‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ทำเซอร์ไพรส์วงการหุ้น หลังขายทิ้งเกือบเกลี้ยงพอร์ตหุ้น TSMC บ.ชิปไต้หวัน หลังเข้าซื้อปลายปี65
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า บริษัท เบิร์กเชียร์ แฮทธาเวย์ (Berkshire Hathaway) ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ได้ลดสัดส่วนการถือตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศในสหรัฐอเมริกา (American depositiry shares - ADR) ของ TSMC ลง 86% ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา
ตามข้อมูลล่าสุดที่ยื่นต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งสหรัฐฯ ซึ่งหากคำนวณตามราคาเฉลี่ยของหุ้นในช่วงเวลาดังกล่าวคาดว่ามูลค่าหุ้นที่ บัฟเฟตต์ เทขายคราวนี้น่าจะสูงถึง 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐำ
จากกระแสข่าวนี้ ส่งผลให้ราคาหุ้น TSMC ในตลาดหลักทรัพย์ไทเปดิ่งลงทันที 4% จากที่เคยพุ่งสูงเมื่อเดือน พฤศจิกายน ปี2565 ที่ผ่านมาในช่วงที่มีกระแสข่าวว่า บัฟเฟตต์ ได้เข้าซื้อหุ้นด้วยวงเงินสูงเกือบ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
โทนี หวง (Tony Huang) รองประธานบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุน Taishin Securities Investment Advisory Co. แสดงความเห็นว่า “เป็นเรื่องน่าประหลาดใจ ต่อการขายหุ้นทิ้งจำนวนมากขนาดนี้ของเบิร์กเชียร์ภายในระยะเวลาแค่ 3 เดือน ซึ่งแตกต่างไปจากแนวปฏิบัติในอดีตของพวกเขาที่มักจะลงทุนในระยะยาว และมีการซื้อหุ้นเพิ่มอย่างต่อเนื่อง”
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า เบิร์กเชียร์ แฮทธาเวย์ ได้เข้าซื้อหุ้นแอปเปิล (Apple) เพิ่มขึ้นอีกกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2022 ทำให้ขณะนี้สัดส่วนการถือครองหุ้นแอปเปิลของ เบิร์กเชียร์ฯ พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 895,136,175 หุ้น หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 137,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ต่อการตัดสินใจขายหุ้นแทบเกลี้ยงพอร์ตของเบิร์กเชียร์ฯ ในครั้งนี้ อาจมองได้หลายเหตุผลว่า ‘บัฟฟต์’ เจ้าของฉายานักลงทุนในตำนาน อาจกำลังส่งสัญญาณบางอย่างถึงนักลงทุนทั่วโลก็เป็นไปได้
ด้วยหากย้อนกลับไปในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อใช้ในการผลิตชิปเซ็ต ต่างได้รับผลกระทบทั่วโลกด้านซัพพลายเชนอย่างหนัก
จากสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ในจีน รวมถึงความต้องการสินค้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ซบเซาจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกและนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ
ขณะเดียวกับที่ TSMC ในช่วงปี 2022 ได้ปรับลดรายจ่ายด้านการลงทุนลงไม่ต่ำกว่า 10% โดยเหลืออยู่ที่ราว 36,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากที่ ‘โจ ไบเดน’ ประธานนาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาตรการกีดกันไม่ให้จีน เข้าถึงเทคโนโลยีสำคัญๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์
นอกจากนี้ยังรวมถึง สถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ยังกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร (profitability) ของบริษัทผู้ผลิตชิปอีกด้วย
ด้วยเวลานี้รัฐบาลหลายชาติ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ต่างชักชวนให้ TSMC เข้าไปตั้งฐานผลิตชิปในประเทศของตนเอง แต่นั่นก็อาจหมายถึงต้นทุนการผลิตที่จะสูงขึ้นตามมาอีก
โดยในเดือน ธันวาคม 2022 TSMC เพิ่งประกาศเพิ่มเงินลงทุนโรงงานผลิตชิปในเมืองแอริโซนา สหรัฐอเมริกามากกว่า 3 เท่า หรือราว 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ รองรับการผลิตชิป 4 นาโนเมตร และชิป 3 นาโนเมตร คาดกำลังการผลิตรวม 600,000 หน่วยต่อปี ซึ่งโรงงานจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเริ่มผลิตในปี 2025
จากช่วงรอยต่อระหว่างการรอกำลังการผลิตโรงงานใหม่ของ TSMC ดังกล่าว อาจเป็นสิ่งที่น่ากังวลว่ามีแต่ภาระที่ก่อให้เกิดรายจ่ายมากกว่ารายรับที่จะเข้ามา ซึ่งยังไม่นับรวมถึงต้นทุนด้านซัพพลายเชน ที่จะต้องลงทุนใหม่อีก
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยง หลังธุรกิจกลุ่มไฮเทคโนโลยีขนาดใหญ่ทั่วโลก ทยอยปรับลดพนักงานครั้งใหญ่สุดในช่วง 2-3 ปีนี้ คาดเป็นผลจากความต้องการสินค้าอุปโภค อุปกรณ์ในกลุ่มเทคโนโลยีต่างๆลดลง ทั้งจากภาวะเงินเฟ้อ คนตกงานจำนวนมาก
ขณะที่แนวโน้มจำนวนผู้ผลิตชิปเซ็ตที่ลดลง ก็จะกระทบต่อการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ตามมา
จากปัจจัยดังกล่าว อาจสะท้อนถึงแนวโน้มการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น Perfect Strom ของสหรัฐอเมริกา อีกครั้ง!!
เห็นได้จากรายงานตัวเลขคนว่างงานในสหรัฐทิ่ยังเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่กำลังซื้อภาคครัวเรือนก็ลดลง จากเงินเฟ้ออย่างหนัก
ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวอาจมีน้ำหนักมากพอ ที่จะทำให้หุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์เตรียมทิ้งดิ่งและปรับตัวลดลงในระยะยาว
และหากมองจากการเทขายหุ้นของ ‘บัฟเฟต์’ ในครั้งนี้ก็อาจมีความเป็นไปได้ว่า อุตฯเซมิคอนดักเตอร์เริ่มมีทรงแปลกๆ และทำให้มหาเศรษฐีนักลงทุนภายใต้เบิร์กเชียร์ฯ รายนี้ ตัดสินใจเทขายหุ้นกลุ่มชิปเซ็ตจนเกือบเกลี้ยงพอร์ต
ด้วยกำลังจะส่งสัญญาณถึงภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มถดถอย ตามหลังธุรกิจเทคโนโลยีรายใหญ่ต่างเริ่มทยอยลดการจ้างงานพนักงานครั้งใหญ่อย่างต่อเนื่อง นับแต่ปลายปีถึงในขณะนี้