นักวิทยาศาสตร์เตือน ธารน้ำแข็งในสวิตเซอร์แลนด์กำลังหดตัวลงอย่างรวดเร็ว โดยหายไปแล้ว 10% ภายในระยะเวลาแค่ 2 ปี ที่ผ่านมา
หน่วยติดตามธารน้ำแข็งสวิตเซอร์แลนด์ (GLAMOS) เปิดเผยว่า อัตราการละลายของธารน้ำแข็งในสวิตเซอร์แลนด์ของปีนี้ นับว่ามีความเลวร้ายมากที่สุดเป็นอันดับ 2 หลังจากสถิติความสูญเสียในปี 2565 ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มวลน้ำแข็งของธารน้ำแข็งสวิตเซอร์แลนด์ลดลงมากถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตรงกับช่วงที่สวิตเซอร์แลนด์เผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด
โดยมีสถิติฤดูร้อนที่ร้อนสุดเป็นลำดับ 3 ทำให้ธารน้ำแข็งสวิตเซอร์แลนด์สูญเสียมวลน้ำแข็งในเวลาเพียง 2 ปี เท่ากับที่สูญเสียไปในช่วง 3 ทศวรรษ ก่อนปี 2533 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีการบันทึกสถิติ
ซึ่งการหดหายของธารน้ำแข็งในช่วง 2 ปีดังกล่าว ทำให้ 'ลิ้นธารน้ำแข็ง' (glacier tongue) หรือส่วนปลายสุดของธารน้ำแข็งที่มีลักษณะยื่นออกไปในทะเล พังทลายไปหลายแห่ง และธารน้ำแข็งขนาดเล็กในสวิตเซอร์แลนด์ก็ละลายหายไปมากมาย เช่น ธารน้ำแข็ง เซนต์ อันนาเฟิร์น ตอนกลางของประเทศ ซึ่งน้ำแข็งหดตัวมากจน GLAMOS ไม่มีอะไรให้สังเกตการณ์
การสูญเสียน้ำแข็งยังเกิดขึ้นในพื้นที่สูง ซึ่งตามปกติไม่เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวด้วย น้ำแข็งในรัฐวาเล (Valais) และบริเวณหุบเขา 'เองกาดีน' (Engadin) ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลมากกว่า 3,200 เมตร ยังหายไปหลายเมตร
การสูญเสียน้ำแข็งดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อธารน้ำแข็งทั่วสวิตเซอร์แลนด์ เกิดขึ้นหลังจากพวกเขามีฤดูหนายที่หิมะตกน้อยมาก ระดับของหิมะในช่วงครึ่งหลังของเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นับว่าต่ำที่สุดเป็นประวัติกาล อยู่ที่ราว 30% ของค่าเฉลี่ยความลึกของหิมะที่ปกคลุมระยะยาวเท่านั้น
ต่อมาสวิตเซอร์แลนด์ยังต้องเจอกับฤดูร้อนที่อุณหภูมิสูงกว่าปกติ อากาศที่ร้อนและแห้งในเดือนมิถุนายนหมายความว่า หิมะจะเริ่มละลายเร็วกว่าปกติ 2-4 สัปดาห์ อุณหภูมิที่สูงยังต่อเนื่องมาจนถึงเดือนกันยายน ซึ่งทำให้หิมะที่ตกในฤดูร้อนละลายเร็วขึ้นด้วย
นอกจากนี้ หน่วยติดตามธารน้ำแข็งสวิตเซอร์แลนด์ ยังระบุว่า ปีนี้จากปริมาณหิมะที่ตกลงมาน้อยในช่วงฤดูหนาว ประกอบกับฤดูร้อนที่มาถึงเร็ว และสิ้นสุดลงช้ากว่าปกติ ยิ่งทำให้การสูญเสียมวลน้ำแข็งเพิ่มมากขึ้น
ที่มาจาก : CNN
ภาพ : Matthias Huss/GLAMOS