ประวัติศาสตร์เมืองศรีเทพ มรดกโลกที่คนไทยแทบไม่รู้จักเรื่องราวเบื้องหลัง ทั้งที่อาจสำคัญระดับโลก
• ในเดือนกันยายน 2566 ศรีเทพกลายเป็นเมืองโบราณแห่งล่าสุดของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก แต่ท่ามกลางความยินดีของคนไทย จะมีคนไทยสักกี่คนที่รู้ศรีเทพว่าเกี่ยวข้องอย่างไรกับประวัติศาสตร์โลก?
• ที่คนไทยและชาวโลกไม่รู้จักศรีเทพดีพอ นั่นเป็นเพราะศรีเทพเป็นเมืองโบราณที่ประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรเหลืออยู่น้อยมาก หรือพูดอีกอย่างก็คือ เราไม่รู้ว่าใครสร้างศรีเทพ คนศรีเทพอยู่กันอย่างไร และชนชาติไหนที่อยู่ในศรีเทพ?
• นี่คือสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับเมืองศรีเทพ ซึ่งอันที่จริงก็ยังมีคำถามด้วยซ้ำว่าเมืองโบราณแห่งนี้ชื่อว่าศรีเทพหรือว่าชื่ออะไรกันแน่?
• หลักฐานไม่กี่อย่างเกี่ยวกีบศรีเทพคือ "จารึกเมืองศรีเทพ" เป็นภาษาสันสกฤต สถานที่พบ คือเมืองโบราณศรีเทพ ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้พบ คือสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประเมินว่ามีอายุพุทธศตวรรษ 12 หรือมีอายุประมาณ 1,300 1,400 ปี
• หนังสือเรื่อง เที่ยวที่ต่างๆ ภาค 3 เล่าเรื่องเที่ยวมณฑลเพชรบูรณ์ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงทำให้ทราบว่า จารึกที่ทรงกล่าวถึงในคราวที่พระองค์ไปเยือนเพชรบูรณ์ในปี พ.ศ. 2450 (ร.ศ. 125) นั้น เป็นจารึกหลักเดียวกันกับจารึกเมืองศรีเทพนี้เอง นอกจากนี้ทรงอธิบายว่า “ศิลาจารึกพบที่เมืองศรีเทพครั้งนี้ เป็นของแปลกมาก สัณฐานคล้ายตะปูหัวเห็ด ข้างปลายที่เสี้ยมแหลมเป็นแต่ถากโกลน สำหรับฝังดิน ขัดเกลี้ยงแต่ที่หัวเห็ดจารึกอักษรไว้ที่นั้น เป็นอักษรคฤนถ์ชั้นก่อนหนังสือขอม แต่ตรงที่จารึกแตกชำรุดเสียมาก ได้เอาศิลานี้ ลงมากรุงเทพฯ ให้อ่านดู เป็นภาษาสังสกฤตมีคำว่า “ขีลัง” ซึ่งแปลว่า “หลัก” จึงเข้าใจว่าศิลาแท่งนี้ คือหลักเมืองศรีเทพ แบบโบราณ เขาทำเป็นรูปตะปูตอกลงไว้ในแผ่นดิน ประสงค์ว่าให้มั่นคง”
• จารึกนี้มีเนื้อความไม่สมบูรณ์แต่พอจับใจความได้ว่า เป็นจารึกที่กล่าวสรรเสริญบุคคล ซึ่งอาจเป็นพระราชา หรือ เชื้อพระวงศ์ที่ปกครองเมืองศรีเทพในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 12 แต่ไม่บอกว่าพระราชามีพระนามว่าอะไร ที่น่าสนใจคือจารึกบอกไว้อย่างนี้ว่า "ผู้เป็นใหญ่ในปาลวะทั้งสองเป็นผู้ประกอบคําสัตย์และความกรุณา"
• "ผู้เป็นใหญ่ในปาลวะ" อาจหมายถึงกษัตริย์ที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ปาลวะหรือปัลลวะ (Pallava dynasty) ในอินเดียใต้ ราชวงศ์นี้มีอิทธิพลต่ออาณาจักรต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่อินโดนีซีย มาเลเซีย ไทย ไปจนถึงจามปาในเวียดนาม และกัมพูชา โดยเฉพาะอักษรปัลลวะ (Pallava script) เป็นอักษรที่ใช้กันทั่วไปในประเทศเหล่านี้ และยังเป็นบรรพบุรุษของอักษรไทยด้วย กษัตริย์ราชวงศ์ปาลวะยังนิยมต่อท้ายพระนามด้วยคำว่า "วรมัน" (Varman) ซึ่งเป็นธรรมเนียมให้กษัตริย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำตาม เช่น กษัตริย์ในอาณาจักรศรีจานาศะในภาคกลางและภาคอีสานของไทย และต่อมาใช้กับกษัตริย์ในอาณาจักรเขมรโบราณ
• อีกจารึกคือ "จารึกบ้านวังไผ่" พบที่ในป่าใกล้บ้านวังไผ่ ตำบลบ่อรัง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้กับเมืองศรีเทพ โดยห่างจากเมืองศรีเทพไปทางทิศเหนือประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นจารึกที่สร้างขึ้นในโอกาสที่พระมหากษัตริย์ขึ้นครองราชย์ โดยพระมหากษัตริย์พระองค์นั้น ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปฤถิวีนทรวรมัน และเป็นพระราชนัดดาของพระศรีจักรวรรติน ผู้ ผู้เป็นใหญ่เสมอกับพระเจ้าภววรมัน แต่ในจารึกไม่ได้ระบุว่า พระมหากษัตริย์ที่กล่าวถึงในจารึกนี้คือผู้ใด
• จารึกนี้บอกชื่อกษัตริย์สามพระองค์คือ พระศรีจักรวรรตินเป็นปู่ พระเจ้าปฤถิวีนทรวรมันเป็นพ่อ และพระเจ้าภววรมันซึ่งเป็นคนที่กษัตริย์ที่จารึกนี้อ้างว่ามีสถานะเท่ากัน นี่คือชื่อของกษัตริย์ศรีเทพที่เราพอจะรู้ แต่ไม่มีประวัติความเป็นมา กษัตริย์เหล่านี้น่าจะมีอายุราวๆ กับจารึกบ้านวังไผ่ คือ พุทธศตวรรษ 12 หรือมีอายุประมาณ 1,300 1,400 ปี
• เพราะความที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับกษัตริย์ศรีเทพ ทำให้มีแต่ข้อสันนิษฐานโดยอ้างอิงจากจารึกที่อื่นๆ คือสันนิษฐานว่า พระศรีจักรวรรตินเป็นปู่ พระเจ้าปฤถิวีนทรวรมันเป็นพ่อ และกษัตริย์องค์นี้เป็นใหญ่เสมอกับพระเจ้าภววรมันอาจหมายความว่าเป็นพี่น้องกัน และกษัตริย์ที่ไม่ถูกเอ่ยชื่อน่าจะเป็นเจ้าจิตรเสน หรือพระเจ้ามเหนทรวรมัน ผู้ร่วมสร้างอาณาจักรเจนละ (Chenla) กับพี่ชายคือพระเจ้าภววรมัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของจักรวรรดิเขมรโบราณ ทรงครองราชย์ระหว่าง ปี ค.ศ. 590-611
• แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าพระเจ้ามเหนทรวรมันกับพระเจ้าภววรมันเป็นพี่น้องกันก็จริง แต่น่าจะมีแม่เดียวกันแต่คนละพ่อ พระเจ้ามเหนทรวรมันมีพ่อชื่อวีรวรมัน ส่วนพระเจ้าภววรมันมีพ่อชื่อพระเจ้าปฤถิวีนทรวรมัน แต่พระเจ้าปฤถิวีนทรวรมันน่าจะเป็นพ่อเลี้ยงของพระเจ้ามเหนทรวรมันด้วย ดังนั้นในจารึกแห่งศรีเทพจึงบอกว่าพระเจ้ามเหนทรวรมันมีพ่อชื่อพระเจ้าปฤถิวีนทรวรมันไปด้วยนั่นเอง
• พระเจ้ามเหนทรวรมันกับพระเจ้าภววรมันสองพี่น้องคือผู้นำของอาณาจักรเจนละ ร่วมกันพิชิตอาณาจักรฟูนัน (Funan) ที่อยู่แถบปากแม่น้ำโขง แล้วตั้งดินแดนอยู่ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน แต่ก่อนหน้านี้ พระเจ้ามเหนทรวรมันกับพระเจ้าภววรมันมาจากไหน? มีข้อสันนิษฐานว่าอาณาจักรเจนละน่าจะอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำมูลในประเทศไทยไปจนถึงเมืองจำปาสักในลาว โดยมีศูนย์กลางคือ เมืองเศรษฐปุระ (Śrēṣṭhapūra) ที่เชื่อกันว่าว่าคือบริเวณปราสาทวัดภู (Vat Phou) และเมืองโบราณขนาดใหญ่ริมแม่น้ำโขง ที่ใกล้เมืองจำปาสัก ประเทศลาว
• แล้วใครสร้างเมืองเศรษฐปุระ? ผู้เชี่ยวชาญฝรั่งเศสวิเคราะห์จารึกที่วัดภูที่มีพระนามกษัตริย์ชื่อพระเจ้าเทวานีกะ (Devānīka) มาสร้างเมืองที่นี่ ในยุคก่อนที่พระเจ้ามเหนทรวรมันกับพระเจ้าภววรมันสองพี่น้องจะเกิดนานหลายร้อยปี ผู้เชี่ยวชาญฝรั่งเศสคือ โคล้ด ฌัคส์ (Claude Jacques) เสนอว่าพระเจ้าเทวานีกะน่าจะมาจาเมืองศรีเทพนั่นเอง หากทฤษฎีนี้ถูกต้อง อาณาจักรเจนละอาจจะมีรากฐานมาจากเมืองศรีเทพ และไม่แปลกที่ศรีเทพจะพบจารึกที่เกี่ยวกับที่พระเจ้ามเหนทรวรมันกับพระเจ้าภววรมัน แต่นี่คือข้อสันนิษฐานเท่านั้น
• ถึงแม้ว่าศรีเทพอาจจะเป็นต้นกำเนิดของราชวงศ์ที่พิชิตกัมพูชา แต่ศิลปะในเมืองศรีเทพเป็นแบบทวารวดี มีความเหมืนกับศิลปะทวารวดีในนครปฐม ราชบุรี ในภาคกลางและภาคอีสานของไทย มีน้อยมากที่เหมือนกับศิลปะเขมร ซึ่งทวารวดีเป็นอาณาจักรของชนชาติมอญโบราณ ดังนั้นจึงมีข้อสันนิษฐานต่อไปว่า ศรีเทพอาจเป็นดินแดนของชาวมอญมาตั้งแต่เดิม ต่อมาชนชั้นปกครองลงไปปกครองกัมพูชาแล้วกลายเป็นกลุ่มที่ใช้ภาษาเขมร ส่วนประชาชนในศรีเทพยังใช้ภาษามอญต่อไป อย่าลืมว่าภาษามอญและเขมรนั้นเป็นภาษาตระกูลเดียวกัน คือ ตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic languages) ในกลุ่มภาษามอญ-เขมร (Mon–Khmer)
• ยังมีบางทฤษฎีเสนอว่า ศรีเทพแต่เดิมอาจถูกควบคุมโดยอาณาจักรฟูนัน (Funan) ซึ่งเป็นอาณาจักรแรกๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับอิทธิพลจากอินเดีย และน่าจะมีศูนย์กลางแถบปากแม่น้ำโขงในแถบตอนใต้ของเวียดนามและบางส่วนของกัมพูชา ในช่วงศตวรรษที่ 5 - 6 ศรีเทพถูกปกครองโดยฟูนัน และนับถือศาสนาฮินดู แต่ต่อมาฟูนันเสื่อมอำนาจลงทำให้ศาสนาพุทธเฟื่องฟูขึ้นมา และจะเห็นว่าโบราณวัตถุของศรีเทพเกี่ยวเนื่องกับศาสนาพุทธเป็นจำนวนมาก แต่ต่อมาพวกที่นับถือศาสนาฮินดูมีอำนาจเหนือศรีเทพอีก คือพวกของพระเจ้ามเหนทรวรมันกับพระเจ้าภววรมันสองพี่น้อง ซึ่งทั้งสองพระองค์อาจเป็นคนในแถบภาคอีสานของไทย แต่ยกทัพลงไปตีฟูนันได้สำเร็จและลงไปตั้งเมืองหลวงใหม่ที่กัมพูชา
• นี่คือประวัติศาสตร์โบราณของศรีเทพที่เกี่ยวข้องกับต้นกำเนิดของประเทศไทย ประเทศกัมพูชา และประเทศลาว แม้ว่าจะมีหลักฐานเพียงเล็กน้อยก็ตาม และทำได้แค่สันนิษฐานจากจารึกไม่กี่หลัก โดยที่เราไม่รู้ว่าศรีเทพร้างไปอย่างไรและเมื่อไร? เราจะรู้จักศรีเทพอีกครั้ง เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งเสด็จไปตรวจราชการที่เพชรบูรณ์ และทรงสืบหาเมืองโบราณแห่งหนึ่งที่มีชื่อว่าศรีเทพ
• ทำไมสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงนึกได้ว่าในสมัยโบราณเคยมีเมืองชื่อศรีเทพ? เหตุผลก็คือพระองค์เคยพบชื่อเมืองศรีเทพจากทำในทำเนียบเก่าบอกรายชื่อหัวเมืองและสมุดดำต้นร่างกะทางให้คนเชิญตราไปบอกข่าวสิ้นรัชกาลที่ 2 จนได้ความว่ามีเมืองโบราณอยู่ในป่าดง ทรงเล่าไว้ว่า "เมื่อฉันลงมาถึงเมืองวิเชียร ทราบว่าพระยาประเสริฐสงคราม ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งแก่ชราลาออกจากราชการนานมาแล้ว ยังมีชีวิตอยู่ แต่ทุพพลภาพไม่สามารถจะมาหาได้ ฉันจึงไปเยี่ยมถึงบ้าน ถามถึงเรื่องเมืองศรีเทพ ได้ความว่าเมืองวิเชียรนั้นเอง แต่โบราณเรียกชื่อเป็น 2 อย่าง เมืองท่าโรงก็เรียก เมืองศรีเทพก็เรียก ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นที่พระศรีถมอรัตน (ตามชื่อเขาแก้ว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในจังหวัดนั้น)"
• "มาจนถึงรัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งปราบกบฏเวียงจันทน์ พระศรีถมอรัตนมีความชอบมาก จึงโปรดให้ยกศักดิ์เมืองศรีเทพขึ้นเป็นเมืองตรี เปลี่ยนนามเป็นเมืองวิเชียรบุรี (คงเอาชื่อเขาแก้วเป็นนิมิต) และเปลี่ยนนามผู้ว่าราชการจังหวัดจากพระศรีถมอรัตนเป็นพระยาประเสริฐสงครามแต่นั้นมา ถามแกต่อไปถึงเรื่องเมืองอภัยสาลี แกบอกว่ามีเมืองโบราณใหญ่โตจริง แต่ชื่อที่เรียกว่าเมืองอภัยสาลีนั้นเป็นแต่คำพระธุดงค์บอก จะเอาเป็นแน่ไม่ได้ เป็นอันได้ความตามที่อยากรู้เรื่องตำนานเมืองศรีเทพ ถ้าหากพระยาประเสริฐสงครามไม่มีอยู่ในเวลานั้น เรื่องก็น่าจะเลยสูญ"
นี่คือจุดเริ่มต้นของการรื้อฟื้นเมืองศรีเทพขึ้นมาใหม่ ศรีเทพจะผ่านร้อนผ่านหนาวต่อมาอีกร่วมร้อยปี ผ่านการทอดทิ้ง การปล้นโบราณวัตถุไปยังต่างประเทศ และในที่สุดก็มีการขุดค้นกันอย่างเป็นระบบ จนกระทั่งเมืองโบราณเผยความยิ่งใหญ่ขึ้นมาต่อหน้าสายตาชาวโลก และในที่สุด ศรีเทพก็ได้รับการยอมรับให้เป็นมรดกโลก
แม้ว่าสถานะของศรีเทพในประวัติศาสตร์โลกยังเป็นเรื่องที่ลึกลับอยู่มากก็ตาม