เบื้องหลังความขัดแย้ง
อิหร่าน–อิสราเอล แสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์โดยตรงมาหลายสิบปี แต่ทั้งสองมักจะไม่เผชิญหน้ากันด้วยอาวุธโดยตรง แต่จะปะทะกันผ่านสงครามตัวแทน หรือที่รู้จักกันในชื่อ "สงครามตัวแทนอิหร่าน–อิสราเอล" หรือ "สงครามเย็นอิหร่าน–อิสราเอล" ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างอิหร่านและอิสราเอล
ฝ่ายที่ใช้ตัวแทนในการเผชิญหน้ามากกว่าคืออิหร่าน เช่น ในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล–เลบานอน อิหร่านได้สนับสนุนกองกำลังติดอาวุธมุสลิมนิกายชีอะห์ของเลบานอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ และในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ อิหร่านได้ให้การสนับสนุนกลุ่มปาเลสไตน์ เช่น กลุ่มฮามาส
ในขณะที่อิสราเอลสนับสนุนกลุ่มกบฏอิหร่าน เช่น มุญาฮิดีนประชาชนอิหร่าน ทำการโจมตีทางอากาศต่อพันธมิตรอิหร่านในซีเรีย และลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ชาวอิหร่าน ในปี 2018 กองกำลังอิสราเอลโจมตีกองกำลังอิหร่านในซีเรียโดยตรง โดยมีซีเรียเป็นสมรภูมิตัวแทนของทั้งสอง
แต่แล้วก็เป็นเหตุให้ทั้งสองฝ่ายโจมตีกันโดยตรงในที่สุด เมื่ออิสราเอลโจมตีสถานกงสุลของอิหร่านในกรุงดามัสกัสของซีเรียเมื่องวันที่ 1 เมษายน จนทำให้อิหร่านตอบโต้ด้วยการถล่มอิสราเอลด้วยโดรนและขีปนาวุธต่ออิสราเอลโดยตรงเมื่อวันที่ 13 เมษายน
ดังนั้น จึงต้องจับตาว่าสงครามตัวแทนระหว่างทั้งสองจะกลายเป็นสงครามตัวจริงหรือไม่ เพราะทั้งคู่ไม่ใช้ตัวแทนในการเผชิญหน้าอีกต่อไป และเพื่อที่จะเข้าใจสถานการณ์ที่อาจจะตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ เราจะมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า อิหร่านและอิสราเอลมีผู้สนับสนุนและผู้ช่วยรบที่เป็นใครกันบ้าง
ฝ่ายอิหร่าน
ฮิซบุลลอฮ์ (Hezbollah) เป็นองค์กรและพรรคการเมืองของชาวมุสลิมชีอะฮ์ในเลบานอน ซึ่งมีกองทัพของตนเอง มีจุดประสงค์เพื่อขับไล่กองกำลังป้องกันอิสราเอลที่ยึดครองเลบานอน ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านและเป็นพันธมิตรโดยตรงของอิหร่าน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ทำหน้าที่ตัวแทนของอิหร่านในการโจมตีอิสราเอล
ฮามาส (Hamas) แม้ว่าจะเป็นมุสลิมซุนนี แต่เพราะมีศัตรูร่วมกับอิหร่าน นั่นคืออิสราเอล ทำให้ฮามาสกลายเป็นพันธมิตรและเป็นผู้ทำสงครามตัวแทนให้อิหร่าน แต่เนื่องจากเป็นฝ่ายซุนนี บางครั้งฮามาสตัดความสัมพันธ์กับอิหร่านในบางครั้งเพราะมีความขัดแย้งกัน แล้วก็หันมาจับมือกันเมื่อโอกาสอำนวย เช่น ในเวลานี้ ทั้งสองฝ่ายเพิ่งร่วมมือกันอีกครั้งในปี 2017
ภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) เช่นเดียวกับฮามาส กลุ่มนี้เป็นมุสลิมซุนนี แม้ว่าจะเคลื่อนไหวในทางการเมืองและนำโดยนักคิดทางศาสนาแต่ก็มีกลุ่มติดอาวุธ หรือ "สายเหยี่ยว" ในขบวนการ และกลุ่มนี้จับมือกับอิหร่านในปี 2013
ฮูษี (Houthi) กลุ่มมุสลิมชีอะฮ์ในเยเมน มีเป้าหมายเป็นสัตรูกัยสหรัฐฯ อิสราเอล และชาติตะวันตก ทำสงครามกลางเมืองเยเมนกับฝ่ายมุสลิมซุนนีโดยได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ล่าสุด ดำเนินการโจมตีเรือของอิสราเอลและชาติตะวันตกที่แล่นผ่านทะเลแดงโดยใช้โดรนที่ผลิตโดยอิหร่าน จนทำให้ระบบการเดินเรือสินค้าของโลกได้รับผลกระทบ
กองกำลังระดมพลประชาชน (PMF) กลุ่มมุสลิมชีอะฮ์ในอิรัก ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ก่อนหน้านี้ต่อสู้กับการรุกรานและการยึดครองอิรักโดยสหรัฐฯ และกองกำลังพันธมิตร ต่อมาต่อสู่กับกลุ่มรัฐอิสลาม และกลุ่มติดอาวุธมุสลิมซุนนีกลุ่มอื่นๆ
กองกำลังป้องกันชาติ (NDF) เป็นกลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุนรัฐบาลซีเรีย ซึ่งเป็นฝ่ายที่อิหร่านให้การสนับสนุนในการทำสงครามกลางเมืองซีเรีย โดยกลุ่มนี้ได้รับการชี้นำโดยกองกำลังโกดส์ของอิหร่าน ซึ่งเป็นหน่วยหนึ่งในกองพิทักษ์ปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน และมีความเชี่ยวชาญด้านการสงครามนอกแบบ
กองพันอัลมุกตาร์ (Al-Mukhtar Brigades) กลุ่มติดอาวุธมุสลิมชีอะห์ในบาห์เรน เคลื่อนไหวเพื่อโค่นล้มผู้ปกครองประเทศในปัจจุบันซึ่งเป็นมุสลิมซุนนี และเอนเอียงไปทางชาติตะวันตก และนำประเทศไปรวมกับอิหร่านซึ่งเป็นผู้นำมุสลิมชีอะห์
ประเทศที่สนับสนุนอิหร่าน ได้แก่ ซีเรีย, เลบานอน, เกาหลีเหนือ, เวเนซุเอลา และรัสเซีย แต่การสนับสนุนต่อิหร่านไม่ได้หมายความว่าประเทศเหล่านี้จะเข้าร่วมในความขัดแย้งของอิหร่านกับอิสราเอลด้วย เพียงแต่แสดงจุดยืนสนับสนุนทางการเมือง
ฝ่ายอิสราเอล
มุญาฮิดีนประชาชนอิหร่าน (MEK) เป็นองค์กรสังคมนิยมอิสลาม และเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอิหร่าน กลุ่มนี้มีอุดมการณ์แยกศาสนาออกจากการเมือง จึงเป็นศัตรูกับรัฐบาลปัจจุบันที่ใช้ศาสนานำการเมือง เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ซึ่งให้สัมภาษณ์กับ NBC News โดยไม่เปิดเผยชื่อ ระบุว่า MEK "ได้รับทุน ฝึกฝน และติดอาวุธโดยหน่วยสืบราชการลับของอิสราเอล" เพื่อลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ชาวอิหร่าน
สภาต่อต้านแห่งชาติของอิหร่าน (NCRI) เป็นสายหนึ่งของ MEK เป้าหมายเพื่อโค่นล้มรัฐบาลอิหร่าน โปรดสังเกตว่ากลุ่มนี้เคยถูกระบุว่าเป็นองค์กรก่อการร้ายต่างประเทศในปี 1997 แต่ถูกลบชื่อออกจากรายการผู้ก่อการร้าายในปี 2012 โดยรัฐบาลสหรัฐฯ
พรรคประชาธิปัตย์แห่งเคอร์ดิสถานอิหร่าน (PDKI) เป็นพรรคชาติพันธุ์ฝ่ายซ้ายติดอาวุธของชาวเคิร์ดในอิหร่าน กลุ่มนี้เรียกร้องให้ชาวเคิร์ดในอิหร่านกำหนดสถานะทางการเมืองของตัวเองได้อย่างอิสระ และอาจรวมถึงการแบ่งแยกดินแดน
ขบบวนการปกครองตนเองของซีเรียเหนือและตะวันออก (AANES) เป็นเขตปกครองอิสระในสงครามกลางเมืองซีเรีย เป็นเขตปกครองตนเองของกลุ่มที่แยกตัวจากการปกครองของรัฐบาลซีเรีย โดยมีประชากรส่วนสำคัญเป็นชาวเคิร์ด จากการรายงานของ Reuters ระบุว่า อิสราเอลให้ความช่วยเหลือชาวเคิร์ดในซีเรียจากการรุกรานของตุรกี และช่วยเพราะกลุ่มนี้จะช่วยขัดขวางอิหร่าน และอิสราเอลยังสนับสนุนพวกเขาในการเจรจากับสหรัฐฯ
สรุป อิสราเอลสนับสนุนชาวเคิร์ดเพื่อก่อกวนอิหร่าน - นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู ประกาศสนับสนุนเอกราชของชาวเคิร์ด ผู้นำอิหร่านก็กล่าวหาว่าอิสราเอลโดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ โดบมีเป้าหมายที่จะสร้าง "รัฐลูกน้อง" ทางตอนเหนือของอิรักเพื่อต่อต้านอิหร่านและพันธมิตรชีอะฮ์ คือ ซีเรีย เลบานอน อิรัก (บางส่วน) และเยเมน และผู้นำของพันธมิตชีอะฮ์บางคนกล่าวหาว่าอิสราเอลบต้องการที่จะสร้าง "รัฐอิสราเอลแห่งที่สอง" ในดินแดนของชีอะห์ เช่น ในอิรัก เพื่อที่จะบ่อนทำลายพันธมิตร
ประเทศที่สนับสนุนอิสราเอล ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ ประเทศเหล่านี้ไม่ใช่แค่แสดงท่าทีช่วยเหลืออิสราเอล แต่ยังลงมือช่วยอย่างรูปธรรม เช่น การโจมตีล่าสุดของอิหร่านต่ออิสราเอล ประธานาธิบดี โจ ไบเดนแห่งสหรัฐ กล่าวว่า “ตามคำแนะนำของผม เพื่อสนับสนุนการป้องกันอิสราเอล กองทัพสหรัฐฯ ได้เคลื่อนย้ายเครื่องบินและเรือพิฆาตป้องกันขีปนาวุธไปยังภูมิภาคในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องขอบคุณการจัดวางกำลังเหล่านี้และทักษะพิเศษของสมาชิกทหารของเรา เราจึงช่วยอิสราเอลกำจัดโดรนและขีปนาวุธที่เข้ามาเกือบทั้งหมดได้”
ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, อาเซอร์ไบจาน, บาห์เรน (ตั้งแต่ 2020) และอียิปต์ แม้ว่าจะเป็นประเทศมุสลิม แต่ก็อยู่ข้างอิสราเอลมานาน (ยกเว้นบาห์เรน) นอกจากนี้ยังมีจอร์แดน ซึ่งถูกอิหร่านเตือนว่า อย่าได้ให้การสนับสนุนอิสราเอล
Photo - ชาวอิหร่านถือแบบจำลองกระสุนปืนในขณะที่คนอื่นๆ รวมตัวกันที่จัตุรัสปาเลสไตน์ในกรุงเตหะรานเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2567 หลังจากที่อิหร่านส่งโดรนและขีปนาวุธโจมตีอิสราเอล หน่วยพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่านยืนยันเมื่อเช้าวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2567 ว่ามีการใช้โดรนและขีปนาวุธโจมตีอิสราเอลเพื่อตอบโต้เหตุโจมตีสถานกงสุลอิหร่านในกรุงดามัสกัสด้วยโดรนซึ่งมีผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 เมษายน (ภาพโดย ATTA KENARE / AFP)