ข่าวเบื้องหลังสถานการณ์
ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 27 มกราคม โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อสั่งให้กองทัพสหรัฐอเมริกาสร้างระบบป้องกันขีปนาวุธ แนวคิดนี้ได้รับการเปรียบเทียบกับระบบป้องกันโดมเหล็ก หรือ Iron Dome ในอิสราเอล รวมถึงโครงการป้องกันเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Defense Initiative) ซึ่งเสนอโดยโรนัลด์ เรแกนในปี 1983
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2025 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกาได้ประกาศแผนระบบป้องกันขีปนาวุธจากอวกาศแบบใหม่ที่เรียกว่า "Golden Dome" ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันสหรัฐอเมริกาจากภัยคุกคามจากขีปนาวุธพิสัยไกลและความเร็วเหนือเสียง
วิธีการทำงานของ Golden Dome
Golden Dome เป็นระบบป้องกันหลายชั้นที่เสนอโดยสหรัฐอเมริกา มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้าน "ภัยคุกคามจากขีปนาวุธพิสัยไกล ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง และขีปนาวุธร่อน" ที่โจมตีแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ ยังประกอบด้วยดินแดนหมู่เกาะและดินแดนรอบนอก เช่น อะแลสกา)
จากการรายงานของ CNN ระบุว่า "แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนว่าโดมทองคำที่เรียกกันว่า Golden Dome จะมีลักษณะอย่างไร แต่มีความแตกต่างอย่างมากในขอบเขตและขนาดของโล่ป้องกันของอิสราเอล Iron Dome ปกป้องพื้นที่ที่มีประชากรจากภัยคุกคามระยะสั้นในประเทศที่มีขนาดเท่ากับนิวเจอร์ซี ทรัมป์ต้องการระบบป้องกันขีปนาวุธจากอวกาศที่สามารถป้องกันประเทศที่มีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 450 เท่าจากขีปนาวุธพิสัยไกลและความเร็วเหนือเสียงขั้นสูง"
CNN ระบุวิธีการทำงานของ Iron Dome ของอิสราเอล เอาไว้ดังนี้
1. ตรวจจับ - เรดาร์จะระบุจรวดที่กำลังเข้ามาภายในระยะ 2.5 ถึง 43 ไมล์ หรือ 4 ถึง 70 กิโลเมตรจากแบตเตอรี่ และส่งข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางของจรวดไปยังศูนย์ควบคุมและสั่งการ
2. ทำนาย - ศูนย์ควบคุมจะคำนวณตำแหน่งที่กระทบและทำนายว่าจรวดจะโจมตีพื้นที่ที่มีผู้อยู่อาศัยหรือไม่
3. ประเมิน - ระบบจะกำหนดเป้าหมายจรวดที่เป็นภัยคุกคามต่อพื้นที่ในเมืองและโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุดเมื่อต้องรับมือกับภัยคุกคามหลายกรณีพร้อมกัน โดยไม่สนใจจรวดที่อาจโจมตีพื้นที่ที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่หรือทะเล
4. สกัดกั้น - ระบบควบคุมจะเชื่อมต่อกับเครื่องยิงที่ยิงขีปนาวุธเพื่อทำลายจรวดหากการสกัดกั้นได้รับการพิจารณาว่าสมเหตุสมผล
เชื่อกันว่าระบบ Golden Dome จะถูกควบคุมโดย AI และระบบดังกล่าวจะสร้างขึ้นโดยใช้ส่วนประกอบต่างๆ จากระบบที่มีอยู่เดิม โดยมีข้อมูลจาก Lockheed Martin ดังนี้
- ระบบ C2BMC ระบบป้องกันขีปนาวุธแบบหลายชั้นที่ได้รับการพิสูจน์ในการใช้งานจริงนี้ ช่วยให้ผู้บัญชาการสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับภัยคุกคามได้อย่างสอดประสานกันในทุกระยะ ทุกขั้นตอนการบิน จากทุกสถานที่ในโลก
- ระบบ NGI เป็นระบบป้องกันแนวหน้าแบบป้องกันจากปลายจรดหางในระบบป้องกันขีปนาวุธภาคพื้นดินระยะกลาง (GMD) ของหน่วยงานป้องกันขีปนาวุธ
- ระบบ PAC-3 MSE เป็นผู้นำระดับโลกในด้านเทคโนโลยีการป้องกันระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศ โดยมีความสามารถที่ไม่มีใครเทียบได้ในสภาพแวดล้อมหลายโดเมน
- ระบบ SBIRS ทำหน้าที่เป็นระบบเตือนขีปนาวุธที่สำคัญ โดยใช้การเฝ้าระวังอินฟราเรดเพื่อตรวจจับขีปนาวุธในระยะเริ่มต้น
- ระบบ LRDR หรือ โครงการเรดาร์แยกแยะระยะไกล ถือเป็นกระดูกสันหลังของกลยุทธ์การป้องกันหลายชั้นของสำนักงานป้องกันขีปนาวุธเพื่อปกป้องประเทศสหรัฐอเมริกาจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธ
- ระบบ Sentinel A4 คือเรดาร์ตรวจการณ์ประสิทธิภาพสูงที่มาแทนที่ Sentinel A3 เดิม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันขีปนาวุธร่อน UAV และภัยคุกคามทางอากาศ
- ระบบ Aegis เป็นระบบการรบผิวน้ำที่ทันสมัยที่สุดของกองทัพเรือ ใช้เรดาร์ SPY-1 ในการตรวจจับภัยคุกคามในทะเล
- ระบบ THAAD เป็นระบบป้องกันขีปนาวุธชั้นนำที่ป้องกันภัยคุกคามจากขีปนาวุธได้อย่างมีประสิทธิภาพที่ไม่มีใครเทียบได้
- ระบบ F-35 เป็นโนด (node) ที่ก้าวหน้าที่สุดในสถาปัตยกรรมเครือข่ายศูนย์กลางความปลอดภัยในศตวรรษที่ 21 ที่มีความสามารถในการเชื่อมต่อแพลตฟอร์มเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างปลอดภัยเพื่อแบ่งปันข้อมูลข้ามทุกโดเมน
การเตรียมการ Golden Dome
ข้อมูลจากบริษัท Lockheed Martin ระบุว่า "นี่คือภารกิจในระดับโครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project โครงการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรก) ซึ่งมีความเร่งด่วนและมีความสำคัญต่อความมั่นคงของอเมริกา" โดยจะมีการ "สร้างเครือข่ายซอฟต์แวร์ป้องกันขีปนาวุธที่ทรงพลังที่สุดในโลกสำเร็จ ซึ่งเชื่อมต่อกองกำลังต่างๆ ทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน"
ทรัมป์ระบุว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จภายในสามปีและมีค่าใช้จ่ายประมาณ 175,000 ล้านดอลลาร์ แต่สำนักงานงบประมาณรัฐสภาประมาณการว่าโครงการนี้อาจมีค่าใช้จ่ายระหว่าง 161,000 ล้านดอลลาร์ถึง 542,000 ล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 20 ปี ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญได้แสดงความสงสัยเกี่ยวกับระยะเวลา ความเป็นไปได้ และต้นทุน รายละเอียดทางเทคนิคเฉพาะและแผนการใช้งานยังไม่ได้รับการเปิดเผย
เบื้องต้น พลเอก ไมเคิล เอ. เกทเลนแห่งกองทัพอวกาศสหรัฐได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำโครงการนี้ และมีรายงานว่าบริษัทรับเหมาด้านการป้องกันประเทศ รวมถึง SpaceX และ Lockheed Martin กำลังแข่งขันกันเพื่อมีส่วนร่วมในโครงการนี้
บทวิเคราะห์ความเป็นไปได้
บริษัท Lockheed Martin ชี้ว่า "ภารกิจนี้มีความสำคัญเกินกว่าจะปล่อยให้เป็นเรื่องของโอกาส (หรือรีรอที่จะทำ) การป้องกันขีปนาวุธต้องการมากกว่าแค่ความเชี่ยวชาญด้าน AI หรือซอฟต์แวร์ มันคือการเชื่อมต่อระบบที่ซับซ้อนทั่วโลกที่ต้องทำงานด้วยความเร็วแสงและความแม่นยำสูงสุดในช่วงเวลาสำคัญของภารกิจ"
อย่างไรก็ตาม แมเรียน เมสเมอร์ (Marion Messmer) นักวิจัยอาวุโสจากสถาบัน Chatham House ในลอนดอน กล่าวว่าความท้าทายของ Golden Dome นั้นยิ่งใหญ่กว่าที่ Iron Dome ของอิสราเอลต้องเผชิญมาก เนื่องจากมีพื้นที่ที่ต้องครอบคลุมมากกว่ามาก และมีขีปนาวุธหลายประเภทที่ต้องเอาชนะ
ด้าน ศศังก์ โชศิ (Shashank Joshi) บรรณาธิการฝ่ายกลาโหมของนิตยสาร Economist กล่าวว่า แม้ว่ากองทัพสหรัฐฯ จะให้ความสำคัญกับแผนนี้มาก แต่การคิดว่าระบบจะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งนั้นไม่สมจริง และต้นทุนของมันจะกินงบประมาณด้านกลาโหมไปมาก
โดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better
Pbhoto - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ รับฟังการประกาศเกี่ยวกับระบบป้องกันขีปนาวุธ Golden Dome ณ ห้องโอวัลออฟฟิศของทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2025 ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (ภาพโดย Jim WATSON / AFP)