สื่อนอกส่องเลือกตั้งไทย พรรคการเมืองหาเสียงแจกเงิน ไม่ช่วยคนไทยพึ่งตัวเอง

สื่อนอกส่องเลือกตั้งไทย พรรคการเมืองหาเสียงแจกเงิน ไม่ช่วยคนไทยพึ่งตัวเอง
สื่อนอกมองพรรคการเมืองหาเสียงชูประชานิยมแจกไม่ยั้ง เสี่ยงหนี้สาธารณะพุ่ง เชื่อรัฐบาลใหม่อาจทำไม่ได้จริงตามที่หาเสียง

เข้าโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งทั่วไปของไทย ที่กำลังจะมีขึ้นในวันนี้ 14 พฤษภาคม 2566 นี้นอกจากสื่อต่างประเทศจะจับตามองว่าพรรคการเมืองใดจะโกยคะแนน และเป็นแกนนำเหนือคู่แข่งในการจัดตั้งรัฐบาล ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนขั้วการเมืองหรือไม่ แต่เหนือสิ่งอื่นใดสิ่งที่สื่อต่างประเทศจับตาคือ นโยบายประชานิยมที่บรรดาพรรคการเมืองทุกขั้วหาเสียงด้วยการแจกเงินอุดหนุนประชาชนในหลายรูปแบบ

สำนักข่าว CNBC สัมภาษณ์นักเศรษฐศาสตร์โดยส่วนใหญ่มีมุมมองต่อ คำสัญญาประชานิยมของหลายพรรคที่แจกเงินว่าอาจเป็นกับดักที่ทำให้ดุลการคลังของประเทศต้องหยุดชะงัก CNBC ระบุว่า แม้ไทยจะเป็นชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังฟื้นตัวจากการระบาของโควิด-19 เห็นได้จากภาคการท่องเที่ยวและการว่างงานที่ต่ำกว่า 1% แต่ประเทศก็เผชิญกับปัญหามากมาย ค่าพลังงานและไฟฟ้าอยู่ในระดับสูง จำนวนนายจ้างยังต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาด ระดับหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ และการเติบโตของรายได้ต่อหัวต่อปีก็ลดลงตั้งแต่ปี 2561

นั่นเป็นสาเหตุที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่มุ่งหาเสียงด้วยการแจกเงินผ่านนโยบายประชานิยมในหลากหลายรูปแบบ คำมั่นสัญญาเหล่านี้นักเศรษฐศาสตร์เกรงว่า จะทำให้ดุลการคลังของประเทศตกต่ำ หัวหน้านักวิเคราะห์จาก Economist Intelligence Unit กล่าวกับ CNBC ว่า พรรคการเมืองต่าง ๆ สัญญาว่าจะแจกนโยบายอุดหนุนเงินในหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น พรรครวมไทยสร้างชาติยต้องการเพิ่มเงินอุดหนุนเบี้ยยังชีพผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้สูงอายุอย่างน้อย 1,000 บาท ขณะที่พรรคเพื่อไทยมีแผนแจกเงินอิเล็กทรอนิกส์ 10,000 บาท พร้อม ตั้งเป้าเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท ต่อวัน (จากระดับสูงสุดในปัจจุบันที่ 354 บาท) เพิ่มรายได้ของเกษตรกรสามเท่าภายในปี 2570 และพรรคภูมิใจไทย เสนอพักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี แผงโซลาร์เซลล์ฟรี และประกันชีวิตฟรีสำหรับผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดที่ชัดเจนถึงการใช้จ่ายในนโยบายดังกล่าว

นักเศรษฐศาสตร์กังวลที่กล่าวว่านโยบายเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อหนีสาธารณะที่ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการใช้นโยบายอุ้มการคลังช่วงที่โควิดระบาด ส่งผลให้หนี้สาธารณะไทยอยู่ในระดับเกิน 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น ในปี 2566 

สอดคล้องกับ New Delhi Think Tank Observer Research Foundation สถาบันคลังสมองในอินเดีย มองว่านโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองไทย “เป็นรูปแบบการช่วยเหลือชั่วคราวแก่ประชาชนที่เป็นหนี้ โดยไม่จูงใจให้พวกเขาพึ่งพาตนเอง” ความคิดเห็นดังกล่าวอ้างถึงหนี้ครัวเรือนซึ่งอยู่ที่ 86.8% ของ GDP ณ สิ้นปี 2565 เช่นเดียวกับธนาคาร DBS ของสิงคโปร์ที่คาดการณ์ว่าเป็นการ "ยาก" สำหรับสำหรับรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งใหม่ที่จะปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้ตอนหาเสียง 

นอกจากนี้ ปัจจัยการจับขั้วตั้งรัฐบาลก็อาจเป็นแนวโนน้มที่ทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองตามมา จนส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุน

TAGS: #เลือกตั้ง2566 #พรรคการเมือง #ประชานิยม #เศรษฐกิจ #หาเสียง #ปากท้อง