ฉากแรกของเรื่อง 3 Body Problem ซีรีส์ล่าสุดของ Netflix ที่สร้างจากนิยายวิทยาศาตร์ของจีนที่มีชื่อเสียงเลื่องลืออย่างมาก คือ The Three-Body Problem หรือ 'ซานถี่' (三体) ผลงานของนักเขียนจีน หลิวฉือซิน เนื้อหารวมๆ เกี่ยวกับความน่าพิศวงทางฟิสิกส์และราดราศาสตร์รวมถึงคำถามเรื่องสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในจักรวาล
ในซีรีส์เริ่มต้นคล้ายกับนิยาย นั่นคือเปิดฉากที่ 'การปฏิวัติวัฒนธรรม' (Cultural Revolution) หรือในชื่อภาษาจีนว่า 'การปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรม' (文化大革命) ตัวเอกของเรื่อง คือ เย่เหวินเจี๋ย ซึ่งสำเร็จการศึกษาด้านดาราศาสตร์ฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยชิงหัว ต้องเห็นพ่อของเธอถูกทุบตีจนตายต่อหน้าต่อตา จากน้ำมือของพวก 'ยุวชนแดง' หรือ Red Guard จากโรงเรียนมัธยมชิงหัว ซึ่งตั้งเวทีวิพากษ์วิจารณ์ปัญญาชนและนักวิชาการในมหาวิทยาลัยทีละคนว่าเป็นศัตรูของการปฏิวัติหรือไม่ พ่อของ เย่เหวินเจี๋ย ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ ไม่ยอมรับการใส่ความว่าเขามีความคิดโน้มเอียงเข้าข้างอเมริกา จึงถูกทุบตีจนตายคาเวทีวิพากษ์ ส่วน เย่เหวินเจี๋ย ถูกส่งตัวไปใช้แรงงานในเขตมองโกเลียบใน ในฐานะศัตรูของการปฏิวัติเช่นกัน
นี่คือฉากแรกของเรื่องนี้ และอาจทำให้หลายคนไม่เข้าใจว่าทำไม เย่เหวินเจี๋ยและพ่อของเธอถึงถูกตราหน้าว่าเป็นศัตรูของการปฏิวัติ จนกระทั่งถูกทำร้ายจนตายและคนที่รอดชีวิตถูกส่งตัวไปทำงานเป็นแรงงาน แทนที่จะได้ทำงานเป็นดาราศาสตร์ฟิสิกส์?
ก่อนอื่นต้องเข้าใจการปฏิวัติวัฒนธรรมก่อน ถึงจะเข้าใจเบื้องหลังความคับแค้นของ เย่เหวินเจี๋ย
ความผิดพลาดก่อนหายนะ
'การปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรม' เป็นช่วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์ยุคใหม่หลังจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ในปี 1949 หลังจากนั้นจีนมีนโยบาย 'การปฏิวัติ' หลายอย่างเพื่อสร้างสังคมคอมมิวนิสต์ เช่น การกวาดล้างผู้ที่มีความคิดฝ่ายขวาในทศวรรษที่ 1950 (เช่น เจ้าที่ดิน กลุ่มการเมืองเก่า ผู้นำศาสนา และปัญญาชนที่คิดไม่ตรงกับฝ่ายซ้าย)
หลังจากจัดการบ้านเมืองให้ปลอดจากฝ่ายตรงแล้ว เหมาเจ๋อตง ผู้นำสูงสุดของจีนต้องการผลักดันให้จีนเป็นประเทศอุตสาหกรรมในเร็ววัน จึงผลักดันนโยบายเศรษฐกิจที่สุดโต่ง คือ 'การก้าวกระโดดใหญ่' (大跃进 หรือ Great Leap Forward) ระหว่างปี 1958 - 1962 ซึ่งผลักดันให้ประชาชนไปทำงานเป็นกสิกรในชุมชน ทำนาทำไร่ร่วมกัน กินและใช้สิ่งของร่วมกัน เพื่อสร้างสังคม 'คอมมูนิสต์' คือประชาชนที่อยู่กันเป็นชุมชน (คอมมูน) ที่ไม่มีทรัพย์สินส่วนบุคคลและทำการผลิตเพื่อส่วนรวมไม่ใช่เพื่อส่วนตน
ในระยะแรก 'การก้าวกระโดดใหญ่' ให้ผลทางกสิกรรมค่อนข้างดี ทำให้ประชาชนมีกินถ้วนหน้า แต่ในระยะต่อมา เหมาเจ๋อตง สั่งการผิดพลาดในหลายๆ เรื่อง เช่น การสั่งให้ประชาชนต้องหลอมโลหะใช้เอง โดยเอาของใช้ในบ้านมาหลอมทำวัสดุโลหะอุตสาหกรรม เพื่อให้จีนเป็นประเทศอุตสาหกรรมหนัก โดยที่เทคโนโลยียังไม่ถึง ผลก็คือของที่ผลิตได้ไร้ค่า และการเกษตรก็ล้มเหลว เพราะผู้คนมัวแต่ทำตามท่านผู้นำในการหลอมโลหะกันทั้งบ้านทั้งเมือง
สั่งให้ฆ่านกกระจอกทั่วประเทศเพราะเห็นว่าเป็นภัยต่อพืชผล โดยเห็นว่านกมักจะมากินธัญญาหารที่ตนปลูกไว้ ทำให้คนจีนทั่วประเทศร่วมใจกันฆ่านกกระจอกจนเกือบสูญพันธุ์ แต่มันทำให้ห่วงโซ่อาหารพังทลาย เพราะเมื่อนกกระจอกหมดไป แมลงศัตรูพืชก็เพิ่มประชากรอย่างรวดเร็ว ผลก็คือทำให้เกิด 'ภาวะอดอยากครั้งใหญ่สามปี' (三年大饥荒) จนถึงปี 1962 มีคนอดอยากล้มตายถึง 15–55 ล้านคน
ความผิดพลาดของ เหมาเจ๋อตง ทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์จากพรรคคอมมิวนิสต์จีนและทำให้เขาต้องหลบฉากไปจากการเป็นผู้มีอำนาจของพรรค โดยเก็บตัวเหมือนปลดเกษียณจากหน้าที่ทางการเมืองแล้ว แล้วปล่อยให้ 'ฝ่ายตรงข้าม' ในพรรคฯ คือ หลิวซ่าวฉี และเติ้งเสี่ยวผิง ขึ้นมาบริหารพรรคแทน
พายุร้ายหายนะปรากฏตัว
แต่ เหมาเจ๋อตง ได้โอกาสหวนคือสู่อำนาจ เขาร่วมมือกับอีกกลุ่มอำนาจในพรรคฯ คือ 'กลุ่มปฏิวัติวัฒนธรรม' เรียกร้องให้มีการดำเนินการปฏิวัติวัฒนธรรมในปี 1965 เพื่อกวาดล้างชนชั้นนายทุนที่แทรกซึมเข้ามาในพรรคฯ เป้าหมายของเขาคือโจมตีผ่านตรงข้ามในพรรค ซึ่งเขาและพรรคพวกกล่าวหาว่าเป็น 'พวกลัทธิแก้' (นั่นคือแก้ไขลัทธิคอมมิวนิสต์ให้เป็นทุนนิยม) 'ฝ่ายปฏิกริยา' (คือปฏิกริยาต่อต้านการปฏิวัติ) และ 'พวกนายทุนซ่อนรูป' คนที่ตกเป็นเป้าการกล่าวหานี้คือ หลิวซ่าวฉี และเติ้งเสี่ยวผิง
ในเดือนมิถุนายน ปี 1966 เฉินปั๋วต๋า นักวิชาการฝ่ายของ เหมาเจ๋อตง เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ประชาชนรายวัน (人民日报 หรือ People's Daily) เรียกร้องให้มีการทำลาย 'สี่เก่า' (四旧) คือ แนวคิดเก่า วัฒนธรรมเก่า ประเพณีเก่า และนิสัยเก่า ข้อเขียนนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการเคลื่อนไหวไปทั่วประเทศเพื่อทำลายวัฒนธรรมเก่า ทำให้โบราณสถานมากมายถูกทำลาย นักบวชในศาสนาต่างๆ ถูกทำร้ายและสั่งให้ไปใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป มีการทำร้ายปัญญาชนมากมาย ที่สอนวิชาที่ไม่เกี่ยวกับสังคมนิยม แม้แต่วิชาการที่เกี่ยวข้องกับวัตถุนิยม (ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของลัทธิคอมมิวนิสต์) เช่น นักวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ก็ถูกทำร้าย และถูกจับตัวมาประจานความผิดที่พวกเขาไมได้ก่อ
ต่อมาในเดือนสิงหาคม ปี 1966 เหมาเจ๋อตง ก็เดินเกมส์รุกครั้งใหญ่ โดยเขียนบทความสั้นเพื่อปลุกระดมให้ประชาชน (ส่วนใหญ่เป็นยุวชนที่กำลังเลือดร้อนและคลั่งในการปฏิวัติ) 'โจมตีศูนย์บัญชาการ' (炮打司令部) ซึงหมายถึงศูนย์กลางบริหารประเทศที่นำโดยประธานาธิบดี หลิวซ่าวฉี และ เติ้งเสี่ยวผิง ทำให้เกิดเรื่องไม่น่าเชื่อคือ หลิวซ่าฉี ซึ่งเป็นประธานาธิบดีถูกพวกยุวชนแดงลากตัวออกมาประจานความผิดในฐานะ 'ศัตรูของชนชั้น' เขาถูกทารุณต่อเนื่อง และถูกนำตัวไปกักไว้ในเรือนจำ จนกระทั่งเสียชีวิตอย่างน่าอนาถ ในขณะที่ เติ้วเสี่ยวผิง ถูกปฏิบัติอย่างเลวร้ายเช่นกัน เพียงแต่เขารอดชีวิตมาได้
ในเดือนสิงหาคมนั้นเอง เหมาเจ๋อตง กลับมามีอำนาจอีกครั้งเพราะการรณรงค์ 'เดือนแปดสีแดง' (红八月) นั่นคือการปลุกเร้าให้ประชาขนดำเนินการปฏิวัติวัฒนธรรรมครั้งใหญ่เพื่อเปลี่ยนประเทศให้เป็น 'จีนแดง' ที่แท้จริง ในขณะที่ประชาชนมุ่งหน้าทำลายสี่เก่าตามคำแนะนำของท่านผู้นำ ท่านผู้นำก็ใช้ฐานประชาชนทั่วประเทศที่เขาเพิ่งปลุกระดมขึ้นมา ทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองที่เคยทำให้เขาต้องหมดอำนาจไป นี่คือความจริงที่เกิดขึ้นในการปฏิวัติวัฒนธรรม นั่นคือ มีเจตนาแอบแฝงเพื่อแย่งชิงอำนาจกันในพรรคคอมมิวนิสต์จีน
นักวิทยาศาสตร์ไปเกี่ยวอะไรด้วย?
ในเรื่อง 'ซานถี่' มีฉากที่นักวิทยาศาสรตร์ถูกลากตัวมาประจานความผิดและทำร้าย แต่คำถามก็คือ ทำไมต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์? ในเมื่อพวกเขาไม่เข้าข่ายเป็นสี่เก่า ทั้งยังเป็นตัวแทนของความคิดสมัยใหม่ที่ก้าวหน้า สอดคล้องกับแนวคิดวัตถุนิยมของคอมมิวนิสต์ที่ไม่เชื่อในพระเจ้าใดๆ แต่เชื่อมั่นในการพิสูจน์ทางวิทยาสตร์ ทำไม?
คำตอบก็คือ นักวิทยาศาสตร์หลายคนถูกทำร้ายในช่วงปฏิวัติวัฒนรรม ไม่ใช่เพราะพวกเขามีแนวคิดเป็นศัตรูทางชนชั้น แต่เพราะพวกเขาเป็นเหยื่อการชิงอำนาจทางการเมือง แล้วถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าหลักการทางวิทยาศาสตร์ของพวกเขาเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายต่อการปฏิวัติ เช่นเดียวกับ คนอาชีพอื่นๆ อีกหลายคนที่ไม่ถูกเล่นงานเพราะเป็นสี่เก่า แต่เพราะถูกยัดข้อหาว่าเป็นศัตรูการปฏิวัติ เพียงแค่เป็นกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม
ตัวอย่างของนักวิทยาศาสตร์ที่ถูกทำร้ายในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม คือ เหยาถงปิน (姚桐斌) นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรขีปนาวุธชั้นแนวหน้าคนหนึ่งของจีน ถูกทุบตีจนเสียชีวิตระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรมในปี 1968 สาเหตุก็เพราะการแย่งชิงอำนาจกันในหมู่นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำในพรรคอมมิวนิสต์ คือ กลุ่ม 915 และกลุ่ม 916 ที่ไม่กินเส้นกัน
ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นใน 'กระทรวงการสร้างเครื่องจักรแห่งที่ 7' (第七机械工业部) ซึ่งเป็นกระทรวงของรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 1964 โดยสภาแห่งรัฐเพื่อดูแลอุตสาหกรรมอวกาศ เรียกสั้นๆ ว่า 'กระทรวงที่ 7'
กลุ่ม 915 ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารและคนใช้แรงงานงานเป็นส่วนใหญ่ กลุ่มนี้ถูกเรียกว่าเป็นฝ่าย 'อนุรักษ์นิยม' ส่วนกลุ่ม 916 นั้นประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และช่างเทคนิคเป็นหลัก และถูกมองว่าเป็นฝ่าย "ลุกฮือ" หรือพวกเจ่าฟ่าน (造反派) ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มที่สนับสนุนการปฏิวัติวัฒนธรรมแบบสุดโต่ง
ในไม่ช้าความแตกต่างทางความคิดเห็นระหว่างทั้งสองฝ่ายก็ทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นสงคราม จากนั้นไปทั่วทั้งกระทรวงที่ 7 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 1968 เหยาถงปิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม 916 ถูกสมาชิกกลุ่ม 915 ทุบตีจนเสียชีวิตที่บ้านของเขาเอง
นอกจาก เหยาถิงปิน ยังมีนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคนต้องเสียชีวิตเพราะความบ้าคลั่งในครั้งนั้น เช่น จ้าวจิ่วจาง (赵九章) นักอุตุนิยมวิทยาและนักฟิสิกส์ เขาเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีอวกาศของจีน และถือเป็นบิดาผู้ก่อตั้งโครงการดาวเทียมของจีน แต่ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม เขาถูกพวกเจ่าฟ่านข่มเหงและฆ่าตัวตายด้วยการกินยานอนหลับเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 1968
สยงชิ่งไหล (熊庆来) เขาเป็นคนแรกที่แนะนำคณิตศาสตร์สมัยใหม่มาเผยแพร่ในจีน และดำรงตำแหน่งประธานผู้มีอิทธิพลของมหาวิทยาลัยยูนนานตั้งแต่ปี 1937 ถึง 1947 แต่เขาถูกตราหน้าว่าเป็น "ปฏิกิริยาต่อต้านอำนาจทางวิชาการ" ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม และถูกประหารชีวิตในปี 1969 ขณะอายุ 76 ปี
เฉียนซานเฉียง (钱三强) นักฟิสิกส์นิวเคลียร์และเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโครงการ 'สองระเบิด หนึ่งดาวเทียม' อันเป็นการวางรากฐานความเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์และอวกาศของจีน เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมนิวเคลียร์และโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของจีน เขาจึงได้รับการขนานนามว่าเป็น "บิดาแห่งระเบิดปรมาณูของจีน" แม้ว่าจะทำคุณปประโยชน์ให้ประเทศชาติ แต่ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม เขาถูกส่งตัวไปยังชนบทเพื่อ "รับการศึกษาใหม่แบบสังคมนิยม" เพื่อเรียนรู้จากความยากลำบากของกสิกรในชนบท เพียง 3 วันหลังจากจีนประสบความสำเร็จในการทำลองระเบิดนิวเคลียร์ของจีน
เย่ฉี่ซุน (叶企孙) หนึ่งในผู้สถาปนาวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ในประเทศจีน ในปี 1967 Ye Qisun ถูกสำนักงานทั่วไปของคณะกรรมาธิการทหารจับกุมในข้อหา "สายของกลุ่มอำนาจก๊กมินตั๋ง" (CC特務) ในระหว่างที่เขาถูกคุมขัง เย่ฉี่ซุน ได้รับความทรมานทางร่างกายและความอัปยศส่วนตัว เนื่องจากกลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้ เครื่องนอนจึงชื้นตลอดทั้งวัน และไม่ค่อยเปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด เขาจึงนั่งทั้งวันทั้งคืน ทำให้ขาบวมและผิวหนังกลายเป็นสีดำและแข็ง เขาถูกควบคุมตัวเอาไว้จนกระทั่งสิ้นสุดการปฏิวัติวัฒนธรรม และรอดชีวิตมาถึงปี 1977
หลังพายุสงบ
การปฏิวัติวัฒนธรรมสิ้นสุดลงพร้อมกับความตายของ เหมาเจ๋อตง ความบ้าคลั่งกินเวลาระหว่าง 16 พฤษภาคม 1966 – 6 ตุลาคม 1976 หรือ 10 ปี 143 วัน หลังจากนั้น ฝ่ายบริหารของพรรคอมมิวนิสต์ทำการกวาดล้างพวกหัวรุนแรงในพรรค เช่น 'พวกแก๊งสี่คน' และกลุ่มอำนาจต่างๆ ที่โหนเหมาเจ๋อตงเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ผู้ที่กลับมามีอำนาจอีกครั้ง คือ เติ่งเสี่ยวผิง ทำการปฏิรูปครั้งใหญ่ในเวลาต่อมา และเปิดประเทศจีน ดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่น จนกระทั่งจีนมั่นคงดังในทุกวันนี้
สำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่ถูกทำร้ายถึงตายและไม่ตาย ต่างก็ได้รับการ 'ฟื้นฟู' สถานะเดิม และชื่อเสียงที่ถูกย่ำยีไป บางกรณีมีการนำตัวคนทำร้ายมาลงโทษ เช่น กรณีของ เหยาถิงปิน หลังการปฏิวัติวัฒนธรรมสิ้นสุดลง เขาได้รับการยกย่องอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง ส่วนผู้กระทำความผิดทั้งสองคนที่ทำร้ายเขา ถูกตัดสินจำคุกในปี 1979 ให้จำคุก 15 ปีและ 12 ปีในข้อหาฆาตกรรม
รายงานพิเศษโดย ทีมข่าวต่างประเทศ The Better
Photo - 3 Body Problem/Netflix