สื่อนอกเชื่อมีความเป็นไปได้สองพรรคต่างขั้ว จับมือตั้งรัฐบาลชุดใหม่หลังเลือกตั้ง
สำนักข่าว DW ของเยอรมนีรายงาน จับตาการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทยซึ่งกำลังจะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ซึ่งเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่หลายฝ่ายจับตาอนาคตการเมืองไทย หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ประเทศไทยต้องเผชิญกับความไม่สงบทางการเมืองและปัญหาทางเศรษฐกิจในหลายด้านตลอดจนความนิยมในตัวพลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่
ขณะที่พรรคขั้วตรงข้ามอย่างพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญของประยุทธ์ ยังคงเป็นพรรคที่มีกระแสความนิยมดีมาอย่างต่อเนื่องจนทำให้หลายฝ่ายเชื่อมั่นว่า พรรคเพื่อไทยอาจเป็นแกนนำสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลไทยชุดต่อไป
แต่อย่างไรก็ตาม Ken Mathis Lohatepanont นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนกล่าวกับ DW ว่าผลการเลือกตั้งไทยในกลางปีนี้ เราอาจได้เห็นการจัดตั้งรัฐบาลผ่านแนวรวมของสองพรรคที่เคยเป็นขั้วตรงข้ามกัน
“มีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่เคยเป็นปฏิปักษ์กัน เช่น พลังประชารัฐ และเพื่อไทย จะรวมตัวกันเป็นรัฐบาลได้”
“พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้นำพรรคพลังประชาชนได้พยายามเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในที่อาจสร้างข้อตกลงดังกล่าวกับพรรคฝ่ายค้าน”
ฌอน บุญประคอง อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติไทย กล่าวต่อสื่อเยอรมนีว่า ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะไปทางไหน
“เรามีเวลา 60 วัน หลายสิ่งสามารถเกิดขึ้นได้ คนไทยกังวลที่จะลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้”
เขาเสริมว่าแบบสำรวจแสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งคาดว่าจะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดในปี 2562
ประเด็นเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญทางการเมืองเนื่องจากประเทศต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นและหนี้ครัวเรือนที่สูงอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้กระตุ้นให้บรรดาพรรคการเมืองต่างชูนโยบายหาเสียง ชูเรื่องการเพิ่มค่าจ้างที่สูงขึ้น งานที่ดีขึ้น และเงินอุดหนุนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการหาเสียงเลือกตั้งของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจในราชอาณาจักรในปี 2565 อยู่ที่ 2.8% เท่านั้น และการคาดการณ์ในปี 2566 แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจะเจอปีที่ชะลอตัวอีกปีหนึ่ง ตามรายงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)