ออริจินัล 'ชามตราไก่' ไม่ใช่ของไทยแท้ แต่ต้นกำเนิดของมันมาจากจีน

ออริจินัล 'ชามตราไก่' ไม่ใช่ของไทยแท้ แต่ต้นกำเนิดของมันมาจากจีน

'ชามตราไก่' ถึงแม้ว่าจะผลิตกันในหลายพื้นที่ของไทย เช่น ที่ลำปาง จนถือกันว่าเป็นของดีของลำปาง แต่ต้นกำเนิดที่แท้จริงของชามตราไก่ มาจากประเทศจีน โดยเรียกกันว่า  จีกงหว่าน (雞公碗) หรือ "ชามไก่ (ตัวผู้)" คนจีนฮากกาหรือจีนแคะ เรียกว่า "จีกงปัว" (雞公缽 ออกเสียงแบบจีนกลาง) ส่วนคนฮกเกี้ยนเรียกว่า "จีเจี่ยวหว่าน" (雞角碗)

ชามตราไก่ไม่ได้แพร่หลายเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่ยังนิยมใช้กันในมาเลเซีย และสิงคโปร์ ไปจนถึงประเทศที่มีชุมชนคนจีนโพ้นทะเล และแน่นอนว่ามันได้รับความนิยมนจีนเช่นกัน 

ชามตราไก่ใบแรกปรากฏขึ้นในรัชกาลเฉิงฮว่า (成化帝) แห่งราชวงศ์หมิง (ระหว่าง ค.ศ. 1465-ค.ศ. 1487) ในเวลานั้น ชามไก่ถือเป็นสมบัติล้ำค่าที่ราชวงศ์หมิงโปรดปราน อย่างไรก็ตาม ในช่วงราชวงศ์ชิงและช่วงปี 1960 ชามไก่กลายเป็นเครื่องใช้ทั่วไปสำหรับชนชั้นกลางและชั้นล่าง 

ในช่วงปลายราชวงศ์ชิงและยุคสาธารณรัฐจีนตอนต้น ชามไก่ผลิตขึ้นนมณฑลเจียงซี แต่ต้นทุนการผลิตสูงและไม่สามารถแข่งขันกับเครื่องเคลือบดินเผาราคาถูกจากต่างประเทศได้ ดังนั้นการผลิตจึงหยุดลงชั่วขณะ ต่อมา มีการดำเนินการผลิตชามไก่ที่เฉาซ่าน หรือบริเวณถิ่นของคนแต้จิ๋วในมณฑลกวางตุ้ง และชามไก่ก็กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง และยังส่งออกไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกง เช่น ในประเทศไทยมีการผลิตชามตราไก่ที่ลำปาง จนกล่าวกันว่าในช่วงปี 1960 ทุกครัวเรือนจะมีชามไก่หนึ่งใบ

สำหรับที่ฮ่องกงมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย แต่ในจีนความนิยมเพิ่มกลับมาอีกครั้ง เมื่อปี 2013 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายหนึ่งได้โพสต์ภาพชุดหนึ่งบน Weibo ซึ่งเป็นภาพจากละครของ TVB แห่งฮ่องกง หลายๆ เรื่อง แต่ทั้งหมดมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือชามไก่ถูกใช้ตลอดเวลา ละครทีวีเรื่องแรกคือ "มังกรหยก" 《射鵰英雄傳》 ในปี 1983 และเรื่องล่าสุดคือ "ขันทีผู้ยิ่งใหญ่" 《大太監》 ซึ่งเป็นละครฉลองครบรอบของ TVB ในปี 2012 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังยกย่องชามไก่ว่าเป็น "อุปกรณ์ประกอบฉากอันวิเศษ" โดยกล่าวว่าชามไก่มีคุณภาพดีเยี่ยมจนสามารถใช้งานได้นานหลายทศวรรษโดยไม่เสียหาย สื่อในประเทศยังรายงานเกี่ยวกับชามไก่ดังกล่าวด้วย ต่อมา ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายหนึ่งได้เสริมว่าชามไก่ยังปรากฏในภาพยนตร์ของโจวซิงฉือถึงแปดเรื่องอีกด้วย

สำหรับเรื่องนี้ ผู้ผลิตและผู้จัดการการผลิตละครของ TVB คือ จวงเหว่ยเจี้ยน (莊偉建) อธิบายในบทสัมภาษณ์ปี 2014 กับ "หนานหนิงหว่านเป้า" (南寧晚報) สื่อของจีน ว่า "ชามไก่เป็นที่นิยมมากในฮ่องกงในช่วงทศวรรษ 1960 […] เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปและยังมีความทรงจำร่วมกันมากมาย ดังนั้นละครอิงประวัติศาสตร์ของ TVB และละครที่ใช้ฉากยุคสาธารณรัฐยุคแรกๆ ที่ใช้ชามไก่ในบางฉากที่สะท้อนชีวิตคนธรรมดา จึงต้องใช้ชามไก่แน่ๆ แต่ในละครวังไม่ค่อยได้ใช้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว ชามไก่ไม่ใช่ของที่ชนชั้นสูงใช้ เมื่อพูดถึงอุปกรณ์ประกอบฉากของ TVB ผมคิดว่าเหตุผลที่ชามไก่เป็นที่นิยมมากก็เพราะว่ามันมีรูปร่างเรียบง่ายและมีสีสันสดใสสะดุดตา มันดูดีในกล้อง ในขณะที่ชามลายครามสีน้ำเงินและสีขาวจะดูจืดชืดไปสักหน่อย ผมใช้มันในละครที่ฉันสร้างกี่ครั้งแล้ว โอ้โห ผมจำไม่ได้เลย […] แต่ตอนนี้ไม่ค่อยมีการซื้อชามแบบนี้ในตลาดฮ่องกงแล้ว พ่อค้าต้องทำขึ้นมาโดยเฉพาะสำหรับทีมงาน"

สำหรับความนิยมนอกฮ่องกงและจีนรวมถึงไทย ก็ยังมีที่มาเลเซียและสิงคโปร์ เช่น ในเว็บไซต์ Nyonya Cooking ซึ่งเกี่ยวกับการทำอาหารของเปอรานากัน หรือบาบ๋า-ย่าหยา (คือกลุ่มลูกครึ่งมลายู-จีนที่มีวัฒนธรรมผสมผสาน) ระบุว่า "ชามไก่เป็นสัญลักษณ์ของประวัติศาสตร์ของผู้อพยพชาวจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" และบอกว่ามันคือของใช้ประจำบ้านของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างหนึ่ง

"ชาวสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือชาวไทย ชามไก่ที่แผงขายอาหารอาจเป็นภาพที่คุ้นตา ชามไก่ที่ขึ้นชื่อนี้มักใช้เสิร์ฟอาหารทั้งข้าวและก๋วยเตี๋ยว ฉันรู้สึกประหลาดใจมากที่รู้ว่าชามชนิดนี้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฮ่องกงและใช้ในการเสิร์ฟอาหารท้องถิ่นแสนอร่อย แม้ว่าจะไม่ค่อยเป็นที่นิยมเหมือนแต่ก่อน แต่ชามไก่ก็ยังคงใช้เสิร์ฟในศูนย์อาหารและร้านอาหารจีนในปัจจุบัน" 

เว็บไซต์ให้ข้อมูลว่า "ชามไก่ใบแรกมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน โดยทำขึ้นโดยชุมชนชาวฮากกา (จีนแคะ) ในมณฑลกวางตุ้งเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว (หมายถึงยุคที่มีการผลิตในแถบเฉาซ่านอีกครั้ง) แต่แม้ว่าชาวฮากกาจากกวางตุ้งอาจเป็นกลุ่มแรกที่คิดค้นชามไก่ แต่ชุมชนฮากกาจากประเทศไทยเป็นกลุ่มแรกที่ผลิตชามไก่ (ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 พ่อค้าชาวจีนในกรุงเทพฯ จะสั่งชามไก่มาขายเนื่องจากในตอนนั้นชามไก่มีราคาถูกมาก" 

"อย่างไรก็ตาม ในช่วงสงคราม อุปทานเริ่มขาดแคลนและราคาพุ่งสูงขึ้น พอหลังสงครามสิ้นสุดลง ผู้ผลิตในกรุงเทพฯ ได้ผลิตชามเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในไม่ช้าก็กลายมาเป็นเครื่องใช้ที่เป็นที่รู้จักดีเนื่องจากความทนทาน ในปีพ.ศ. 2500 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของโรงงานผลิตชามไก่แห่งใหม่ ที่ตั้งในจังหวัดลำปาง" บทความใน Nyonya Cooking ระบุ

ทำไมต้องเขีนนลายไก่? เว็บไซต์ mill-milk.com ระบุว่า "ทำไมต้องวาดด้วยไก่ ลายมังกรและหงส์เป็นลายเฉพาะของราชสำนัก ส่วนคนทั่วไปจะใช้ไก่แทนคำว่า “บ้าน” 「家」เท่านั้น ในสังคมเกษตรกรรม คนจะทำงานตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก และพักผ่อนตั้งแต่พระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้น การขันของไก่หมายถึงคนต้องตื่นเช้ามาทำงานหนัก ดังนั้น “ชามไก่” 「雞公碗」จึงถูกเรียกว่า “ชามสร้างครอบครัว (ให้มั่นคั่ง)” 「起家碗」 ใบตองที่อยู่ข้างๆ หมายถึง “การสร้างครอบครัวและประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่” และดอกโบตั๋นซึ่งหมายถึงความมั่งคั่ง หมายถึง “ชื่อเสียงและความมั่งคั่ง” จะเห็นได้ว่าในอดีตผู้คนไม่เพียงแต่ชื่นชอบคำว่า “อาหาร” เท่านั้น แต่ยังมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะร่ำรวยอีกด้วย"

Photo credit - Lantingche 

TAGS: #ชามตราไก่