Hyperloop ยังไม่ตาย เนเธอร์แลนด์สร้างรางทดสอบที่ยาวที่สุดในยุโรป

Hyperloop ยังไม่ตาย เนเธอร์แลนด์สร้างรางทดสอบที่ยาวที่สุดในยุโรป

'ศูนย์ไฮเปอร์ลูปยุโรป' หรือ European Hyperloop Center (EHC) ประกาศความสำเร็จในการสร้างระบบการทดสอบไฮเปอร์ลูป และเปิดให้ทำการทดสอบครั้งแรก โดยประกอบด้วยอุโมงค์หรือหลอกทดลองไฮเปอร์ลูปยาว 420 เมตร สามารถสาธิตเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปที่จำเป็นทั้งหมดได้ รวมถึงสวิตช์เลนเต็มที่

บริษัท Hardt Hyperloop ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มนวัตกรรมชั้นนำในสาขานี้ เตรียมเริ่มการทดสอบครั้งแรกในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

โครงสร้างพื้นฐานการทดสอบที่ EHC ได้รับการออกแบบมาเพื่อจำลองสภาวะที่จะมีการใช้งานจริง การรวมเปลี่ยนเลนแบบเต็มที่ (full lane switch) เป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นเป็นพิเศษ ซึ่งจำเป็นสำหรับการทำให้เกิดเครือข่ายการสัญจรของไฮเปอร์ลูป

ทั้งนี้ ไฮเปอร์ลูปเป็นระบบขนส่งความเร็วสูงที่ยังเป็นเพียงแนวคิด โดยใช้แคปซูลโดยสารที่รองรับโดยพื้นผิวรับอากาศภายในท่อแรงดันต่ำ โดยใช้แรงขับพลังแม่เหล็ก ซึ่งถ้ามันสามารถพัฒนาได้สำเร็จ จะเป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญของมนุษยชาติในการเดินทางขนส่งที่รวดเร็ว

ในทางทฤษฎี 'พ็อด' หรือห้องผู้โดยสารจะต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 7 ฟุต 4 นิ้ว (2.23 ม.) คาดว่าจะทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 760 ไมล์ต่อชั่วโมง (1,220 กม./ชม.) 

อย่างไรก็ตาม Hyperloop One หนึ่งในผู้พัฒนาเทคโนโลยีนี้ที่มีชื่อเสียงและได้รับทุนสนับสนุนดีที่สุดได้ประกาศล้มละลายและหยุดดำเนินการในปี 2023 แม้ว่าบริษัทอื่นๆ ยังคงดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปต่อไป แต่การปิดตัวลงของ Hyperloop One ทำให้สังคมเริ่มตั้งคำถามว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็นไปได้หรือไม่

แต่ล่าสุด ยุโรปยังไม่ยอมทิ้งความฝันง่ายๆ โดชี้ว่า ตอนนี้มีความก้าวหน้าทางเทคนิคของไฮเปอร์ลูปมากขึ้น ตลาดไฮเปอร์ลูปจึงมีแรงดึงดูดจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น ในอิตาลี มีการศึกษาความเป็นไปได้ของเส้นทางนำร่องไฮเปอร์ลูปซึ่งเพิ่งเริ่มต้นขึ้น คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอให้รวมไฮเปอร์ลูปไว้ในนโยบาย TEN-T โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภายุโรป นโยบายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิกยุโรป ส่วนนอกยุโรป ยังมีอินเดียกำลังเตรียมพร้อมที่จะเริ่มโครงการนำร่องไฮเปอร์ลูปในปี 2569 ในระดับทวีป

มารินุส ฟาน เดอร์ ไมยส์ (Marinus van der Meijs) ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมของ Hardt Hyperloop แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทดสอบที่กำลังจะมีขึ้นว่า "โครงสร้างพื้นฐานของ European Hyperloop Center เป็นพื้นที่ที่สมบูรณ์แบบสำหรับเราในการตรวจสอบและพัฒนาเทคโนโลยีของเรา โครงสร้างพื้นฐานนี้ช่วยให้เราสามารถสาธิตเทคโนโลยีที่จำเป็น เช่น การลอยด้วยพลังแม่เหล็ก การขับเคลื่อน การทรงตัว และแม้กระทั่งการเปลี่ยนเลน ที่ความเร็วสูงสุด 100 กม./ชม.”

EHC ระบุว่าไฮเปอร์ลูปมีประโยชน์ในอนาคตแน่นอน มูลค่าโครงสร้างพื้นฐานคาดว่าจะถูกกว่าเมื่อเทียบกับรถไฟความเร็วสูง การบูรณาการเชิงพื้นที่ของไฮเปอร์ลูปถือว่าง่ายกว่าเมื่อเทียบกับโครงสร้างพื้นฐานประเภทอื่น 

และสุดท้าย การใช้พลังงานของการเดินทางด้วยไฮเปอร์ลูปคาดว่าจะน้อยกว่าการเดินทางโดยรถยนต์หรือเครื่องบินถึง 10 เท่า ถือเป็นโซลูชั่นประหยัดพลังงานสำหรับความต้องการด้านการขนส่งที่เพิ่มขึ้น
 

TAGS: #Hyperloop