STEM เป็นตัวย่อของวิชา Science (วิทยาศาสตร์), technology (เทคโนโลยี), engineering (วิศวกรรมศาสตร์ และ mathematics (คณิตศาสตร์) กลุ่มวิชาเหล่านี้มักจะใช้เป็นตัววัดว่า "ประเทศชาติจะมีอนาคตแค่ไหน?" เพราะเป็นสาขาที่มีพลังผลักดันให้ประเทศพัฒนาในทางรูปธรรม
ตอนนี้ ประเทศไทยพูดถึงการผลักดันให้เยาวชนเรียนสาขา STEM ให้มากขึ้นเพื่อที่จะตามให้ทันประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ซึ่งเน้น STEM มากว่า "สังคมศาสตร์"
พูดตรงๆ ก็คือการทำ "สงคราม" ไม่ว่าจะ "สงครามในรูปแบบ" คือการรบด้วยอาวุธ และ "สงครามการค้า" ล้วนแต่ต้องอาศัยมันสมองอันปราดเปรื่องในสาขา STEM ทั้งสิ้น ดังนั้น ประเทศที่เสี่ยงจะ "รบ" กับประเทศอื่นจึงสั่งสมขุมกำลัง STEM จำนวนมหาศาล
จากข้อมูลของ Center for Security and Emerging Technology เมื่อปี 2020 พบว่าประเทศที่มีผู้สำเร็จการศึกษาสาขา STEM มากที่สุด 11 อันดับแรก (ไล่จากล่างขึ้นบน) คือ
11. ญี่ปุ่น จำนวน 192,000 คน คิดเป็นสัดส่วนผู้สำเร็จการศึกษาทั้งหมด 19%
10. อิหร่าน จำนวน 211,000 คน คิดเป็นสัดส่วน 33%
9. เยอรมนี จำนวน 216,000 คน คิดเป็นสัดส่วน36%
8. ฝรั่งเศส จำนวน 220,000 คน คิดเป็นสัดส่วน 26%
7. เม็กซิโก จำนวน 221,000 คน คิดเป็นสัดส่วน 26%
6. บราซิล จำนวน 238,000 คน คิดเป็นสัดส่วน 17%
5. อินโดนีเซีย จำนวน 300,000 คน คิดเป็นสัดส่วน 20%
4. รัสเซีย จำนวน 520,000 คน คิดเป็นสัดส่วน 37%
3. สหรัฐอเมริกา จำนวน 820,000 คน คิดเป็นสัดส่วน 20%
2. อินเดีย จำนวน 2,550,000 คน คิดเป็นสัดส่วน 30%
1. จีน จำนวน 3,570,000 คน คิดเป็นสัดส่วน 41%
โปรดสังเกตว่าในจำนวนนี้มีเอเชีย 5 ประเทศ หากนับรัสเซีย (ซึ่งเป็นเอเชียกึ่งหนึ่ง) ก็เป็น 6 ประเทศ ที่น่าสนใจก็คือ อินโดนีเซียเพื่อนบ้านเราอยู่ในอันดับที่ 5 เลยทีเดียว ซึ่งทำให้ผมรู้สึกว่า "ประเทศนี้ดูท่าจะมีอนาคต"
คราวนี้ผมจะไม่พูดมากเรื่องไทย แต่จะชี้ให้เห็นพึงพัฒนาการของประเทศอื่น โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศที่ผลิตปัญญาชน STEM มากที่สุด
แน่นอนว่า จีนต้องพร้อมรับการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ ทุกมิติทั้งการรบในสมรภูมิ และการรบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการรบด้วยเศรษฐกิจนั้นพัวพันกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งจีนรู้ดีตั้งแต่ช่วงทำสงครามการค้าครั้งแรก ซึ่ง Huawei ถูกบดขยี้อย่างหนัก แต่แล้วนอกจาจะไม่ตาย กลับยังแกร่งกว่าเดิมอีก สะท้อนว่าการปั้น STEM ของจีนมาถึงจุดสุดยอดแล้ว
แต่ยังก่อน จีนยังสุดยอดมากกว่านั้นอีกในเรื่อง STEM เพราะพวกเขาไม่ใช่แค่สร้างมันสมองสาขานี้เป็นล้านๆ เท่านั้น แต่ยังคัดเอาหัวกะทิประเภท STEM มาบริหารบ้านเมืองด้วย
มีข้อมูลน่าสนใจของ Asia Society ในบทความเรื่อง "การผงาดของกลุ่มคนรุ่นใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและ “กองทัพใหม่ชิงหัว” ของสีจิ้นผิง" ที่เอ่ยถึงเรื่องนี้ ซึ่งผมจะสรุปเป็นข้อๆ ให้อ่านกันก่อน
1. ขณะนี้ผู้นำที่เกิดในช่วงทศวรรษ 1980 กำลังก้าวขึ้นมาในระบบพรรคการเมืองของจีน และผู้นำที่เป็นผู้นำจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำระดับกลางในลำดับชั้นอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้นำรุ่นเยาว์เหล่านี้หลายคนมีภูมิหลังการศึกษาระดับสูงและได้รับการฝึกฝนระดับมืออาชีพในด้าน STEM ซึ่งแตกต่างจากสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนรุ่นก่อนๆ ที่น่าสนใจก็คือ คนรุ่นใหม่ในระดับนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชิงหัวมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งชิงหัวถือเป็นสถาบันของสีจิ้นผิงจบการศึกษา ทำให้มีการจับตาว่ายนี่คือการรวบอำนาจโดยใช้คนจากชิงหัวเข้ามาคุมพรรคฯ (แต่เราจะไม่พูดถึงเรื่องนี้ เพราะเป้าหมายหลักคือ ผู้นำใหม่สาย STEM)
2. ภายในสิ้นปี 2024 มีบุคลากรพรรคที่คุมงานระดับ "สำนักงาน" เต็มอย่างน้อย 75 คนที่เกิดในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งมีอายุระหว่าง 38 ถึง 44 ปี โดย 63 คนมีวุฒิการศึกษาระดับสูง (84%) และ 35 คนมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอก (46.7%) จากบุคลากร 60 คนที่ได้รับข้อมูล มี 29 คนที่ได้รับการฝึกอบรมเป็นวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ เปอร์เซ็นต์ที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้ "นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงมีการแต่งตั้งให้หลาย ๆ คนเข้าไปกำกับดูแลด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และรัฐวิสาหกิจอุตสาหกรรม รวมไปถึงอุตสาหกรรมการทหารด้วย" และ "ข้อมูลนี้สอดคล้องกับแนวทางที่สีจิ้นผิงเน้นย้ำในการพัฒนาขีดความสามารถอิสระในด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี"
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตที่น่าสนใจในเวลาเดียวกัน คือ
3. ข้อมูลในส่วนเจ้าหน้าที่ระดับรองผู้อำนวยการแสดงให้เห็นว่ามี 242 คนที่เกิดในช่วงทศวรรษ 1980 ในจำนวนนี้ 211 คน (87.6%) มีวุฒิการศึกษาระดับสูง รวมถึงปริญญาเอก 73 คน (30.3%) และปริญญาโท 138 คน (57.3%) "อย่างไรก็ตาม แตกต่างจากเจ้าหน้าที่ระดับสำนักงานอย่างเห็นได้ชัด ผู้ที่มีปริญญาโทส่วนใหญ่ได้รับปริญญาในสาขาที่ไม่ใช่ STEM (68 คน) มากกว่าสาขา STEM (31 คน)"
นี่เป็นดาต้าโดยสรุปโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับผู้บริหารรุ่นใหม่ในสาย STEM ส่วนอื่นๆ ของบทความนี้จะพูดถึงการสร้างเครือข่าย "มหาวิทยาชิงหัว" ภายใต้การนำของสีจิ้นผิง ซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่เราจะต้องสนใจในตอนนี้
สิ่งสำคัญอยู่ที่การเตรียมพร้อมผู้นำประเทศรุ่นใหม่ๆ ที่ตอบรับกับสถานการณ์ที่จะต้องเผชิญในอนาคต
และไม่ใช่แค่ระดับนำเท่านั้นที่มีการส่งเสริม STEM กันอย่างหนัก แต่ดูเหมือนว่าสถาบันการศึกษาที่คัดคนระดับหัวกะทิจะเน้นเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะคนเหล่านั้นจะออกมาเป็น "ระดับนำ" ของสังคมต่อไป นั่นหมายความว่าสังคมจีนจะชี้นำด้วยปัญญาชนสาย STEM อันเป็นพวก New Elites
แต่ความนิยมใน STEM (หรือ 理工科 ในภาษาจีน) ทำให้เกิดความกังขาต่อการเรียนสังคมศาสตร์ (文科) จนกระทั่งเกิดคำถามในเชิงทฤษฎีด้วยซ้ำว่า "ไม่มีประโยชน์แล้ว" และมีการถกเถียงกันในจีนมาระยะหนึ่งแล้ว และมีคำตอบที่หลากหลาย แต่ก็ไม่ใช่คำตอบหรือการตั้งข้อสังเกตที่ผิวเผิน เพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับ "ความเป็นความตาย" ของผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมา และยังเกี่ยวอย่างมากกับทิศทางการพัฒนาประเทศ
เมื่อเดือนก่อน ไป๋เหยียนซง (白岩松) ผู้ดำเนินรายการของสำนักข่าว CCTV ก็ยังตั้งข้อสังเกตว่า "ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เรามักได้ยินคำพูดที่ว่า “วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์มีความสำคัญมาก” และควรขยายขอบเขตให้กว้างขึ้น “ศิลปศาสตร์ไม่ได้มีความสำคัญขนาดนั้น” และถึงกับ “ศิลปศาสตร์ไม่มีประโยชน์” คำพูดดังกล่าวพบเห็นได้ทั่วไป ซึ่งถือเป็นการแสดงออกที่สำคัญของระดับความรู้ด้านมนุษยศาสตร์ที่ต่ำในสังคม"
เขาชี้ให้เห็นด้วยการอุปมาอุปมัยว่า
"ตัวอย่างเช่น ความก้าวหน้าของสังคมเปรียบเสมือนการสร้างรถยนต์ การพัฒนาอย่างรวดเร็วของวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงเทคโนโลยีขั้นสูง เทียบเท่ากับเครื่องยนต์ที่มีพลังมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม หากรถยนต์ไม่สามารถมีทิศทางที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่สามารถมีเบรกที่ดีได้ จะมีผลที่ตามมาอย่างไร
มนุษยศาสตร์เป็น "การบังคับเลี้ยวและการเบรก" ที่สำคัญของรถยนต์ เมื่อรวมกับ "เครื่องยนต์" ที่มีพลังของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง รถยนต์จะมีคุณภาพดีที่สุด
การวิเคราะห์ข้างต้นไม่ได้เรียกร้องให้มีสังคมศาสตร์ (หรือมนุษยศาสตร์) มากขึ้น แต่ต้องการให้มีการบูรณาการข้ามพรมแดนระหว่างสาขาวิชาต่างๆ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์หลายสาขา รวมถึงสาขาวิชาเทคโนโลยีขั้นสูง จะต้องมีมนุษยศาสตร์ที่แข็งแกร่งขึ้น และนักเรียนศิลปศาสตร์ยังต้องเข้าใจเทคโนโลยีด้วย
ผมคิดว่าในอนาคต โรงเรียนจะต้องข้ามพรมแดนและบูรณาการเมื่อปลูกฝังพรสวรรค์ แต่เราต้องไม่ลืมว่าเครื่องยนต์ การบังคับเลี้ยว และการเบรกมีความสำคัญเท่าเทียมกัน"
ทัศนะนี้มีคุณค่าน่ารับฟังอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่น่าจะมีบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดการผสานพลังระหว่างสังคมศาสตร์และ STEM มากกว่าที่อื่นๆ
แต่ก่อนอื่น คนในไทยบางคนจะต้องเลิกด่าทอสังคมศาสตร์เสียก่อนว่า "ไร้ประโยชน์" และเอาแต่เชียร์ STEM อย่างมีอคติ แล้วหันมาศึกษาแนวทางของจีน ประเทศที่กำลังสร้างสังคม STEM อย่างแท้จริงโดยไม่ทิ้งสาขาวิชาอื่นไว้เบื้องหลัง
บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo - TOPSHOT - กองเกียรติยศชาวจีนเดินขบวนระหว่างพิธีต้อนรับซึ่งมีประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนและประธานาธิบดีวิลเลียม รูโตของเคนยาเข้าร่วม ณ มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2025 (ภาพถ่ายโดย IORI SAGISAWA / POOL / AFP)