ระบบ Nepo baby ในทางการเมืองที่ชัดเจนคือภาพนี้ ชวาหะร์ลาล เนห์รู และประธานมนตรีคนแรกของอินเดีย กับลูกสาวและหลานชายที่เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา
เมื่อไม่กี่ปีก่อน สื่อตะวันตกเปิดเผยเบื้องหลังของนักแสดง คนดังสาขาต่างๆ ไปจนถึงนักการเทืองคนรุ่นใหม่ พบว่าหลายคนมีพ่อและแม่เป็นคนที่มีอิทธิพลในวงการต่างๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าลูกของคนเหล่านี้จะดังหรือมีอำนาจขึ้นมาได้ด้วยตัวเองหรือไม่ก็ตาม แต่คนเหล่านี้ถูกเรียกว่า Nepo baby หรือลูกของระบอบญาติอุปถัมภ์ (Nepotism) ซึ่งหมายความว่า คนเหล่านี้มีวันนี้ขึ้นมาได้เพราะระบบอุปถัมภถ์
คำว่า Nepo baby เป็นการเล่นคำระหว่างคำว่า baby (ลูก หรือ เด็ก) กับคำว่า Nepotism ซึ่งมีความหมายว่า การให้สิทธิพิเศษหรือตำแหน่งแก่ญาติหรือมิตรสหายในอาชีพหรือสาขาอาชีพใดสาขาหนึ่ง ซึ่งคล้ายกับการเล่นพรรคเล่นพวก หรือ Cronyism เพียงแต่คำว่า Nepotism เน้นการให้อภิสิทธิ์แก่คนในตระกูลหรือเครือญาติกัน เดิมทีคำๆ นี้ มีที่มาจากการที่พระสันตปาปาและบิชอปแห่งคริสตจักรนิกายโรมันคาธอลิก ผูกขาดให้หลานชาย บุตรชาย หรือญาติคนอื่นๆ ให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ
อำนาจถ่ายสู่สายเลือดเดียวกัน
คำว่า Nepotism มาจากภาษาอิตาเลียนว่า nepotismo ซึ่งแกนหลักของคำนี้คือคำว่า nipote ที่แปลว่า "หลานชาย" (nephew) มันมีที่มาจากการที่ที่พระสันตปาปาและบิชอปแห่งคริสตจักรนิกายโรมันคาธอลิก ผูกขาดให้หลานชายเป็นบิชอป เป็นพระคาร์นิดัล หรือตำแหน่งสำคัญในศาสนจักรแห่งโรม เรียกว่าระบบ Cardinal-nephew
นับตั้งแต่ยุคกลางจนถึงปลายศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา พระสันตปาปาและบิชอปคาทอลิกบางองค์ เนื่องจากถือเพศพรหมจรรย์จึงไม่มีบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายของตนเอง และมักจะมอบตำแหน่งที่สูงในศาสนจักรให้แก่หลานชายของตน เช่นเดียวกับที่บิดามักจะมอบให้แก่บุตรชาย
พระสันตปาปาหลายพระองค์ได้แต่งตั้งหลานชายและญาติคนอื่นๆ ให้เป็นพระคาร์ดินัล การแต่งตั้งดังกล่าวมักเป็นวิธีการสืบสาน "ราชวงศ์" ของพระสันตปาปา ตัวอย่างเช่น พระสันตปาปาคัลลิกซ์ตัสที่ 3 ประมุขแห่งราชวงศ์บอร์เจียได้แต่งตั้งหลานชายสองคนของพระองค์ให้เป็นพระคาร์ดินัล คนหนึ่งคือโรดริโก ซึ่งต่อมาได้ใช้ตำแหน่งพระคาร์ดินัลเป็นบันไดสู่ตำแหน่งพระสันตปาปาและได้เป็นพระสันตปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6
จากนั้น พระสันตปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ได้แต่งตั้งให้อเลสซานโดร ฟาร์เนเซ น้องชายของพระสนมลับของพระองค์เป็นพระคาร์ดินัล และฟาร์เนเซก็ได้เป็นพระสันตปาปาปอลที่ 3 ในเวลาต่อมา ทำให้ระบบ Nepotism ไม่ใช่เพียงแต่สืบทอดจากหลานชายเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงคนในวงศ์วานว่านเครือเดียวกันด้วย แม้จะไม่สืบสายเลือดโดยตรง และเป็นญาติห่างๆ ก็ตาม
Nepo baby คือเวอร์ชั่นล่าสุด
ในปัจจุบัน ระบบ Nepotism ในการสืบทอดอำนาจแบบโบราณไม่มีอีกต่อไปแล้ว แต่ Nepotism ยังสืบทอดอิทธิพลและ "ต้นทุนทางสังคม" (Social capital) รูปแบบอื่นๆ ในหลากหลายสาขา ทั้งด้านบงการบันเทิง ไปจนถึงวงการการเมืองสมัยใหม่ โดยเรียกระบบนี้ว่า Nepo baby ซึ่งเริ่มต้นใช้กันครั้งแรกในช่วงปี 2020
คำว่า Nepo baby ได้รับความนิยมในปี 2022 บน Twitter เมื่อผู้ใช้รายหนึ่งทวีตเกี่ยวกับความเป็นเครือญาติของนักแสดงรายหนึ่งกับผู้กำกับรายหนึ่ง จากนั้นคำนี้ก็เริ่มถูกใช้เพื่อขุดคุ้ยและโยงว่านักแสดงและพ่อแม่ของพวกเขามีส่วนส่งเสริมความสำเร็จของลูกๆ อย่างไร ในฐานะการสร้างระบบ "เส้นสาย" หรือระบบ Nepo baby หลังจากนั้น สื่อต่างๆ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ก็กันมาวิเคราะห์เรื่องนี้กันจริงๆ จังๆ
ตัวอย่างเช่น Vox สื่อด้าน Informative journalism ที่มีชื่อสียง มีบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยอ้างศาสตราจารย์ชาย ดาวิดาย (Shai Davidai) จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มองว่าการที่สังคมวิวาทะกันเรื่อง Nepo baby มีรากฐานมาจากการที่ระบบนี้ทำลายศรัทธาเรื่องความเท่าเทียมกันของชาวอเมริกัน แม้แต่ในฮอลลีวูด ซึ่งน่าจะเป็นวงการที่ส่งเสริม "ความฝันอเมริกัน" (American Dream) นั่นคือการสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยลำแข้งตัวเอง ไม่ใช่เพราะอิทธิพลพ่อแม่ ศาสตราจารย์ดาวิดาย อธิบายว่าแนวคิดเรื่องเด็กเส้น Nepo baby ซึ่งใช้ความมั่งคั่งและเส้นสายของครอบครัวเพื่อประสบความสำเร็จนั้น "ทำให้เราหมดหวังกับเรื่อง'ความฝันแบบอเมริกัน' ที่ทำให้รู้สึกดี"
เด็กเส้นลูกพ่อทางการเมือง
นอกจาก Nepo baby ที่เน้นการเล่นเส้นในวงการบันเทิงแล้ว ยังมีคำว่า Political Nepo Babies ที่หมายถึงการใช้เส้นสายของพ่อแม่เพื่อที่ลูกจะได้เป็นใหญ่ทางการเมือง และดูเหมือนว่ระบบนี้จะเกิดขึ้นทั่วโลกเสียด้วย
มหาวิทยาลัยซิดนีย์ในออสเตรเลียมีบทความเรื่อง 'Political nepo babies': The global rise and consequences (ลูกเล่นเส้นพ่อแม่ทางการเมือง การผงาดขึ้นทั่วโลกและผลกระทบที่ตามมา) เมื่อวันที่ 4 สิงหหาคม 2024 โดยชี้ให้เห็นว่ามีการศึกษาที่ระบุถึงอันตรายของ "ประชาธิปไตยที่สืบทอดทางพันธุกรรม" (hereditary democracy) นั่นคือการสืบทอดอำนาจตามระบบประชาธิปไตย แต่อำนาจนั้นไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มีช่องให้สืบทอดกันผ่านระบบสายเลือด
ณ เดือนมิถุนายน 2024 มีประเทศประชาธิปไตย 11 ประเทศทั่วโลกมีหัวหน้ารัฐบาลซึ่งบิดาหรือสามีเป็นหัวหน้ารัฐบาลก่อนหน้า ได้แก่ แคนาดา เอสโตเนีย กรีซ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส มอริเชียส นาอูรู ฟิลิปปินส์ ซามัว เซาตูเมและปรินซิปี และอุรุกวัย (ล่าสุด คือไทย)
จากการศึกษาโดย ดร. เจมส์ ล็อกซ์ตัน (Dr James Loxton) จากคณะสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ชี้ว่าประชาธิปไตยแบบถ่ายทอดทางพันธุกรรม (หรือสืบทอดทางเครือญาติ) นั้นบ่อนทำลายหลักการพื้นฐานของความยุติธรรม ดร. ล็อกซ์ตันกล่าวว่าไม่ควรยอมรับประชาธิปไตยแบบถ่ายทอดทางพันธุกรรมเป็นบรรทัดฐาน และเรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบาย พรรคการเมือง และประชาชนตระหนักถึงข้อบกพร่องโดยธรรมชาติของประชาธิปไตยแบบถ่ายทอดทางเครือญาติ
ระบบลูกรักทางการเมืองคือความพินาศ
จากการศึกษาโดย ดร. เจมส์ ล็อกซ์ตัน ชี้ว่า การจำกัดตำแหน่งทางการเมืองให้เฉพาะผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางครอบครัวในแวดวงการเมืองเท่านั้น ประชาธิปไตยแบบสืบเชื้อสายทำให้ผู้นำที่ไร้ความสามารถมีแนวโน้มที่จะก้าวขึ้นสู่อำนาจมากขึ้น
เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกญาติของนักการเมืองที่มีชื่อเสียง พวกเขามักจะสรุปเอาว่าผู้สืบทอดอำนาจจะมีรูปแบบการเป็นผู้นำหรือตำแหน่งนโยบายที่คล้ายคลึงกัน อย่างไรก็ตาม ทายาทที่ได้รับการเลือกตั้งอาจมีความแตกต่างอย่างมากจากผู้ดำรงตำแหน่งก่อนหน้า ส่งผลให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผิดหวังและมีตัวแทนที่ไม่ดี
"เป็นเรื่องน่าสนใจที่ในระบอบประชาธิปไตยหลายแห่ง ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงจะเลือกผู้นำตามหลักการที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสูงสุด นั่นคือ ความสัมพันธ์ทางครอบครัวกับอดีตผู้นำ" ดร. เจมส์ ล็อกซ์ตัน กล่าว "เมื่อได้รับตัวเลือกให้ลงคะแนนให้ใครก็ได้ที่พวกเขาต้องการ พวกเขาจะลงคะแนนให้กับบุตร ธิดา คู่สมรส หรือญาติสนิทของผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่แล้ว"
แม้ว่าเราจะมักคิดว่าการเมืองแบบสืบเชื้อสายนั้นจำกัดอยู่แค่การปกครองแบบราชาธิปไตยหรือเผด็จการ แต่ในระบอบประชาธิปไตยก็พบเห็นได้ทั่วไปเช่นกัน ดังที่ดร. ล็อกซ์ตันกล่าวไว้ว่า “ตระกูลทรูโด (ผู้นำแคนาดา) ในโลกมีจำนวนมากกว่าตระกูลอัสซาด (เผด็จการของซีเรีย) โดยไม่นับกษัตริย์ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว ปัจจุบันมีหัวหน้ารัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยมากกว่า ซึ่งบิดาของพวกเขาเคยเป็นหัวหน้ารัฐบาลมาก่อน ซึ่งก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน”
การสืบทอดอำนาจตามระบอบประชาธิปไตยที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดคือจากพ่อสู่ลูก เช่น จัสติน ทรูโดในแคนาดา จอร์จ ดับเบิลยู บุชในสหรัฐ และราชวงศ์เนห์รู-คานธีหลายชั่วอายุคนในอินเดีย การโอนย้ายอำนาจผ่านคู่สมรสก็เป็นเรื่องปกติเช่นกัน ซิโอมารา คาสโตร เด เซลายา ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของฮอนดูรัสเป็นภริยาของอดีตประธานาธิบดี ในประเทศไทย การโอนอำนาจจะโอนจากพี่ชายสู่น้องสาว เป็นต้น
อนึ่ง การศึกษานี้ทำขึ้นมาก่อนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไทยในเดือนสิงหาคม 2024 ซึ่งล่าสุด ประเทศไทย ไม่ได้มีแค่การโอนอำนาจจะโอนจากพี่ชาย (ทักษิณ)สู่น้องสาว (ยิ่งลักษณ์) แต่ยังเป็นการโอนจากเครืออำนาจพ่อ (ทักษิณ) ไปยังลูกสาว (แพทองธาร) อีกด้วย
รายงานพิเศษโดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better
Photo - ระบบ Nepo baby ในทางการเมืองที่ชัดเจนคือภาพนี้ ชวาหะร์ลาล เนห์รู และประธานมนตรีคนแรกของอินเดีย กับลูกสาวและหลานชายที่เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา นั่นคือ อินทิรา เนห์รู หรือ อินทิรา คานธี มีหลานชายชื่อ ราชีพ คานธี บุคคลทั้งสามล้วนเป็นประธานมนตรีของอินเดีย ส่วนคนเล็กคือ สัญชัย คานธี น้องชายของนายราชีพ คานธี ซึ่งมีอนาคตทางการเมืองมากกว่าพี่ชาย แต่เสียชีวิตจากเหตุเครื่องบินตกเสียก่อน