เมื่อข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลและฮามาสมีผลบังคับใช้ ส่วนหนึ่งของความสนใจจะเปลี่ยนไปที่ภารกิจอันยิ่งใหญ่ในการสร้างฉนวนกาซาที่พังพินาศขึ้นใหม่และใครที่จะมาปกครองฉนวนกาซาที่ถูกสงครามทำลายล้าง
อิสราเอลให้คำมั่นว่าจะบดขยี้ฮามาสเพื่อตอบโต้การโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ซึ่งเป็นการโจมตีที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์อิสราเอล
ในขณะที่กลุ่มฮามาส ซึ่งมีฐานะที่มั่นในกาซาต้องเผชิญกับการโจมตีที่เลวร้ายที่สุดในกาซาเท่าที่เคยพบมา ทำให้ฮามาสอ่อนแอลงอย่างมากแต่ยังไม่พ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง
และเพราะกลัวว่าการโจมตีในวันที่ 7 ตุลาคมจะเกิดซ้ำรอย อิสราเอลจึงต้องการการรับประกันความปลอดภัย นี่คือสิ่งที่จะตามมาหลังการหยุดยิง
มีความท้าทายอะไรบ้าง?
สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซาเลวร้ายมาก ซึ่งก่อนหน้าสงครามดินแดนแห่งนี้ก็ถูกอิสราเอลปิดล้อมอยู่แล้ว และยังมีภาวะยากจนและว่างงานชุกชุม
สหประชาชาติประเมินว่าการฟื้นฟูพื้นที่ซึ่งโครงสร้างมากกว่าครึ่งหนึ่งถูกทำลายจะใช้เวลานานถึง 15 ปี และมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 50,000 ล้านดอลลาร์
โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ รวมถึงเครือข่ายจ่ายน้ำ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ในขณะที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ชาวฉนวนกาซาส่วนใหญ่ใช้หลบภัยในช่วงสงครามยังคงประสบปัญหาความอดอยาก
สหประชาชาติระบุว่าประชากรเกือบ 2.4 ล้านคนในพื้นที่ต้องอพยพอย่างน้อยหนึ่งครั้งเนื่องจากการโจมตีด้วยระเบิดและการสู้รบ
เด็กๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้ไปโรงเรียนมานานกว่าหนึ่งปีแล้ว และมีโรงพยาบาลเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ยังเปิดดำเนินการได้บางส่วน
“การเพิกเฉยต่อผลทางการเมืองนั้นดูไม่สมจริงนัก เนื่องจากการทำลายล้างด้วยมนุษย์และสิ่งของทำให้ฉนวนกาซาไม่อาจอยู่อาศัยได้” ซาเวียร์ กีญาร์ด นักวิจัยด้านปัญหาปาเลสไตน์จากสถาบัน Noria Research ซึ่งตั้งอยู่ในฝรั่งเศสกล่าว
แม้ว่าฮามาสจะปกครองฉนวนกาซามาตั้งแต่ปี 2006 แต่ก็ปกครองเพียงส่วนเดีขงปาเลสไตน์ เพราะคู่แข่งของฮามาสอย่าง "ฝ่ายปกครองปาเลสไตน์" (PA) ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มฟาตาห์ เป็นผู้ปกครองปกครองเวสต์แบงก์
“ฝ่ายปกครองปาเลสไตน์ขาดแคลนทรัพยากรและต้องพึ่งพาผู้บริจาคจากภายนอก” กีญาร์ดกล่าว
“แผนการฟื้นฟูมักขึ้นอยู่กับบรรดาสถาบันกษัตริย์ในอ่าวเปอร์เซีย โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย ที่เข้ามาช่วยเหลือทางการเงิน แต่ประเทศเหล่านี้ยืนกรานมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ายุคแห่งการระดมทุนโดยไม่มีเงื่อนไขได้สิ้นสุดลงแล้ว” เขากล่าวเสริม
“ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มันก็จะเป็นปัญหาสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้อง” นักการทูตคนหนึ่งกล่าวโดยขอไม่เปิดเผยชื่อ
ฮามาสต้องการอะไร?
ฮามาสซึ่งชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติของปาเลสไตน์ครั้งล่าสุดในปี 2006 ระบุก่อนหน้านี้ในสงครามว่าไม่ได้พยายามปกครองฉนวนกาซาหลังสงคราม
“เราไม่เต็มใจที่จะกลับมาปกครองฉนวนกาซา” บาสเซม นาอิม เจ้าหน้าที่ระดับสูงของฮามาสกล่าวในการให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อปีที่แล้ว
แหล่งข่าวฮามาสบอกกับสำนักข่าว AFP ว่า พวกเขาพร้อมที่จะมอบกิจการพลเรือนของกาซาให้กับองค์กรปาเลสไตน์
"ในปี 2014 หลังจากสงครามครั้งก่อน ฮามาสไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงในกระบวนการฟื้นฟู และแสดงความยืดหยุ่นด้วยการยอมรับคณะกรรมการภายนอก" ยัสเซอร์ อาบู ไฮน์ นักวิเคราะห์การเมืองปาเลสไตน์กล่าว
ผู้นำปาเลสไตน์จากทุกฝ่ายต่างกล่าวมาช้านานว่าอนาคตของกาซาขึ้นอยู่กับพวกเขาที่จะตัดสินใจ โดยปฏิเสธการแทรกแซงจากภายนอก
นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอล ปฏิเสธไม่ให้ฮามาสมีบทบาทใดๆ ในการปกครองกาซาหลังสงคราม
ในระหว่างการหารือในกรุงไคโร ตัวแทนของฮามาสและฟาตาห์เห็นพ้องกันว่ากาซาสามารถปกครองโดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วยบุคคลภายนอกที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดภายใต้รัฐบาลปาเลสไตน์
เมื่อวันอังคาร แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่ารัฐบาลปาเลสไตน์ "ควรเชิญพันธมิตรระหว่างประเทศมาช่วยจัดตั้งและบริหารรัฐบาลชั่วคราว" ในกาซา
รัฐบาลปาเลสไตน์ยังคงดำรงอยู่ในกาซา โดยส่วนใหญ่อยู่ในมือพนักงานเทศบาล
การเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกำลังดำเนินอยู่เกี่ยวกับการเปิดด่านราฟาห์อีกครั้ง ซึ่งเชื่อมระหว่างกาซากับอียิปต์
หากปาเลสไตน์ได้รับบทบาทในการบริหารจัดการราฟาห์ นั่นอาจทำให้ปาเลสไตน์กลับมาตั้งหลักในกาซาได้อีกครั้ง
อิสราเอลต้องการอะไร?
ตั้งแต่วันอาทิตย์นี้เป็นต้นไป ผู้ไกล่เกลี่ยการหยุดยิงจากสหรัฐอเมริกา กาตาร์ และอียิปต์ จะติดตามการหยุดยิงผ่านหน่วยงานในกรุงไคโร นายกรัฐมนตรีกาตาร์กล่าว
อิสราเอลเคยยึดครองกาซาตั้งแต่ปี 1967 จนถึงปี 2005 จากนั้นจึงถอนทัพฝ่ายเดียวและอพยพผู้ตั้งถิ่นฐานออกไป
ปัจจุบัน อิสราเอลไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปกครองหลังสงคราม นอกจากการปฏิเสธบทบาทใดๆ ของกลุ่มฮามาส
โยอัฟ กัลลันต์ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล ซึ่งลาออกเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน กล่าวว่าอิสราเอลไม่ต้องการบริหารกาซาหลังสงคราม
อิสราเอล แคทซ์ ผู้สืบทอดตำแหน่ง เรียกร้องให้กองทัพอิสราเอล "มีอิสระในการดำเนินการอย่างสมบูรณ์" ในดินแดนดังกล่าว
นักการเมืองฝ่ายขวาจัดบางคน รวมทั้งสมาชิกรัฐบาล เรียกร้องให้ส่งผู้ตั้งถิ่นฐานกลับประเทศ
สื่ออิสราเอลบางสำนักเสนอความเป็นไปได้ที่กองกำลังนานาชาติจะเข้ามาช่วยบริหารฉนวนกาซา
Agence France-Presse
Photo - ครอบครัวและญาติพี่น้องไว้อาลัยให้กับร่างของ อาฮ์เม็ด อัล ชายะฮ์ นักข่าวชาวปาเลสไตน์ ซึ่งสวมเสื้อกั๊กสำหรับนักข่าว เสียชีวิตระหว่างการโจมตีของอิสราเอลเมื่อคืนก่อน ณ โรงพยาบาลนัสเซอร์ ในฉนวนกาซาตอนใต้ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2025 ท่ามกลางสงครามที่ยังคงดำเนินต่อไปในดินแดนปาเลสไตน์ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส (ภาพโดย BASHAR TALEB / AFP)