เปิดตลาดส่งออกใหม่ พร้อม ร่างปฏิญญาความร่วมมือ
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยหลังร่วมกับ นายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รมช.พาณิชย์ หารือกับนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และคณะผู้บริหารว่า เพื่อรับฟังข้อเสนอและผลักดันความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนอย่างใกล้ชิด รับมือความไม่แน่นอนของการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้นี้มีเป้าหมายกำหนดแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยท่ามกลางความท้าทายของสถานการณ์โลก ทั้งการเปลี่ยนแปลงมาตรการทางการค้าของประเทศคู่ค้า เช่น ภาษีของสหรัฐฯ และ CBAM ของสหภาพยุโรป ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทางกระทรวงพาณิชย์ ต้องเป็นพาณิชย์หนึ่งเดียว จับมือกับ FTI ONE บูรณาการความร่วมมือ โดยจะร่วมกันร่าง ‘ปฏิญญาความร่วมมือ’ ระหว่างกระทรวงพาณิชย์และ ส.อ.ท. เพื่อแก้ปัญหาผู้ประกอบการอย่างเป็นระบบ พร้อมติดตามความคืบหน้าทุก 10 วัน
อย่างไรก็ตามข้อเสนอทั้งหมดจาก ส.อ.ท. สอดคล้องกับ 10 นโยบายเร่งด่วนของกระทรวงพาณิชย์ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย โดยเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก การใช้กลยุทธ์ Soft Power และการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ทุกภาคส่วน
“วันนี้เราต้องร่วมมือกันทั้งประเทศ กระทรวงพาณิชย์พร้อมเปิดใจ รับฟัง และทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด ทีมไทยแลนด์ต้องเดินหน้าอย่างเป็นหนึ่งเดียว เพื่อผลักดันไทยทำ ไทยใช้ ไทยช่วยไทย ให้เกิดขึ้นจริง” นายจตุพร กล่าว
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมพร้อมสนับสนุนการทำงานของกระทรวงพาณิชย์และรัฐบาล โดยได้เสนอแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจและดูแลผู้ประกอบการไทย 5 ประเด็นสำคัญ ซึ่งต้องเดินร่วมกันให้เป็นทีมไทยแลนด์ เพราะในวันนี้มีทั้งวิกฤตและโอกาส ดังนี้
1.ผลักดันมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการจากผลกระทบ Reciprocal Tariff
-ขอให้ภาครัฐสนับสนุนด้านกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญแก่ผู้ประกอบการ SME
-ลดค่าใช้จ่ายทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าธรรมเนียมใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O)
2. เร่งการเจรจาลดภาษีรายสินค้าของสหรัฐฯ
-โดยเฉพาะภายใต้มาตรา 232 ที่ยังจัดเก็บภาษีสูงในสินค้าสำคัญ เช่น เหล็ก อลูมิเนียม ยานยนต์ และชิ้นส่วน
3. ดำเนินมาตรการเชิงรุก ลดผลกระทบ Trade Diversion
-เสนอให้ภาครัฐสามารถริเริ่มกระบวนการใช้มาตรการทางการค้าโดยไม่ต้องรอให้เอกชนยื่นเรื่อง
-ใช้เครื่องมือทางการค้าให้ครบถ้วน เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD), การปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (SG), และการตอบโต้การอุดหนุน (CVD)
-พิจารณาควบคุมการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มสูงผิดปกติ ตาม พ.ร.บ. การนำเข้า-ส่งออก พ.ศ. 2522
4. ส่งเสริมการเปิดตลาดใหม่ให้กับอุตสาหกรรมไทย
-เร่งเจรจา FTA ฉบับใหม่ๆ เช่น ไทย–ยูเรเซีย (EAEU)
-สนับสนุนโครงการ SME Pro-active และกิจกรรม Trade Mission
-เพิ่มสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในสินค้าไทย (Made in Thailand: MiT)
5.สร้างระบบนิเวศการค้าชายแดนเพื่อการเติบโตระยะยาว
-เสนอให้ภาครัฐร่วมบูรณาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวกด้านพิธีการ และการค้าชายแดนอย่างครบวงจร